ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม. 18 มกราคม 2548


กรณีเด็กหญิงปิยนุช อากาเป
ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 
มติครม. เมื่อ 18 มกราคม 2548 

กรณีศึกษา น้องนุช: เด็กกำพร้าที่ไร้เอกสารพิสูจน์ตน

                   ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม. เมื่อ 18 มกราคม 2548 เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นถึงสถานะการดำรงชีวิตของกลุ่มคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ซึ่งได้แก่บุคคลที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมแต่ตกสำรวจจากทางราชการและกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจและความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยบางส่วนไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยได้ในระยะยาวและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวควรจะได้รับในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นมนุษย์คนหนึ่งบนโลก รวมตลอดถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อกันระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกันเพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจ โดยยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและตระหนักถึงความหลากหลายทางความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ได้มีการกำหนดกรอบการพิจารณาให้สถานะแก่บุคคลที่มีปัญหา ดังนี้ กลุ่มที่ 1. กรณีบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศ กลุ่มที่ 2. กรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มที่ 3 กรณีบุคคลที่ไร้รากเหง้า กลุ่มที่ 4 กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ กลุ่มที่ 5 กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ และกลุ่มที่ 6 กรณีคนต่างด้าวที่ไม่มีคุณสมบัติตามกลุ่มที่ 1 – 5 และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้เป็นการเฉพาะและแตกต่างกันไป ตามสถานะที่บุคคลดังกล่าวจะได้รับ โดยกลุ่มที่ 1 – 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิในการที่จะให้สัญชาติไทย ส่วนกลุ่มที่ 5 และ 6 ได้รับสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว แต่แตกต่างกันที่กลุ่มที่ 5 มีสิทธิที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามกลุ่มที่ 1 – 4 ยกเว้นแต่ไม่สามารถกำหนดสถานะได้จึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสถานะโดยคณะอนุกรรมการที่ได้มีการกำหนดขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 6

                        สำหรับกรณีของเด็กหญิงปิยนุช  อากาเป นั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำบอกเล่าของผู้อุปการะเด็กหญิงปิยนุช จะเห็นได้ว่า แม้เด็กหญิงปิยนุช จะเกิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากบิดาและมารดาของเด็กหญิงปิยนุช มีสถานะเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงส่งผลโดยตรงทำให้เด็กหญิงปิยนุชไม่ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตามมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของการได้รับสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ซึ่งทำให้เด็กหญิงปิยนุชเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งยุทธศาสตร์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นต้องการที่แก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม แม้เด็กหญิงปิยนุชจะเป็นบุคคลที่ยุทธศาสตร์ต้องการที่แก้ปัญหา แต่สถานะและสิทธิที่เด็กหญิงปิยนุชจะได้รับเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกรอบการพิจารณาที่ยุทธศาสตร์ได้กำหนดไว้ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏรับฟังได้ว่า บิดามารดาของเด็กหญิงปิยนุชเป็นชาวพม่าโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลทั้งสองมีเชื้อสายไทยแต่อย่างใด จึงทำให้เด็กหญิงปิยนุชเป็นบุคคลที่ไม่มีเชื้อสายไทย และแม้บิดามารดาของเด็กหญิงปิยนุชจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยแต่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ทำให้เด็กหญิงปิยนุชไม่สามารถได้สัญชาติไทยได้ตามที่กำหนดในกลุ่มที่ 1 และ 5 ของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส่วนการเด็กหญิงปิยนุชขาดบุพการีอันจะทำเป็นบุคคลที่ไร้รากเหง้าก็ตามแต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเด็กหญิงปิยนุชไม่มีเอกสารที่จะทำให้สามารถเข้าโรงเรียนได้นั้น ย่อมแสดงว่าไม่ปรากฏชื่อเด็กหญิงปิยนุชในระบบทะเบียนของทางราชการทำให้ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้แม้โรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐ ได้รับเด็กหญิงปิยนุชเข้าศึกษาก็ตามแต่เนื่องจากเด็กจะได้สัญชาติไทยจากการที่ศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาตามหลักเกณฑ์ของกลุ่มที่ 2 นั้นจะต้องใช้หลักเกณฑ์ของกลุ่มที่ 1 พิจารณาในการให้สัญชาติด้วยซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏเด็กหญิงปิยนุชไม่สามารถเป็นไปตามกลุ่มที่ 1 ได้ ดังนั้นเด็กหญิงปิยนุชจึงไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าเด็กหญิงปิยนุชได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยอันจะส่งผลให้สามารถให้สัญชาติไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องการแก้ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลดังนั้นจึงได้ให้โอกาสแก่คนต่างด้าวที่ไม่มีคุณสมบัติที่อาจให้สัญชาติไทยไว้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มที่ 6 คือกลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 5 กลุ่มและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งเด็กหญิงปิยนุชก็เข้าหลักเณฑ์ตามคุณสมบัติดังกล่าวเนื่องจากเด็กหญิงปิยนุชเกิดในประเทศไทยและบิดามารดาที่จะยืนยันว่าเด็กหญิงปิยนุชมีสัญชาติพม่าตามบิดาและมารดาของเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว

                        จากการที่ประเทศไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาจะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาความมั่นคง สังคม ให้แก่ประเทศได้เท่านั้นแต่ยังสามารถให้โอกาสแก่บุคคลซึ่งอาจเป็นในระดับรากหญ้าของสังคมให้ได้รับชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย ดังเช่นกรณีที่เกิดแก่เด็กหญิงปิยนุช  อากาเป

 

หมายเลขบันทึก: 45946เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท