ชงตั้งเขตพื้นที่มัธยมฯ 77 จังหวัด


ชงตั้งเขตพื้นที่มัธยมฯ 77 จังหวัด

                          ชงตั้งเขตพื้นที่มัธยมฯ 77 จังหวัด

เผยมี สพม.แค่ 42 เขต งานไม่รื่นจี้เสมา1 เคลื่อนรร.ในกำกับรัฐ


นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 42 เขต มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 โดย สมพ.แต่ละเขต ต้องดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษา ใน 2- 4 จังหวัด ยกเว้นในกรุงเทพฯ ที่มี สพม.จำนวน 2 เขต พบว่า บางพื้นที่ สพม.อยู่ค่อนข้างห่างไกลจากโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ต้องดูแล และการที่ สพม.ต้องดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กว้าง ทำให้มีผลกระทบในการบริหารจัดการ ดังนั้น ตนจะเสนอต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ. ให้พิจารณาเรื่องการขยายการจัดตั้ง สพม. โดยให้มี สพม.ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ จำนวน 77 เขต จากที่ปัจจุบันมี สพม.อยู่จำนวน 42 เขต สำหรับกรุงเทพฯ ที่ขณะนี้มี สพม.จำนวน 2 เขตนั้นก็ควรยุบรวมเหลือเขตเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพและบริหารในองค์รวมของจังหวัด

“เป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า ที่ สพม.ได้ดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา แต่ด้วยความกว้างของพื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ จึงทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว การสนับสนุนทรัพยากร และการพัฒนาการมัธยมศึกษาเป็นองค์รวมทั้งจังหวัดทำได้ไม่เท่ากัน การระดมทรัพยากรทำได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อเขตพื้นที่ระดมทรัพยากรไปแล้วจะใช้ประโยชน์เอื้อต่อจังหวัดของตนเองหรือไม่ ขณะเดียวกันอัตราบุคลากรในเขตพื้นที่ก็มีไม่เพียงพอ แต่ถ้ามี สพม.ในทุกจังหวัดก็จะทำให้พื้นที่บริการแคบลง ดูแลได้ทั่วถึง การระดมทรัพยากรและใช้ทรัพยากรในแต่ละโรงเรียนที่อยู่ภายในจังหวังเดียวกันให้เอื้อกันทำได้ง่านขึ้น และจะนำไปสู่การเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกจังหวัด “ นายกสมาคม ส.บ.ม.ท.กล่าว

นายวิทธยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จะขอให้ รมว.ศธ.เร่งรัดการนำโรงเรียนไปสู่การเป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์ ตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุไว้ ซึ่งในวันนี้เราอาจจะยังไม่พร้อมเป็นโรงเรียนนิติบุคคลไม่สมบูรณ์ แต่ก็อยากให้มีการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการให้แต่ละโรงเรียน ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนที่มีความพร้อมแล้วเป็นนิติบุคคลได้ เช่น เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ ที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการตัดสินใจ ในการบริหารจัดการด้านวิชาการ การเงิน และการบริหารงานทั่วไป เป็นต้น.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

หมายเลขบันทึก: 459350เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท