“ส.อ.ท.” ยื่นคำขาดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นำร่อง 7 จังหวัด


“ส.อ.ท.” ยื่นคำขาดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นำร่อง 7 จังหวัด

“ส.อ.ท.” ยื่นคำขาดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นำร่อง 7 จังหวัด ขอทยอยปรับในกรอบเวลา 3–4 ปี หวั่นธุรกิจเอสเอ็มอีระส่ำ พร้อมสวนนโยบาย “กิตติรัตน์” เงินอาชีวะ 16,000 บาท สูงกว่าปริญญาตรี 15,000 บาท ส่งสัญญาณอันตรายโครงสร้างการจ้างงานบิดเบี้ยว ด้านเด็กปั๊ม ปตท.เฮรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงแรงงานจะมีการหารือกับ ส.อ.ท.ในเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่องใน 7 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต โดยกระทรวงแรงงานต้องการให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2555 นั้น ส.อ.ท.ยังจะยืนยันในหลักการเดิมที่ควรมีทยอยการปรับขึ้นค่าแรงให้แรงงานในกรอบระยะเวลา 3-4 ปี และเห็นด้วยกับหลักการนำร่องใน 7 จังหวัด แต่กระทรวงแรงงานต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เพราะหากให้นายจ้างปรับขึ้นทันที 300 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ส.อ.ท.ก็จะยังเดินหน้าคัดค้าน เพราะต้องเข้าใจว่าผู้ประกอบการมีความสามารถในการรับภาระแตกต่างกันตามฐานะของกิจการนายสมมาตกล่าวถึงกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ต้องการเห็นองค์กรที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ประกาศว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวะระดับ ปวช. และ ปวส. จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 16,000 บาทต่อเดือน ว่า ส.อ.ท.ก็อยากให้นายกิตติรัตน์ ดูข้อเท็จจริงว่าระดับช่างฝีมือในการจ้างงาน และเนื้อหาของงานของนายจ้างแต่ละกิจการมีความแตกต่างกัน เพราะเด็กจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน และขาดทักษะฝีมือ ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนความชำนาญในสายงาน แต่หากเป็นช่างฝีมือแรงงานที่มีความชำนาญในการทำงาน 3-4 ปี เงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ขณะนี้ก็จะสูงกว่าปริญญาตรีอยู่แล้ว แต่หากเด็กจบใหม่แล้วจะให้เงินเดือนตามที่นายกิตติรัตน์ต้องการคงเป็นไปได้ยาก และหากนายกิตติรัตน์ต้องการเห็นเงินเดือนดังกล่าวกับเด็กที่จบการศึกษาใหม่ ก็ต้องให้หน่วยงานหรือนายจ้างภาครัฐนำร่องไปก่อน“ถ้าลูกจ้างมีความสามารถมีทักษะการทำงานที่เก่งจริง ไม่ต้องกลัวว่านายจ้างจะไม่ยอมจ่ายเงินเดือนตามที่ต้องการ เพราะบางช่วงเวลานายจ้างก็แย่งตัวลูกจ้างในบางสายงานเช่นกัน อาทิ ช่างรถยนต์ เป็นต้น”
นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า รัฐบาลควรแยกแยะให้ออกระหว่างแรงงานมีฝีมือกับแรงงานขั้นต่ำให้ชัดเจน เพราะผู้ที่จบอาชีวะระดับ ปวช. ปวส. มีทั้งสาขาช่าง และสาขาพาณิชย์ มีทั้งเด็กที่เก่ง และต้องใช้เวลาเรียนรู้ หากจำกัดความว่าต้องการให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนตามที่รัฐบาลต้องการก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อการจ้างงานได้ว่า เงินเดือนของผู้ที่จบต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินเดือนสูงกว่าปริญญาตรีที่รัฐบาลจะให้เดือนละ 15,000 บาท เนื่องจากผู้จบสายอาชีวะมีฐานที่ใหญ่ หรือประมาณ 6-7 ล้านคนด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีนโยบายที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจำนวนวันละ 300 บาท ในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานที่มีสัญญาจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยตรงตามนโยบายของรัฐบาล โดยในส่วนของภาระต้นทุนที่สูงขึ้นคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาทต่อปี ปตท.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 โดยจะดำเนินการในเมืองหลักก่อน เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และภูเก็ต โดยจะทยอยดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป.

ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 2 กันยายน 2554

หมายเลขบันทึก: 458935เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2011 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท