"ผู้นำ" กับการบริหารความเสี่ยงองค์กร


"ผู้นำ" กับการบริหารความเสี่ยงองค์กร

ผู้นำในยุคโลกาภิวัฒน์จำเป็นต้องก้าวให้ทันกับยุทธศาสตร์การบริหารที่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง  การสื่อสารไร้พรมแดน  รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการองค์กรที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เป็นเครื่องมือที่มาช่วยเพิ่มทั้งศักยภาพและประสิทธิภาพขององค์กร  แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายความสามารถของผู้นำ  ในการที่จะนำพาองค์กรก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

           ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร  จึงควรได้รับความสำคัญและได้รับการบริหารในระดับกลยุทธ์ขององค์กร  จะว่าไปแล้วการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ  คือ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี  อันเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบหลักภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง  ซึ่งอีกสององค์ประกอบ คือ ความพอประมาณ และ ความมีเหตุมีผล

           ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้บริหารองค์กรภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  จึงมิได้ขัดแย้งกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพราะผู้บริหารภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ย่อมต้องให้ความสำคัญกับทั้งความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  และการบริหารความเสี่ยง  โดยการคำนึงถึงศักยภาพและทรัพยากรขององค์กร  ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ  และไม่นำพาองค์กรไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถสร้างความสูญเสียให้กับองค์กร  โดยไม่ได้วางแผนป้องกันหรือรองรับผลลบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร


            วัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงองค์กรในปัจจุบัน  ไม่ได้เป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงขององค์กรอย่างเช่นในอดีต  หากแต่เป็นไปเพื่อการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร กล่าวคือ การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ  ย่อมสามารถช่วยลดโอกาสหรือขนาดของความสูญเสียจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ   ลดความผันผวนของรายได้ และส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าขององค์กรนั่นเอง

           ผู้บริหารที่เข้าใจการบริหารความเสี่ยงองค์กรอย่างแท้จริง  และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว  จึงนับได้ว่าเป็นผู้บริหารที่สามารถดำรงบทบาทที่สอดคล้องกับความต้องการผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร เช่น เจ้าของบริษัท ได้อย่างแท้จริง

          เมื่อกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ผู้นำองค์กรในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราควรให้ความสำคัญ  ในปัจจุบันนี้หลายท่านอาจนึกถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง  ความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจ  สภาพการแข่งขันทางธุรกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ  ซึ่งรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน  ประเทศอินเดีย  หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม  รวมถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติหรือภาวะโลกร้อน เป็นต้น

           ทั้งที่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวตามกระแสโลกาภิวัฒน์  แต่กลับถูกมองข้ามคือ  ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากบทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้นำในตลาดทุนโลก  เพราะเราคงจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้แสดงบทบาทผู้นำในตลาดทุนโลกอย่างชัดเจน  ความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชีย  ทั้งในประเทศจีนและอินเดีย  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบาทการเป็นผู้นำเชิงนโยบายของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั่นเอง

           รวมตลอดจนบทบาทและอิทธิพลของประเทศสหรัฐอเมริกาในการก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Trade Organization (WTO)  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เดินเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์อย่างสุดโต่งคือ  ความไม่แน่นอนของการดำรงบทบาทผู้นำตลาดทุนโลกของประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาอ่อนแอ  เศรษฐกิจของประเทศที่เหลือซึ่งพึ่งพาบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาในตลาดโลกก็จะอ่อนแอไปด้วย

          ทฤษฏีการบริหารความเสี่ยงองค์กร  จึงได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 458565เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท