ปวดหัวไมเกรน


โอ๊ย!!! ปวดหัวไมเกรน

 

 วันนี้ดิฉันก้อมีสาระดีๆๆมาฝากทุกคนนะค่ะวันนี้ขอนำเสนอบทความที่มี

“อาการปวดหัวข้างเดียว” หลายคนมักจะสรุปว่าเป็นการปวดหัวไมเกรน แต่ทั้งนี้โรคปวดหัวไมเกรนยังมีอาการอื่นๆ ได้อีก อีกทั้งอาการปวดหัวข้างเดียวเพียงอย่างเดียวเราก็ไม่อาจสรุปได้เช่นกันว่าเป็นอาการของไมเกรน ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับ “ไมเกรน” ให้มากขึ้น

         “โรคไมเกรน” เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ อาการปวดศีรษะมักจะปวดข้างเดียว หรือ เริ่มจากปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง หรือ อาจจะปวดพร้อมกันทั้งสองข้างเลยก็ได้ ลักษณะอาการปวดมักจะปวดตุบๆ เป็นระยะๆ  แต่ก็มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อๆ ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลาง ถึง รุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบกิจวัตรต่างๆ ได้เป็นปกติ ส่วนมากขณะที่ปวดศีรษะ มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งโรค   ไมเกรน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

1. ไมเกรนแบบไม่มีอาการนำ (Migraine without aura/common migraine) เป็นกลุ่มที่พบบ่อย อาการปวดศีรษะจะกินเวลาประมาณ 4-72 ชั่วโมง เกิดร่วมกับการคลื่นไส้อาเจียน, กลัวแสง (photophobia), กลัวเสียง (phonophobia)

2. ไมเกรนแบบมีอาการนำ (Migraine with aura/classical migraine) จะมีอาการ ตาพร่า, ตาลาย, เห็นภาพเบี้ยว เล็กหรือใหญ่เกินจริง, ได้กลิ่นหรือเสียงแปลก นำมาก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 5-20 นาที

อาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงนอกกะโหลกศีรษะ และ หลอดเลือดแดงใหญ่ในกะโหลกศีรษะ โดยเกิดการกระตุ้นปลายประสาทให้หลั่งสารสื่อประสาทออกมา ได้แก่ Calcitonin-gene-related peptide (CGRP), Substrance P (SP) และ Neurokinin A ซึ่งมีผลทำให้หลอดเลือดแดงนอกกะโหลกศีรษะขยายตัว และยังทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณรอบหลอดเลือดอีกด้วย

 

          ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่
•    ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
•    อาหารบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อคโกแล็ต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และ กาแฟ
•    การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำหรืออยู่ในภาวะขาดน้ำจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป
•    การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน
•    รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือ นอนมากเกินไป
•    ความเครียด และ ความวิตกกังวล 
•    สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
•    ยาบางชนิด เช่น cimetidine, indomethacin, nifedipine, ยาคุมกำเนิด

 

 

แนวทางการรักษาไมเกรน

1. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อรักษาไมเกรน
เมื่อทราบว่าเป็นไมเกรนแล้ว ควรจะออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน ได้แก่ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น และพยายามทำจิตใจให้สบาย อย่าเครียด หรือวิตกกังวล เพื่อช่วยป้องกันอาการปวด


2. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา มักได้ผลในระยะที่ทำการบำบัดรักษาเท่านั้น การรักษาพวกนี้ ได้แก่ การผ่อนคลาย (relaxation therapy), ฝึกการสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองในร่างกาย (biofeedback) , การฝังเข็ม (acupuncture), การบริหารคอ (cervical manipulation) และ การสะกดจิต (hypnosis) เป็นต้น

3. การรักษาโดยการใช้ยา จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

    3.1 ยาที่ใช้รักษาเมื่อมีอาการไมเกรน จะใช้เมื่อมีอาการปวดเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันหรือลดความถี่ในการเกิดได้
        • ยาแก้ปวด ได้แก่ พาราเซตามอล, แอสไพริน, และยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์เร็ว เช่น naproxen sodium, ibuprofen, diclofenac potassium แต่จะไม่ใช้ยา indomethacin
        • ยากลุ่มเออร์กอต (ergot-based drug) ได้แก่ cafergot® เป็นยาที่ช่วยให้หลอดเลือดในสมองหดตัว จึงสามารถลดอาการปวดได้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรน ให้รับประทานยา 2 เม็ด ถ้ายังไม่หายปวดให้รับประทานเพิ่มครั้งละ 1 เม็ดทุกๆ 30 นาที แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง และ มากกว่า 10 เม็ดใน 1 สัปดาห์ มีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น จึงควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงและใช้นานๆ ครั้ง การใช้ยาติดต่อกันนานๆ เมื่อหยุดยาจะทำให้เกิดอาการปวดหัว และ มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ เพราะยาตัวนี้ทำให้หลอดเลือดหดตัว และ ยังทำให้มีอาการของโรคหัวใจ และหลอดเลือดด้วย นอกจากนี้ยังห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้แท้งได้
        • ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) เช่น sumatriptan, naratriptan, zolmitriptan  เป็นยาที่ใช้รักษาไมเกรนที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง กลัวเสียงได้ โดยยากลุ่มนี้จะไปช่วยให้หลอดเลือดแดงนอกกะโหลกศีรษะหดตัว และ ลดการอักเสบที่เกิดขึ้น มีอาการข้างเคียง คือ แน่นหน้าอก, อ่อนเพลีย, ชัก, เพิ่มความดันโลหิต และมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ เพราะยาในกลุ่มนี้ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น, ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นยังมีข้อมูลไม่มากพอ ควรใช้ในกรณีที่มีผลดีมากกว่าความเสี่ยงต่อเด็กและหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีภาวะตับ,ไต บกพร่อง เพราะในผู้ที่มีตับบกพร่องจะมีการทำลายยาได้ลดลง และผู้ที่ไตบกพร่องจะขับยาออกได้ลดลงจึงอาจเกิดการสะสมของยาทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

    3.2 ยาที่ใช้ในการป้องกันไมเกรน จะใช้ยากลุ่มนี้เมื่อมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์, มีอาการรุนแรง หรือ มีข้อห้ามใช้ยาในกลุ่มแรก ซึ่งยาในกลุ่มนี้ไม่สามารถรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ แต่จะช่วยป้องกันการเกิดไมเกรน และลดความรุนแรง รวมถึงความถี่ของการปวดศีรษะ การใช้ยาป้องกันให้ได้ผลจะต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน
        • Beta-blocker ได้แก่ propanolol, metoprolol, nadolol โดยยาจะเข้าไปลดความไวในการกระตุ้นปลายประสาท มีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรน 55-84% แต่จะพบอาการข้างเคียง คือ อาการอ่อนเพลีย, ฝันร้าย,  ซึมเศร้า และห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหืด(asthma), โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน และโรคซึมเศร้า
        • ยาต้านอาการซึมเศร้า ได้แก่ Tricyclic antidepressants (TCAs) เช่น amitriptyline, nortriptyline มีประสิทธิภาพประมาณ 50-70% จะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่นอนไม่หลับและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่พบอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง และต้องระวังในผู้ป่วยที่มีอาการชัก
        • Calcium channel blocker (CCBs) ได้แก่ verapamil, flunarizine สามารถป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ ประสิทธิภาพป้องกันได้มากกว่า 50% ใกล้เคียงกับยา Beta-blocker
        • ยากันชัก ได้แก่ sodium valproate, topiramate ยาทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน คือประมาณ 30-80% แต่มีอาการข้างเคียงที่แตกต่างกัน คือ valproate จะทำให้น้ำหนักเพิ่ม, ผมร่วง, คลื่นไส้อาเจียน และ มีการสั่นของร่างกาย ส่วน topiramate จะทำให้น้ำหนักลด และ อาจเกิด nephrolithiasis โดยขนาดยาที่ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน จะน้อยกว่าที่ใช้ในการรักษาโรคลมชัก

          เมื่อเรามีอาการของไมเกรน ควรสังเกตตัวเองว่าสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ แล้วควรหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเหล่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ สำหรับการใช้ยาในการรักษา และ ป้องกันนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง หรือ ตามคำแนะนำของคนอื่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้หากใช้ยาไม่ถูกต้องเหมาะสม

คำสำคัญ (Tags): #ไมเกรน
หมายเลขบันทึก: 458211เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2011 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท