เต๋าเต้อจิง บทที่ 2 สองสิ่งคือหนึ่งเดียว


บทนี้อธิบายให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกของ “ทวิภาวะ (Duality)" คือภาวะที่มาเป็นคู่


เมื่อคนเห็นว่าบางอย่างงาม

ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น

เมื่อคนเห็นว่าบางอย่างดี

สิ่งที่เป็นความเลวก็ปรากฏ


มีและไม่มีก่อกำเนิดกันและกัน

ยากและง่ายส่งเสริมเติมแต่งกัน

ยาวและสั้นสื่อความหมายให้กัน

สูงและต่ำกำหนดซึ่งกันและกัน

ก่อนหน้าและมาหลังเกิดขึ้นพร้อมกัน


ดังนั้น ผู้ทรงปัญญา

จึงรู้คุณค่าของการทำโดยไม่กระทำ

ท่านสอนโดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำ

ท่านปล่อยให้สิ่งต่างๆ เลื่อนไหลไป

โดยที่มิได้แสดงความเป็นเจ้าของ

ท่านทำไปโดยไม่ได้มุ่งหมายความสำเร็จ

ด้วยการกระทำที่ไม่ติดยึดในความสำเร็จนี้

ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างยั่งยืน.


ข้อเตือนใจ เพื่อใช้เตือนตน


บทที่ 2 นี้ เป็นการอธิบายให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกของ “ทวิภาวะ (Duality)" คือภาวะที่มาเป็นคู่ เช่น เมื่อมีกลางวันก็ต้องมีกลางคืน เมื่อมีการตื่นก็แสดงว่าต้องมีการหลับ เมื่อมีเกิดก็มีตายอะไรทำนองนั้น เรียกว่าเป็นการมอง "ของสองสิ่ง" ทั้งในสถานะที่ "แยกออกจากกัน" และก็เป็น "สิ่งเดียวกัน" ด้วย คือมองว่ากลางวันเป็นส่วนหนึ่งของกลางคืน กลางคืนเป็นส่วนหนึ่งของกลางวัน เหมือนกับการที่เรามองเห็นเหรียญ "สองด้าน" ทั้งๆ ที่มันเป็นเหรียญ “อันเดียวกัน” ซึ่งการมองเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในเรื่องเต๋า


เต๋าได้พูดเรื่อง หยิน หยาง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาทางการรับรู้ของเรานั้นจะเข้ามา "เป็นคู่" เสมอ ในความเป็นคู่นั้น เรามักจะมี "การแบ่งแยก การเปรียบเทียบ" เกิดขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น เวลาได้ยินคนพูดว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" เราก็มักจะเข้าใจว่า "ใจนั้นเป็นส่วนที่สำคัญกว่ากาย" ซึ่งในภาษาของเต๋ากลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ "ไม่มีสิ่งใดสำคัญกว่ากัน" นายต้องอาศัยบ่าว และบ่าวก็ต้องอาศัยนาย เพราะมีนายจึงมีบ่าว เพราะมีบ่าวเราจึงเป็นนาย ใจและกายต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ใจและกายไม่ได้แยกออกจากกัน สิ่งที่เป็นคู่ที่อยู่ตรงข้ามกันนี้ก่อกำเนิดซึ่งกันและกัน เป็นส่วนประกอบของกันและกัน  เรียกได้ว่ามีความเป็น “ทั้งสอง” และก็มีความเป็น “หนึ่ง” ไปพร้อมๆ กัน


สารบัญ

บทที่ 44 รู้จักหยุด รู้จักพอ

บทที่ 48 ทำโดยไม่กระทำ

บทที่ 67 สมบัติล้ำค่าสามสิ่ง

บทที่ 81 วิถีแห่งอริยชน


หมายเลขบันทึก: 457843เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแสดงความเห็นครับ

"ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว"

คำ ๆ นี้ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ใช้สอน ผมเข้าใจเองว่าคงต้องการบอกกับคนที่ยังยึดมั่นกับตัวตนมากเกินไป

เพื่ออุปมา ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพื่อยกระดับของผู้รับการสอนให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองในระดับต่อไป

แต่ถ้าคนที่หยิบมาใช้ทั่วไป(โดยไม่ได้เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง) ก็อาจจะมองคำว่า "ใจ" สำคัญกว่า "กาย" อย่างที่อาจารย์กล่าว

ในบทความนี้ และผมเข้าใจเอง(อาจารย์ก็คงต้องการสื่อสารแบบนี้ด้วย) ว่าคนที่นำมาใช้สุดท้ายแล้วด้วยทัศนคติตรงนี้(ความเข้าใจ)

ก็มีแนวโน้มจะกลับไปยึดมั่นถือมั่นกับคำว่า "ใจ" แทนคำว่า "กาย" แทน

ถึงตรงนี้แล้วผมนึกถึงประโยคหนึ่งขึ้นมาครับ "อะไรก็แล้วแต่ถ้าเรายังไม่ได้ลงมือทำเอง ขอให้รู้ไว้ว่ามันเป็นแค่ความคิดเห็นครับ ยังไม่เป็นความรู้" อาจารย์คุ้นไหมครับ

นับถืออาจารย์มากครับ

ขอบคุณครับ

ในขณะที่ "ผู้สังเกต" รู้สึกตัวว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของ "สิ่งที่ถูกสังเกต" เมื่อนั้นจะไม่เกิดภาพลักษณ์ขึ้นมาขวางกั้นระหว่างผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต . . นั่นคือการ(ทำสมาธิ)ภาวนาที่แท้จริง

                                                         - กฤษณมูรติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท