"ภูมิพลอดุลเดช"..พระนามนี้เดิมไม่มี "ย"


"ภูมิพลอดุลเดช"..พระนามนี้เดิมไม่มี "ย"

          สำหรับวันนี้ มีเรื่องที่ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขียนเอาไว้เมื่อปลายปี 2553 ชื่อเรื่อง “ เรื่องที่ทรงให้และทรงขอ” ปรากฏอยู่ใน เว็บไซด์เจ้าพระยา ของ Chaoprayanews.com มีหลายเรื่องราวที่ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ

          จึงขอนำเสนอเรื่องนี้ให้รับทราบไปพลางก่อน เรื่องที่ ดร.วิษณุ เครืองาม เขียนไว้มีดังนี้

          ปีหนึ่งๆมีโอกาสสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง ทั้งที่เป็นโอกาสประจำ เช่น วันเฉลิมชนมพรรษา  วันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส วันฉัตรมงคล และโอกาสจร เช่น ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2  เมื่อไม่กี่วันมานี้

          พอถึงโอกาสอย่างนั้นเข้าทีหนึ่งก็มีเรื่องให้ต้องพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐทีหนึ่ง ไม่ว่าในเรื่องพระราชจริยวัตรอัธยาศัย พระมหากรุณาธิคุณด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันสุดจะหาสิ่งใดเปรียบปาน หรือพระปรีชาสามารถเข้าพระทัยในการประยุกต์สรรพวิทยามาใช้แก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองได้อย่างเหมาะเจาะ

            วันนี้ก็ต้องพูดถึงกันอีกครั้ง  เรื่องอันเป็นมงคลยิ่งพูดถึงบ่อยๆ ยิ่งเป็นมงคลต่อผู้พูดและผู้ได้ยินได้ฟัง

          พระราชบรรพบุรุษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางฝ่ายพระบรมราชชนกนั้นสืบย้อนไปได้ถึงรัชกาลที่ 1  และ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) พระราชบรรพบุรุษชั้นนี้มีเชื้อสายมอญ

พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ 1  คือรัชกาลที่ 2  ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1  และเจ้าสัวเงิน จีนแซ่ตันจากปักกิ่ง

พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2  คือรัชกาลที่ 4  พระราชบรรพบุรุษชั้นนี้จึงมีเชื้อสายจีน วันตรุษวันสารทจึงยังมีพิธีเซ่นไหว้พระป้ายบรรพบุรุษตามแบบจีนจนบัดนี้

          รัชกาลที่ 4  ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำเพย หลานปู่รัชกาลที่ 3  เป็นพระมเหสี ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ มีพระราชโอรสคือรัชกาลที่ 5  ซึ่งถือเป็นหลานทวดรัชกาลที่ 1  หลานปู่รัชกาลที่ 2  และหลานทวด (ทางแม่) ของรัชกาลที่ 3

          รัชกาลที่ 5  ทรงสถาปนา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 แต่ต่างพระครรภ์กันเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และสมเด็จพระพันวัสสา อัยยิกาเจ้าตามลำดับ

          พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ 5  และสมเด็จพระบรมราชเทวีคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย

แต่เพราะทิวงคตเสียตั้งแต่วัยหนุ่ม ลำดับการสืบราชสมบัติจึงเคลื่อนไปยังพระราชโอรสพระองค์อื่นของรัชกาลที่ 5  ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าองค์อื่น ซึ่งได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6  และ 7

          เมื่อรัชกาลที่ 7  ทรงสละราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุไม่มีพะราชอนุชาและพระราชโอรส ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น  ลำดับการสืบราชสมบัติจึงย้อนกลับมาทางสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชอนุชาในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

แต่เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ ทิวงคตแล้ว กฎมณเฑียรบาลยอมให้พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ เลื่อนขึ้นมามีสิทธิรับราชสมบัติได้คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายอานันทมหิดล ทรงเป็นรัชกาลที่ 8

          เมื่อรัชกาลที่ 8  สวรรคตใน พ.ศ. 2489 และยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส ราชสมบัติจึงตกแก่พระราชอนุชา สมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

          รัชกาลที่ 9  จึงทรงเป็นหลานปู่รัชกาลที่ 5  หลานทวดรัชกาลที่ 4  เหลนทวดรัชกาลที่ 2  และรัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

          ส่วนพระราชบรรพบุรุษทางฝ่ายพระบรมราชชนนีเป็นสามัญชน เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้อยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และทรงได้ทุนไปศึกษาวิชาพยาบาลในสหรัฐอเมริกาจนได้ทรงพบรักกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ บัดนี้สตรีผู้ทรงบุญญาธิการนั้นคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประสูติที่โรงพยาบาลชานเมืองบอสตันในมลรัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โรงพยาบาลนั้นบัดนี้ย้ายที่ตั้งแล้ว แต่ยังมีแก่ใจทำป้ายติดว่า ณ ที่แห่งนี้ ทารกซึ่งถือกำเนิดคนหนึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ประสูติในประเทศสหรัฐอเมริกา

          วันนั้นคือวันจันทร์ที่ 5  ธันวาคม  2470  ขณะประสูติ ดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชาย และยังไม่มีเค้าว่าต่อไปจะได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์  เหตุผลคือ รัชกาลที่ 7  ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระชนกก็ยังอยู่ พระเชษฐาก็ยังอยู่ และรัชกาลที่ 7  จะทรงสมมุติยกเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ใดเป็นรัชทายาทก็ได้

          เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิรา ฯ ทรงทราบข่าวว่าหม่อมในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ประสูติพระกุมารเป็นชายก็ได้เสด็จไปเฝ้ารัชกาลที่ 7  ขอพระราชทานพระนามแก่พระราชนัดดาซึ่งทรงตั้งให้ว่า “ภูมิพลอดุลเดช” แปลว่ามีเกียรติยศยิ่งใหญ่และเป็นกำลังของแผ่นดิน พระนามนี้แต่แรกไม่มี “ย” แต่ต่อมาเป็นภูมิพลอดุลยเดช

            เมื่อครอบครัวมหิดลเสด็จกลับเมืองไทย พระองค์เจ้าภูมิพลอดุยเดชได้ประทับอยู่ที่วังสระปทุมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระอัยยิกา ทรงรับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ขณะที่พระพี่นางทรงเรียนที่โรงเรียนราชินี พระเชษฐาทรงเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

          เมื่อพระชนกสิ้นพระชนม์ ครอบครัวมหิดลได้เสด็จไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ครั้น พ.ศ. 2477  พระโอรสพระองค์ใหญ่ในราชสกุลมหิดลได้เป็นรัชกาลที่ 8  พระโอรสพระองค์เล็กจึงได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชอนุชา

แต่แรกทรงเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์เพราะโปรดวิชาช่าง ครั้นเมื่อต้องทรงรับราชสมบัตินับตั้งแต่วันที่ 9  มิถุนายน  2489 จึงทรงเปลี่ยนไปศึกษาทางกฎหมายและการปกครอง

          เคยรับสั่งเล่าว่าได้ทรงศึกษากฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ ครั้งหนึ่งเคยทรงโต้แย้งทางวิชาการกับนักกฎหมายใหญ่ในขณะนั้นคือ ดร.  หยุด แสงอุทัย จนต้องเปิดตำราเยอรมันว่ากันข้อนี้มา 

สมกับที่ ดร. หยุด เคยเล่าให้ผมฟังว่า “มารู้ที่หลังว่าถูกของพระองค์ท่าน เพราะผมเองใช้ตำราหลังสงครามโลกครั้งที่ 1  แต่พระองค์ท่านทรงใช้ตำราฉบับแก้ไขใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ”

แม้จะทรงครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9  ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุยน  2489 แต่เพราะต้องเสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ และต้องรอให้การถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 8 ผ่านพ้นไป จึงทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 5  พฤษภาคม  2493 ซึ่งถือเป็นวันฉัตรมงคล แต่การนับอายุรัชกาลต้องนับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แล้ว

          การเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวรในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เป็นการเริ่มการปฎิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์อย่างเต็มพระกำลัง

เริ่มตั้งแต่การเสด็จออกทรงผนวช การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด การเสด็จประพาสต่างประเทศ การมีพระราชดำริเริ่มโครงการต่างๆมากมายเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐในการช่วยเหลือประชาชน และการใกล้ชิดกับราษฎรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พลเรือน นักศึกษา เกษตรกร ชาวเขา หรือพ่อค้าวาณิช

          แม้แต่กับรัฐบาล ก็พระราชทานพระมหากรุณาแก่ทุกรัฐบาลโดยเสมอหน้าชนิดที่รัฐบาลใดจะอ้างว่าตนได้รับละอองแห่งพระมหากรุณามากน้อยต่างกันไม่ได้เลย พระราชสิทธิในฐานะพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานคำแนะนำ  คำตักเตือน พระราชสิทธิที่จะพระราชทานกำลังใจและพระราชสิทธิที่จะรับคำกราบทูลถวายรายงานข้อราชการบ้านเมืองนั้นทรงใช้แก่ทุกรัฐบาลโดยเสมอหน้ากัน

ในฐานะที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลโดยหน้าที่ต่างๆกันถึง 15  ปี ผมขอยืนยันว่าพระองค์ทรงมีมาตรฐานเดียวโดยตลอด จะต่างกันก็ที่โอกาส เช่น คณะรัฐมนตรีบางคณะเข้ามาในช่วงที่ทรงพระประชวร บางคณะมีราชการงานเมืองต้องเข้าเฝ้าฯ ขอ พระราชทานมหากรุณาบ่อยหรือห่างตามเหตุการณ์

          ในการมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และการทรงงานใดๆ ไม่มีเลยสักเรื่องที่จะแสดงว่าทรงรับเอาประโยชน์ส่วนพระองค์แม้พสกนิกรจะเต็มใจถวาย

          สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ คราวหนึ่งประจวบโอกาสครองราชย์ครอบ 25 ปี (พ.ศ. 2514) รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และถาวรวัตถุใหญ่โต “ที่สุดในประเทศ” ถวาย รับสั่งว่าสิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า นี่คือที่มาของถนนรัชดาภิเษก

          สมัยคุณบรรหารเป็นนายกฯ เคยกราบบังคมทูลว่า จะสร้างทาวเวอร์หรือหอคอยสูงใหญ่ข้างสะพานพระราม 9 ใช้เป็นหอดูวิว หอโทรคมนาคม และเฉลิมพระเกียรติ รับสั่งว่าเทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคมและเปลืองเงินเปล่าๆ

          นายกฯคนหนึ่งเคยกราบบังคมทูลถามว่า  ที่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ตอนพลบค่ำคนมักมาจุดประทัดแก้บน  บางทีก็ยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ดังรบกวนมาถึงสวนจิตรฯ หรือไม่ รับสั่งว่า อยู่ที่หลักการว่าทำอย่างนั้นผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นเสรีภาพก็ต้องปล่อยไป รำคาญหนวกหูก็ต้องทน อย่าใช้มาตรฐานสวนจิตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลมาตัดสิน

          สมัยนายกฯทักษิณ เคยกราบบังคมทูลว่า

เมื่อประทับรักษาพระองค์ที่วังไกลกังวลอย่างนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังปรับปรุงวังไกลกังวลให้สะดวกสบายสมกับที่จะใช้เป็นที่ประทับยาวนนาน รวมทั้งจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัยพร้อมทุกประการ

รับสั่งว่า การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคนถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเรื่องพระสำราญ “แค่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว”

            รัฐบาลหลายคณะ เคยออกกฎหมายที่มุ่งจะเฉลิมพระเกียรติเช่นมีคำว่า“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช”

          มีพระราชกระแสให้รัฐบาลนำกลับไปปรับปรุงเพราะ  “ไม่อาจทรงสถาปนาพระองค์เองได้” เช่นเดียวกับที่ใน พ.ศ. 2512  ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติยศทหารซึ่งถวายพระยศ ทางทหารเป็น จอมพล จนร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเองในที่สุด

          รัชกาลนี้ทรงลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายมาแล้ว ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกานับหมื่นฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษ ฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความเป็นธรรมอีกหลายพันราย บางรายขอพระราชทานยืมเงิน บางรายขอความเป็นธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย

          รายหนึ่งพ่อตาย ลูกชายบวชหน้าไฟให้พ่อ อยู่มาก็ไม่ยอมสึก แม่มีลูกชายคนเดียวทำหนังสือถวายฎีกาว่าเดือดร้อนหนัก ขอพระมหากรุณาให้ลูกสึกมาช่วยเลี้ยงแม่เถิด โปรดให้ตรวจสอบแล้วมีพระราชกระแสว่า แท้จริงแม่ไม่ได้อยากให้ลูกสึก แต่ปัญหาคือแม่ลำบากยากจน จึงโปรดให้กรมประชาสงเคราะห์เข้าไปช่วยดูแล สอนอาชีพให้และหาเครืองมือทำมาหากินไปให้แม่ ลงท้ายแม่ก็ทำมาหากินได้ ส่วนลูกก็อยู่ไปจนเป็นสมภาร

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงเคราะห์ทั้งส่วนรวมและพระองค์เองเพื่อจะได้มีพระอนามัยดีทรงงานเพื่อส่วนรวมต่อไป จึงทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทรงเล่นคอมพิวเตอร์ ทรงฉายภาพ ทรงกีฬา ทรงวาดรูป ปั้นรูป ทรงงานไม้งานช่าง จะทรงจับงานด้านใดก็ทรงทำได้ดี

          ที่คนไม่ใคร่ทราบคือทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องภาษาไทย การศึกษา ระบบสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข และพุทธศาสนา ส่วนที่ทรงพระปรีชาทางดิน น้ำ ระบบระบายน้ำ และการแก้ปัญหาจราจรนั้นเป็นที่ทราบทั่วไปอยู่แล้ว

          เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมเคยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานคำแนะนำเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยหลายหน

          ครั้งหนึ่งได้ถวาย “รายชื่อ” บุคคลให้ทรงแต่งตั้ง รับสั่งถามว่า ตั้งกี่คน ผมกราบบังคมทูลว่าคนเดียว ตรัสว่าคนเดียวเรียกว่า “ชื่อ” ถ้า “รายชื่อ” ต้องหลายคน

          อีกคราวหนึ่ง มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า  “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาเพื่อทรงพิจารณา” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ถ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็อยู่บนกระหม่อมยังไม่ถึงฉัน ถ้าจะให้ถึงฉัน ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาเพื่อทรงพิจารณา”

          ในทางพระพุทธศาสนาก็ปรากฎว่าทรงรอบรู้ทั้งในทางปฎิบัติและปริยัติ ทรงรู้จักพระเป็นอันมาก เมื่อตรัสถึงเหตุการณ์ครั้งใดจะทรงย้อนไปถึงเรื่องราวครั้งเก่าก่อน เช่น “ครั้งสมเด็จพระสังฆราชยังเป็นพระญาณวราภรณ์” “ ครั้นเจ้าคุณประยุทธยังเป็นพระราชวรมุนี” 

    และเคยตรัสเล่าเรื่องราวความเป็นอัครศาสนูปถัมภก ว่า ต้องทรงอุปถัมภ์ และคุ้มครองทุกศาสนา โดยไม่เลือกปฎิบัติ ทรงเล่าพระราชทานว่า ครั้งหนึ่งควีนจากประเทศหนึ่งทูลถามว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าแล้วชาวพุทธนับถืออะไรกัน เหตุใดไม่ยกพระพุทธเจ้าเป็น god เสียเลย

           ได้ทรงตอบว่า พุทธศาสนานับถือ “ธรรม” เรานับถือธรรมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก และได้ตรัสเล่าต่อไปว่า แม้ศาสนาอื่นก็ยังต้องทรงอุปถัมภ์ ฉะนั้นในฝ่ายพุทธศาสนาขอให้ทุกคนวางใจเถิดว่า จะเป็น เถรวาท มหายาน รามัญนิกาย มหานิกาย ธรรมยุต ก็ต้องทรงคุ้มครองและพระราชทานความเป็นธรรมเสมอกัน

          รัชกาลที่ 5 นั้น อะไรที่ไม่เคยมีและไม่มีคนไทยคนใดนึกว่าชีวิตนี้จะมี แต่ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีขึ้นเป็นขึ้นทั่วถ้วน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล รถไฟ ไปรษณีย์ เลิกทาส จนคนรุ่นก่อนหน้านั้นต้องคิดว่าเหลือเชื่อ

แต่รัชกาลที่ 9นั้น  อะไรที่ควรจะมีควรจะคิดออก ควรจะทำเป็นนานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ใคร่คิดไม่ใคร่ทำ ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีให้เป็นขึ้น เช่น เขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ ถนน สะพาน การสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน คนประสบภัยธรรมชาติ การแก้ปัญหาจราจร การเพิ่มผลผลิตการเกษตร การแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาพลังงาน

          สมัยผมเป็นเลขาธิการ ครม.  ต้องทูลเกล้าฯถวายเอกสารใส่ซองขนาดใหญ่สีขาวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย รับสั่งต่อไป หน้าซองไม่ต้องเขียนเลขที่หนังสือ จะได้หมุนเวียนกลับลงมาใช้หลายหน ไม่ต้องทิ้ง แม้แต่เรืองเล็กๆก็ควรประหยัด เวลาร่างกฎหมายโปรดให้ถวายปะหน้า 2 แผ่น เผื่อว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหมึกซึมเลอะ จะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องรอถวายใหม่ เวลาตั้งรัฐมนตรีใหม่จะต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฎิญาณ จะตรัสว่าให้รีบมาจะได้รีบไปทำงานไม่ต้องห่วงว่าติดเสาร์อาทิตย์ ประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ

            พระมหากรุณาธิคุณปานนี้จะหาได้จากที่ไหนอีกเจ้าประคุณเอ๋ย!

          ปี 2538   สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต ลองคิดดูว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวิปโยคขนาดไหน เสด็จไปทรงสดับพระพิธีธรรมที่พระที่นั่งดุสิตฯ ทุกราตรี แต่ทราบกันบ้างหรือไม่ว่าพอพระสวดจบ เสด็จลงมาประทับที่พระที่นั่งราชกรัณยสภาใกล้ๆกัน พระราชทานคำแนะนำการแก้ปัญหาจราจรแทบทุกคืน

ปี 2553 อยู่ระหว่างประชวรประทับในโรงพยาบาล พระราชกรณียกิจอื่นภายนอกโรงพยาบาลทรงงดเสียเกือบสิ้น แต่การเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ทอดพระเนตรโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและเปิดสะพานระบายการจราจรเพื่อพสกนิกรของพระองค์ เป็นเรื่องที่ทรงถือเป็นกิจสำคัญ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นยอดแห่งผู้อดทน  อดกลั้น ในการประกอบพระราชกรณียกิจนั้นย่อมมีทั้งร้อนทั้งหนาวยาวนานและน่าเหนื่อยหนัก ดูเอาจากการพระราชทานปริญญาบัตรเถิด แม้แต่ที่ต้องทรงอดกลั้นด้วยขันติบารมีในคำจ้วงจาบหรือระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทอีกไม่รู้เท่าไร อย่าลืมว่า พระชนมพรรษา  83  แล้ว ทรงงานมา 64 ปีแล้ว

          ดะไลลามะเคยพูดว่าใครอย่ามาชมตัวท่านเลยว่าเป็นยอดคน ไปดูที่พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยเถิด 

ผมเคยไปเฝ้าฯเจ้าชายจิกมี กษัตริย์หนุ่มแห่งภูฎาน ตรัสว่ากษัตริย์ของท่านเป็นแบบอย่างของข้าพเจ้าในการจะครองราชย์ให้คนรัก

สุลต่านบรูไนที่เป็นผู้แทนกษัตริย์  25  ประเทศ ถวายพระพรในคราวฉลองการครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2549  เคยทูลว่า การครองราชย์นานถึง 60 ปีเป็นเพียงตัวเลข สำคัญอยู่ที่ว่า 60 ปีนั้นได้ทำอะไร

          “เป็นที่ประจักแล้วว่า ฝ่าพระบาททรงทำทุกอย่างตลอด 60 ปี ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวไทย ชาวเอเซีย และชาวโลก วาระนี้จึงทรงเป็นความภาคภูมิใจของบรรดาพระราชามหากษัตริย์ทั้งปวงโดยทั่วกัน”

          เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2552 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า  ความสุขความสวัสดีของพระองค์จะมีได้ก็ด้วยการที่บ้านเมืองมีความเรียบร้อย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มีแต่ทรงให้พวกเรามาตลอด แต่พระราชดำรัสนี้มีนัยเป็นทั้งสิ่งที่ “ทรงหวัง” “ทรงบอกให้รู้” และ”ทรงขอ”  ซึ่งน่าจะทรงประสงค์ยิ่งกว่าคำถวายพระพร  ” ทรงพระเจริญ”

          ไหนว่า ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย

           แล้วเรื่องอย่างนี้  เราคนไทย   จะพร้อมใจกันจัดถวายได้ไหมครับ

                 (เครดิต โดย ภาณุมาศ_ทักษณา)  
คำสำคัญ (Tags): #ภูมิพลอดุล(ย)เดช
หมายเลขบันทึก: 457795เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท