โรซ่าพาเเซ่บ : "ปัญญาเป็นแก้วเเห่งนรชน" เยี่ยมเยียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๗


ข้อสรุปของเวทีพูดคุยเล็กๆในบ่ายวันนี้ ก็พอได้เห็นเส้นทางการก้าวย่างของทางโรงเรียนว่า แนวทางการพัฒนาจะเป็นไปตามแนวทางใด ...ขอให้กำลังใจคณะครูทุกท่านครับ

ไม่ห่างจาก อำเภอโพนพิสัยมากนัก เป็นที่ตั้งของ  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๗ จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่ที่ ๑๘ ตำบลจุมพลอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นโรงเรียนประเภทประจำกินนอน แบบศึกษาสงเคราะห์ จัดการศึกษาแบบให้เปล่า ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเน้นการประกอบอาชีพเป็นหลักในปัจจุบันทีนักเรียนรวมชาย หญิงทั้งหมด จำนวน ๙๑๐ คน  ถือว่าเป็นโรงเรียนประจำขนาดใหญ่ ภาระหน้าที่รับผิดชอบของครูก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักพอสมควร

 

พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า ๕๗๐ ไร่เศษ ดังนั้นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจของโรงเรียนก็คือ การปลุกพืชเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กแล้ว พื้นที่เกษตรเหล่านี้ยังเป็นแหล่งผลลิตทางการเกษตร ส่งต่อไปยังโรงอาหารของโรงเรียนอย่างครบวงจร

ด้วยความพร้อมของงบประมาณ และอัตรากำลังครูของโรงเรียน ปัญหาในการจัดกระบวนการเรียนการสอนจึงไม่มีปัญหามากนัก หากแต่ภารกิจที่หนักหน่วงของครูที่ต้อวงต้องกำกับดูแล เด็กนักเรียนกินนอนตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็เป็นงานที่หนัก ใช้ความอดทนและอุดมการณ์ของคนเป็นครู ด้วยสถานการณ์แบบนี้ทำให้บุคลากรมีการย้ายบ่อยๆ  ผอ. ทัษนีย์ สิงหวงศ์   ได้เปรยๆว่า เหนื่อยบ้างเหมือนกันที่ต้องเริ่มต้นใหม่ในหลายครั้ง จากการที่ครูมีอัตราการย้ายออกบ่อยครั้ง ทำให้งานบางงานต้องเริ่มต้นใหม่โดยครูคนใหม่ที่รับผิดชอบ  

ช่วงบ่ายๆพวกเราทีมงานโรซ่า ได้เดินทางมาติดตามให้กำลังใจโรงเรียนในฐานะ ๑ ใน ๒๐ โรงเรียนตามโครงการโฮมฮักลูกหลานโภชนาการดี ปี ๒๕๕๔ พร้อมกับเปิดวงสนทนาเล็กๆเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมงาน คระครูและ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโพนพิสัย โดยเฉพาะการหารือในประเด็น การพัฒนาโรงเรียนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ

เป็นความประทับใจตั้งแต่แรกเริ่มในการต้อนรับทีมงาน ด้วยความใส่ใจของทางโรงเรียน มีการจัดชุดการแสดงของเด็กนักเรียนที่ดูตระการตา น่าประทับใจ  เมื่อชมการแสดงของเด็กๆจบลงทั้งหมด ก็เห็นได้ว่าทางโรงเรียนมีความพร้อมและ ศักยภาพของเด็กที่นี่ไม่ธรรมดา เด็กมีความกล้าแสดงออก ร่าเริง สดใสตามวัย ทางด้านหลังห้องประชุมมีโครงงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและ โชว์ความสามารถทางกระบวนการคิดของเด็กในหลายๆกิจกรรมผ่านโครงงาน การแสดงละครแบบ Role play ผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานหัตถกรรมผลิตโดยเด็กนักเรียน รวมไปถึงภาพกิจกรรมของเด็กๆที่จัดแสดงไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 

ครูเก๋ ณหัย บัวแย้ม หนึ่งในทีมงานโฮมฮักลูกหลานโภชนาการดี ถือโอกาสทักทายกับเด็กๆที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ชวนกันร้องเพลง ครูเก๋ร้องเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” เด็กๆร้องคลอกันไปบรรยากาศที่ดูไม่คุ้นเคยกลายเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานผ่อนคลายเป็นอย่างมาก

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ มีเด็กนักเรียนผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ทำกิจกรรมรณรงค์การล้างมือ โดยออกไปเดินรณรงค์ยังตัวอำเภอ โดยเฉพาะห้างร้านต่างๆ เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ จะไปแนะนำตัวพร้อมกับ เต้นประกอบเพลงล้างมือที่ถูกวิธี เด็กๆเล่าให้ฟังว่า เวลาออกไปรณรงค์ตามร้านต่างๆในตัวอำเภอสนุกมาก ได้เชิญชวนผู้ใหญ่มาเต้นท่าสนุกๆที่เป็นการสอนล้างมือผ่านบทเพลง กิจกรรมนี้ได้ผลเป็นอย่างดี เด็กๆมีความสุขในการเดินรณรงค์ ให้ความรู้สาระผ่านการแสดง ทำให้การรณรงค์ลักษณะนี้มีสีสันไม่น้อย

โครงงานต่างๆที่นำมาแสดงก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่นโครงงานทำน้ำหอมจากพืช (นำไปดับกลิ่นห้องน้ำ) โครงงานการทำเทียนสมุนไพร,โครงงานการทำน้ำมันหอมระเหย,โครงงานการทำยาฆ่าแมลงจากพืชสมุนไพร,โครงงานทำชาสมุนไพร  และกิจกรรมการแกะสลักผลไม้ของเด็กที่วิจิตรบรรจง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นความสามารถของเด็กๆที่ใช้กระบวนการคิดผ่านโครงงาน ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กทำงานวิจัยง่ายๆ โครงงานหลายชิ้นถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาได้เลยทีเดียว

สำหรับการพัฒนาโรงเรียนเพื่อก้าวสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้รับการประเมินอยู่ในระดับทอง และกำลังจะก้าวไปสู่ระดับเพชร ผ่านการประเมินจากทางระดับจังหวัดแล้ว และ ได้รับคำแนะนำจากผู้ประเมิน ยังคงมีข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่สามารถประเมินผ่านโรงเรียนส่งเสริมระดับเพชรได้

ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า ปัญหาเรื่องเด็กอ้วนเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ทางโรงเรียนก็มีมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านอื่นๆที่ทำให้โรงเรียนต้องพัฒนาปรับปรุงเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมินจากคณะกรรมการประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ สำหรับปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ต้องปรับปรุงในหลายส่วน เนื่องด้วยขนาดพื้นที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ดังนั้นการจัดการสภาพแวดล้อมก็ยากลำบากในการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก

ความพร้อมในการรองรับการประเมินในตอนนี้ ถือว่าทางโรงเรียนเตรียมความพร้อมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมจากภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียน,ครู,เจ้าหน้าที่ รพ.สต., รวมไปถึงชุมชนด้วย

การประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เปรียบเสมือนการทำข้อสอบที่รู้โจทย์เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่าทางโรงเรียนจะตอบโจทย์นั้นอย่างไร? ถึงจะสอบผ่านทั้งนี้การสอบผ่านนั้นก็หมายถึง สุขภาวะของเด็กนักเรียนที่จะได้รับผลจากการสอบผ่านของโรงเรียน

ข้อสรุปของเวทีพูดคุยเล็กๆในบ่ายวันนี้ ก็พอได้เห็นเส้นทางการก้าวย่างของทางโรงเรียนว่า แนวทางการพัฒนาจะเป็นไปตามแนวทางใด ...ขอให้กำลังใจคณะครูทุกท่านครับ

 

-------------------------------------------------------------------------------

การเข้าเยี่ยมครั้งที่ ๑ ตามโครงการ "โฮมฮักลูกหลานโภชนาการดี" สนับสนุนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ปี ๒๕๕๔"

ระหว่างวันที่ ๒๘ ส.ค.๕๔ - ๒ ก.ย.๕๔

สนับสนุนโดย บริษัทไฮคิว อุตสาหกรรม จำกัด ร่วมกับ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๗ จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 18 ตำบลจุมพลอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

หมายเลขบันทึก: 457611เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เมื่อก่อนนี้ การได้กินปลาทู ปลากระป๋อง ปลาหมึก หอยแครง หรืออาหารทะเลนี่ สำหรับเด็กๆต่างจังหวัดนั้น ก็ราวกับได้มีโอกาสขึ้นสวรรค์เลยนะครับ

ที่ ราชประชานุเคราะห์สิ่งที่ประทับใจคือ สวนเกษตรที่นักเรียนปลูกไว้สำหรับอาหารกลางวัน พร้อมพรักจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท