การร่วมเสวนากับนักเรียนโรงเรียนชาวนา


การเสวนา เป็นความแบบ Explicit knowledge

การร่วมเสวนากับนักเรียนโรงเรียนชาวนา

    จากการเข้าร่วมเสวนากับสมาชิกโรงเรียนชาวนาในกลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและแนวคิดของนักเรียนโรงเรียนชาวนาที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในรูปแบบของการจัดการความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการทำนาข้าวให้ประสบผลสำเร็จตามแนวทางชีวภาพที่ไม่ทำร้ายตัวเองและสิ่งแวดล้อม โดยขอนำเสนอประเด็นที่ได้รับจากการร่วมเสวนาในกลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี สรุปได้ดังนี้

    1. การเริ่มต้นกับโรงเรียนชาวนาและเป้าหมายของโครงการ

       จากการร่วมเสวนา พบว่าการเริ่มต้นของนักเรียนโรงเรียนชาวนากับมูลนิธิข้าวขวัญนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ในการทำนาข้าวและการทำเกษตรกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ซึมเศร้า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ดินแข็ง ดินเป็นกรด ทำให้ต้องใช้ต้นทุนจำนวนมากขึ้นในการบำรุงรักษาดินและมีอาการเจ็บป่วยอันเกิดจากสารพิษ ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานนี้เอง ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่คิดหาวิธีที่จะลดสารเคมีและบำรุงรักษาดินให้ฟื้นคืนสภาพเดิม โดยคิดว่าเกษตรอินทรีย์น่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ในช่วงแรกมีเกษตรตำบลมาให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ทำไม่ต่อเนื่องและจริงจัง จึงยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการทำนาโดยใช้สารเคมี เนื่องจากเห็นผลเร็วและใช้ระยะเวลาสั้น จวบจนมูลนิธิข้าวขวัญ เริ่มเข้ามาให้ความรู้อย่างจริงจังผ่านกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีกลุ่มชาวนาจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการทำนาและการเกษตรชีวภาพและมีความศรัทธากับมูลนิธิฯ เข้ามาเป็นนักเรียนชาวนาตามโครงการ โดยได้ศึกษาและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งผลที่ได้ทำให้ลดต้นทุนการผลิต สภาพดินไม่เป็นกรดและสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ และเริ่มมีผู้สนใจอยากเข้าร่วมกับโครงการมากขึ้น เพราะเห็นผลจากนักเรียนชาวนาและบางคนนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนไปบอกต่อกับชาวบ้านและได้ผล จึงมีผู้สนใจอยากเข้ามาเป็นนักเรียนชาวนามากขึ้น

        2. การบริหารจัดการโครงการ

            การบริหารจัดการกลุ่มของโรงเรียนชาวนานั้น จะมีโครงสร้างการและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น ประธาน กรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก เป็นต้น รวมทั้งการเรียนในแต่ละหลักสูตรที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ ซึ่งการดำเนินงานก็จะเป็นลักษณะช่วยกันทำตามศักยภาพของแต่ละคน โดยมูลนิธิฯ เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวนาเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี สำหรับกิจกรรมของกลุ่มนั้นได้ผลัดเปลี่ยนดูตัวอย่างของสมาชิกในกลุ่มเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งได้มีโอกาสศึกษาดูงานและเยี่ยมต่างกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประเพณีพื้นบ้าน วัฒนธรรมต่างกลุ่ม เป็นต้น สำหรับปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานกลุ่มนั้น คือการขาดความรู้ในเรื่องการทำบัญชีและการควบคุมการจ่ายเงินในการซื้อของต่างๆ เป็นต้น

         3. บุคลากรและการพัฒนางาน

            นักเรียนชาวนาส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการทำเกษตรชีวภาพ ซึ่งทำให้มีความง่ายต่อการทำความเข้าใจในวิธีการดำเนินงาน โดยให้นักเรียนเสนอทางเลือกในการเรียนรู้ที่อยากเรียน และมีความต้องการให้คุณอำนวยเป็นผู้นำความรู้ใหม่ๆ มานำเสนอและถ่ายทอดแก่นักเรียน โดยต้องสอนให้ทุกคนเข้าใจในทุกขั้นตอนอย่างละเอียดไม่ให้ข้ามขั้นตอน และที่สำคัญมีนักเรียนชาวนาบางส่วนที่หายไปในระหว่างทาง อันเนื่องมาจาก การเรียนที่ยากทำให้ตามไม่ทัน อยากเห็นผลที่รวดเร็ว ทันใจ และบางคนอดทนไม่พอ บางคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีทำนายังไปใช้สารเคมีอยู่ เป็นต้น ซึ่งพอมาสัมผัสกับวิธีการของโรงเรียนชาวนาแล้ว ก็พบว่าผิดจากที่คาดไว้จึงทำให้เขาเหล่านั้นหายไป

    4. หลักสูตรการเรียนการสอน

       หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนชาวนา นักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมดี คือ ( 1) การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี (2) การปรับปรุงบำรุงดิน และ (3) การพัฒนาพันธุ์ข้าว สำหรับการเรียนนั้นชาวนาบางคนเห็นว่าอาจจะมีอุปสรรคที่ไม่มีเวลา และเรียนมากๆ จะปวดหัว ซึ่งอาจะเป็นด้วยวัยและความพร้อมในการเรียนของแต่ละคน ซึ่งทุกคนเห็นว่าเวลาเรียนอาทิตย์ละ 1 วัน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เหมาะสมดีแล้ว โดยอยากให้มีการทบทวนหลักสูตรและเนื้อหาเป็นระยะๆ เพื่อความทันสมัยและสามารถปรับใช้ให้เข้าได้กับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งในอนาคตอยากให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ให้หลากหลายศาสตร์ เช่น การบริหารจัดการ การตลาด เทคโนโลยี เป็นต้น

       5. งบประมาณ

           ในการดำเนินงานของนักเรียนชาวนาในรุ่นแรกมูลนิธิจะให้งบประมาณเพื่อจัดทำกองปุ๋ยประมาณสามหมื่นบาท โดยในส่วนของการศึกษาดูงานและการประชุมของนักเรียนชาวนาทางมูลนิธิฯ จะเป็นผู้จัดให้ ซึ่งถ้ามีงบประมาณมาทุกคนก็จะร่วมกันกำหนดแนวทางในการใช้งบประมาณนั้นๆ โดยนักเรียนชาวนาส่วนใหญ่ต่างมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานมากกว่าสนใจเรื่องงบประมาณ ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะดำเนินงานต่อไปแม้จะไม่มีงบประมาณก็ตาม

         6. อะไรคือความสำเร็จของโรงเรียนชาวนา

            นักเรียนชาวนาเห็นว่าความสำเร็จของพวกเขาคือการเรียนครบตามหลักสูตรสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชาวบ้านคนอื่นๆ การขยายความรู้และชักชวนให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนชาวนาให้มากขึ้น ซึ่งต้องแสดงให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้เกษตรอินทรีย์และเข้าร่วมเป็นนักเรียนชาวนา ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้นทุนในการทำนาลดลง แต่ได้ผลผลิตที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น และที่สำคัญครอบครัวต้องเห็นด้วยและสนับสนุนจึงจะสำเร็จ โดยมีชาวนาท่านหนึ่งแสดงเส้นทางในการเรียนรู้ของเขาได้อย่างน่าสนใจ คือ

 

  ต้องมีแรงจูงใจ => เรียนรู้จากการทำ => รู้หลากหลายศาสตร์ => สร้างองค์ความรู้ => ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน

 

        สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการไปสู่ความสำเร็จของนักเรียนชาวนา คือการที่ต้องอาศัยคุณอำนวยตลอดเวลา บางคนเชื่อว่าถ้าขาดคุณอำนวยเมื่อไหร่ โครงการอาจจะไม่สำเร็จได้ อีกทั้งนักเรียนบางคนยังไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรู้แต่ขาดทักษะการถ่ายทอดที่ดี และแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน บางคนเรียนรู้ได้เร็วแต่บางคนช้า ซึ่งต้องอาศัยความอดทนในการเรียนเป็นอย่างยิ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นักเรียนชาวนาเห็นว่าพวกเขามีความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาอยู่แล้ว และมูลนิธิฯ มาเติมเต็มความรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และที่สำคัญประเพณีวัฒนธรรม เดิมๆ ได้หวนกลับคืนมา เช่น การทำขวัญข้าว แม่ธรณี เป็นต้น สุดท้ายมีข้อสรุปที่น่าสนใจของกลุ่มชาวนาคือ “ ใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อไม่ใช้” นั่นคือ เมื่อดินดีและสภาพแวดล้อมดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หรือใช้แต่น้อย

สรุป 

     การจัดการความรู้ของชุมชน เป็นการสะท้อนถึงวิธีการในการผสมผสานระหว่างภูมิ ปัญญาและวิธีคิดกับความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของครอบครัวและชุมชน การดำเนินกิจกรรมของนักเรียนชาวนาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ พลังแห่งการรวมกลุ่ม และพลังแห่งการเอื้ออาทรของนักเรียนชาวนาที่ต้องการผลิกฟื้นธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง ภายใต้การบริหารจัดการความรู้ที่นำทุนทางสังคมและศักยภาพของชาวนาแต่ละคนที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสามารถ

http://www.edtechno.com/site/index.php?option=com_content&view=article&id=52:%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%93-%m-%E0%B9%92%E0%B9%95-%E0%B9%91%E0%B9%91-%M-%S&catid=1:%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%93-%m-%E0%B9%91%E0%B9%96-%E0%B9%91%E0%B9%94-%M-%S&Itemid=53

คำสำคัญ (Tags): #ITT152
หมายเลขบันทึก: 456090เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2011 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท