ทำไม... ต้องวิจัยเชิงคุณภาพ


งานวิจัยหลายเรื่องที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นชุมชน และความต้องการของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนนำไปใช้ไม่ได้ จึงเกิดการพัฒนางานวิจัยที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ

ทำไม ...ต้องวิจัยเชิงคุณภาพ                เดิมทีการวิจัยทางสังคมศาสตร์อิงอยู่บนพื้นฐานความเชื่อตามแนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และใช้แนวทางการวิเคราะห์ตามกระแสหลัก ที่เน้นการสำรวจและการวิจัยเชิงปริมาณที่มุ่งตอบคำถามและสร้างความน่าเชื่อถือบนตัวเลข หรือข้อมูล  ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขสถิติมากกว่า ทำให้มองไม่เห็นความสำคัญของบทบาทและพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมา ละเลยความเป็นปัจเจกของบุคคล รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจที่ตัวเลขหรือสถิติไม่สามารถหาคำตอบได้ นักวิจัยให้ความสำคัญกับคนในฐานะแค่เป็นตัวแปรของการวิจัยหรือเป็นแค่กลุ่มของตัวแปร แต่ไม่มีโอกาสแสดงตัวตนที่แท้จริงในฐานะผู้กระทำ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคนได้เท่าที่ควร 

                นอกจากนี้งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเชิงปริมาณก็มีจุดอ่อนที่นำไปใช้ประโยชน์ในการเข้าใจประเด็นปัญหาทางสังคมในวงกว้างได้จำกัด เนื่องจากไม่ให้ความสำคัญกับบริบทของสิ่งที่ศึกษา ทำให้ผลการศึกษาที่ได้ไม่เชื่อมโยงกับสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมของเรื่องที่ศึกษา

                จากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดแนวคิดหลังปฏิฐานนิยม (Postpositivism) ที่ทำให้นักวิจัยทางสังคมศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ เปิดกว้างและเริ่มให้ความสนใจที่จะเปลี่ยนแนวคิด วิธีคิด และเครื่องมือในการทำวิจัยใหม่ ทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพได้รับความสนใจมากขึ้น

                ปัจจุบันนักสังคมศาสตร์และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสนใจกับการวิจัยเชิงคุณภาพหรือวิธีการเชิงคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าวิธีการนี้สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน  ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการนี้มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทตามธรรมชาติ  ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในมุมของผู้กระทำ ยอมรับอัตวิสัยของผู้ที่ถูกศึกษา วิเคราะห์เรื่องราวและชีวิตทางสังคมที่มีบุคคลเป็นผู้กระทำและเป็นผู้ที่เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของเวลาและสถานการณ์

                ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านักสังคมศาสตร์ในปัจจุบันที่สนใจการวิจัยเชิงเชิงคุณภาพจะละเลยการวิจัยเชิงปริมาณ  วิธีการทั้งสองอย่างนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้เพราะมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ 

               งานวิจัยใดที่สามารถนำทั้งวิธีการเชิงคุณภาพและวิธีเชิงปริมาณมาเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม งานวิจัยนั้นจะเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์และน่าเชื่อถือได้มากกว่า

หมายเลขบันทึก: 45593เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท