พยานบุคคล รู้เห็นการเกิด v.รู้เห็นการคลอด


ในการพิสูจน์การเกิด มีประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานทะเบียนราษฎรหลายแห่งตั้งประเด็นไว้ถึงพยานรู้เห็นการเกิด ที่ดูเหมือนว่าจะมีความสับสน ไปปนกับ "พยานรู้เห็นการคลอด" ซะแล้ว เคสนี้เป็นเคสที่พยายามแยกแยะให้เห็นว่า พยานรู้เห็นการเกิด ไม่จำเป็นต้องรู้เห็นการคลอด ก็ได้นินาาา

บันทึกการตรวจสอบข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในการพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของนายกิสัน
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[1] [2]
ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2554

จากการลงพื้นที่บ้านดอนโจด ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัด อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ได้มีการประชุมร่วมกับบุคคลที่รายนามปรากฏท้ายบันทึกนี้ (ปรากฎตามเอกสารแนบที่ 1 พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวของแต่ละบุคคล) ที่ศาลาวัดดอนโจดวนาราม คุ้มบ้านดอนโจด  หมู่ 1  ตำบลบ้านแมด  อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการเกิดในประเทศไทยและสถานที่เกิดของนายกิสัน (ปรากฏตามภาพถ่ายที่บันทึกการประชุมวันดังกล่าว เอกสารแนบที่ 2)
 

นายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาคร เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย(กลุ่มลาวอพยพ) ได้ให้ถ้อยคำว่า ในช่วงปีพ.ศ.2518 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว เกิดการสู้รบ ทำให้ผู้ชาย ผู้นำครอบครัวหลายครอบครัวไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศลาวต่อไปได้ โดยเฉพาะนายเหลื่อม นายบอน (สามีของนางไม้) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารฝ่ายลาวขวา จึงได้หนีภัยความตายอพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยแต่ละคน แต่ละครอบครัว ต่างคนต่างมา

นายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาครให้ถ้อยคำว่า เมื่ออพยพเข้ามาแล้ว ต้องแอบซ่อนอยู่ตามภูเขา จนกระทั่งทางการของประเทศไทย ได้จัดตั้งพื้นที่พักพิงรองรับผู้หนีภัยการสู้รบอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีชื่อเรียกกันโดยทั่วไป ว่า “ศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือ” หรือ “ศูนย์/ค่ายอพยพบ้านหนองเรือ” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเรือ หมู่ที่ 8 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี (ในเวลาต่อมาได้มีการโยกย้ายคนลาวอพยพกลุ่มนี้ไปยัง “ศูนย์หรือค่ายอพยพบ้านแก้งยาง” ตั้งอยู่ที่บ้างแก้งยาง หมู่ที่ 6 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี) ปัจจุบันศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือเป็นที่ทำการของโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกิยรติ ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อยู่ในเขตพื้นที่ปกครองของบ้านป่าไม้ หรือบ้านเจริญชัย หมู่ที่ 14 ตำบลคอแลน ซึ่งเพิ่งเป็นหมู่บ้านที่เพิ่งตั้งขึ้น) [3]

นายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาคร ได้พบกับนายหนูพัดและนางดำนวนที่ศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือ[4] และตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน โดยบ้านของนายเหลื่อม ตั้งอยู่ห่างจากบ้านนายหนูพัด ประมาณ 8 หลัง, บ้านของนายบอนและนางไม้ ตั้งอยู่ติดกับบ้านนายหนูพัด บ้านของนางสาครตั้งอยู่ห่างจากบ้านนายหนูพัด ประมาณ 1 หลัง (ปรากฏตามสำเนาแผนที่ตั้งศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือ เอกสารแนบที่ 3)

นายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาคร ยืนยันว่า แต่ละคนไม่ได้รู้เห็นกับสายตาตนเองว่านายกิสันหรือเด็กชายกิสันคลอดออกจากครรภ์ของนางดำนวน แต่นายเหลื่อม นางไม้และนางสาคร ต่างยืนยันว่า รู้เห็นการเกิดนายกิสัน เนื่องจากเป็นเพื่อนบ้านซึ่งรู้เห็นตั้งแต่บุญนอง หรือมั่น (ลาว/อีสานออกเสียง “หมั่น”) ลูกสาวคนที่สามของนายหนูพัดและนางดำนวน[5] ซึ่งเกิด/คลอดในค่ายอพยพบ้านหนองเรือ ต่อมาก็ได้เห็นนางดำนวนตั้งท้องและเมื่อถึงวันคลอดก็มีหมอตำแยหรือผู้ทำคลอด คือนางบูรณ์ (ต่อมาเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ทำหน้าที่คลำท้อง กลับหัว-จัดท่าเด็กในท้อง เพื่อให้เด็กคลอดออกจากครรภ์มารดาโดยปลอดภัย โดยมีเพื่อนบ้านบริเวณเดียวกันมาช่วยต้มน้ำ คอยช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ และมีนางหนูกร ร่วมในการทำคลอดด้วยและเป็นผู้ตัดสายสะดือให้แก่ทารกที่มีเพศชาย ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกชื่อว่า “กิสัน” เพราะขณะเกิดตัวสั้น โดยเด็กชายกิสันหรือนายกิสันคลอดจากครรภ์นางดำนวน เมื่อวันที่และเดือนอะไร ไม่มีผู้ใดจำได้หรือยืนยัน เพียงแต่ระบุว่าเป็น พ.ศ. 2524

นายเหลื่อม นางไม้ และนางสาคร รวมถึงชาวบ้านอีกหลายคนยืนยันว่า นางหนูกรเคยคอยช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างทำคลอด และร่วมในการทำคลอด รวมทั้งทำหน้าที่ตัดสายสะดือให้กับนางบุญนอง พี่สาวของนายกิสัน นางสาวอรทัยลูกของนายเสือนและนางตู้ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ค่ายอพยพด้วยกัน นอกจากนี้แล้วนางหนูกรยังทำหน้าที่เป็นคนตัดสายสะดือให้กับนางสาวแจ่มจันทร์ และนางสาวทวีพรเป็นลูกของนายบอนและนางไม้เอง

นายเหลื่อม นางไม้ และนางสาคร ต่างก็เห็นนายหนูพัดและนางดำนวนเลี้ยงดูเด็กชายกิสัน นามนคร และต่อมาเมื่อมีการโยกย้ายคนลาวอพยพในศูนย์ฯ บ้านหนองเรือ ไปยังศูนย์ลาวอพยพบ้านแก้งยาง นางดำนวนยังตั้งท้องและให้กำเนิดลูกอีก 2 คน คือ นางสาวสุนันท์ และนายปานสุรินทร์ นายเหลื่อม นางไม้และนางสาครจึงรู้เห็นการเกิด การเติบโต การอยู่อาศัยของนายกิสันซึ่งเป็นลูกของนายหนูพัดและนางดำนวน

ต่อมาเมื่อทางการไทยสั่งให้ปิดศูนย์ลาวอพยพบ้านแก้งยาง คนลาวอพยพในศูนย์ฯ บ้านแก้งยางหลายครอบครัวได้แยกย้ายกันไป บางส่วนย้ายไปอยู่ที่บ้านดอนโจด (ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปกครองบ้านหาดทรายคูณ) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย โดยนางไม้และนางสาครพร้อมด้วยครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านดอนโจด ในราวปี พ.ศ.2533 ส่วนนายเหลื่อมได้ย้ายครอบครัวมาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านแก้งยาง หมู่ที่ 6 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก

สำหรับนายหนูพัด นางดำนวนและลูก 6 คน (ได้แก่ นายบุญสนอง นางบุญประคอง นางบุญนอง นายกิสัน นางสาวสุนันท์ และนายปานสุรินทร์) ก็ย้ายมาอาศัยอยู่ที่บ้านดอนโจดในราวปลายปี พ.ศ.2533 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี  พ.ศ.2534 นายหนูพัดและครอบครัวได้ถูกส่งตัวไปยังศูนย์อพยพบ้านนาโพธิ์ จังหวัดนครพนม เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปประเทศที่ 3 แต่ด้วยความกลัวว่าอาจถูกส่งกลับประเทศลาว นายหนูพัดและครอบครัวจึงหลบหนีจากศูนย์อพยพบ้านนาโพธิ์เมื่อประมาณปี 2537 และกลับมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่บ้านดอนโจด ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 นายเหลื่อม นายบอนและนายหนูพัด ได้นำพาไปดูพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือ หรือ ที่ตั้งสำนักงานโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ แปลงที่ fpt 3.3/1 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านป่าไม้ หรือบ้านเจริญชัย หมู่ที่ 14 ตำบลคอแลน อำบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี (ห่างจากตัวหมู่บ้านหนองเรือประมาณ 1 กิโลเมตร) รวมทั้งเดินทางไปยังพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ลาวอพยพบ้านแก้งยาง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราและมันสำปะหลัง ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแก้งยาง หมู่ที่ 6 ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี (ห่างจากตัวหมู่บ้านแก้งยางประมาณ 1 กิโลเมตร) โดยศูนย์ลาวอพยพบ้านแก้งยางอยู่ห่างจากศูนย์ลาวอพยพบ้านหนองเรือประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร (เขื่อนสิรินธรก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำเมื่อประมาณปี 2513) ตรงข้ามกับบ้านดอนโจดซึ่งเป็นชุมชนในเขตปกครองของบ้านหาดทรายคูณ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแมด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สามารถเดินทางด้วยเรือพายจากพื้นที่ตั้งศูนย์อพยพบ้านแก้งยางไปยังบ้านดอนโจด โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง

นายเหลื่อม นายบอน และนายหนูพัดให้ข้อมูลว่าศูนย์ลาวอพยพทั้งสองแห่งมีลักษณะเป็นเหมือนค่ายทหาร มีเวรยามตรวจการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการตรวจตราคนเข้า-ออกค่อนข้างเคร่งครัด โดยผู้ที่เข้า-ออกได้โดยปกติต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์ฯ เท่านั้น เว้นแต่กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง หรือญาติพี่น้อง (ที่มีสัญชาติไทย) ของผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้เข้า-ออกได้ จึงมีคนในพื้นที่ใกล้เคียง (เช่น บ้านหนองเรือ หรือบ้านแก้งยาง) เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยเข้า-ออก และทราบเรื่องราวภายในศูนย์ฯ

นายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาคร ยืนยันว่า ตนเป็นผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยกับบิดามารดาของนายกิสันและครอบครัวนายกิสันเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยถูกเรียกไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลคอแลน เพื่อรับรองการเกิดของนายกิสันในฐานะผู้รู้เห็นการเกิด ด้วยเพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนายทะเบียนต้องการพยานบุคคลที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ทั้งยังเน้นให้มีพยานเป็นข้าราชการ ครู ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย

ข้อพิเคราะห์

จากข้อเท็จจริงจากการสอบปากคำและการลงพื้นที่ดูสถานที่ต่างๆ ในเบื้องต้นข้างต้น จะเห็นได้ว่า ยกเว้นนางหนูกร พูนพิน ที่อยู่ช่วยทำคลอดนายกิสัน ทำหน้าที่ตัดสายสะดือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานรู้เห็นการคลอดและการเกิดของนายกิสัน

แต่ผู้ให้ถ้อยคำอย่างนายเหลื่อม นายบอนและนางไม้ และนางสาคร ล้วนมิใช่ผู้รู้เห็นกับสายตาตนเองว่านายกิสันหรือเด็กชายกิสันคลอดออกจากครรภ์ของนางดำนวน

แต่ถ้อยคำที่นายเหลื่อม นายบอน นางไม้และนางสาครที่ยืนยันว่าเป็นเพื่อนบ้าน โดยมีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงบ้านของนายหนูพัดและนางดำนวน(บิดาและมารดาของนายกิสัน)  รู้เห็นว่านางสาวบุญนอง ลูกสาวคนที่สามของนายหนูพัดและนางดำที่เกิด/คลอดในค่ายอพยพบ้านหนองเรือ ต่อมาเห็นนางดำนวนตั้งท้อง และเมื่อถึงวันคลอดก็มีหมอตำแยหรือผู้ทำคลอด คือนางบูรณ์ (ต่อมาได้รับการจัดส่งให้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ทำหน้าที่คลำท้อง กลับหัว-จัดท่าเด็กในท้อง เพื่อให้เด็กคลอดออกจากครรภ์มารดาโดยปลอดภัย โดยมีเพื่อนบ้านบริเวณเดียวกันมาช่วยต้มน้ำ คอยช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ และมีนางหนูกรร่วมทำคลอดและ เป็นคนตัดสายสะดือให้แก่ทารกที่เป็นเพศชาย ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกชื่อว่า “กิสัน” เนื่องจากขณะที่เกิดทารกมีลักษณะตัวสั้น โดยเด็กชายหรือนายกิสันคลอด เมื่อวันที่และเดือนอะไร ผู้ให้ถ้อยคำทุกคนจำไมได้ แต่จำได้ ว่าเป็นปีพ.ศ.2524

จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้ให้ถ้อยคำ การลงพื้นที่ และการพิจารณาถึงความเป็นชุมชนลาวอพยพ จึงอาจพิจารณาได้ว่า ถ้อยคำที่นางหนูกร ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำคลอดทารกเพศชาย โดยทำหน้าที่ตัดสายสะดือ สามารถรับฟังได้ในฐานะเป็นประจักษ์พยาน (eyewitness) หรือเป็นพยานบุคคลที่ได้สัมผัส (perceive) ข้อเท็จจริงที่ได้ให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง คือเป็นพยานที่รู้เห็นการคลอดจากครรภ์มารดาของทารกเพศชายที่ต่อมาถูกเรียกชื่อว่ากิสัน นามนคร

ส่วนถ้อยคำของนายเหลื่อม นายบอน นางไม้ และนางสาคร ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ก็อาจรับฟังได้ในฐานะที่เป็นประจักษ์พยาน (eyewitness) ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นพยานบุคคลที่ได้สัมผัส (perceive) ข้อเท็จจริงที่ได้ให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง แม้จะมิได้เป็นผู้รู้เห็นการคลอดออกจากครรภ์มารดาของทารกเพศชาย แต่ก็เป็นพยานที่ยืนยันถึงว่านางดำนวนตั้งท้อง อุ้มครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาคือทารกเพศชาย ซึ่งเรียกว่ากิสัน นามนคร และเห็นนายหนูพัดและนางดำนวน เลี้ยงดูทารกเพศชายคนดังกล่าวในฐานะบุตรนับแต่เกิด จนเติบใหญ่

จำเป็นต้องพิจารณาประกอบด้วยว่า พยานบุคคลดังกล่าวย่อมไม่อาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็น พยานบอกเล่า (hearsay witness) ด้วยเพราะมิได้รับฟังจากการบอกเล่าของบุคคลอื่น หรือจากบันทึกที่บุคคลทำไว้  อีกทั้งมิใช่พยานแวดล้อม (Circumstantial evidence) เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลใดๆ มาอนุมานเอาอีกต่อหนึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 5462/2539)

--------------------------------------------------------------



[1] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, นักกฎหมายประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และนักศึกษาปริญญาเอกคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เอกสารชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานตรวจสอบคำร้องเรียนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก หัวข้อ “แนวคิดทางกฎหมายในการพิสูจน์และพัฒนาสถานะบุคคล” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[3] บ้านหนองเรือ บ้านแก้งยาง เป็นสองในหลายจุด/พื้นที่รองรับอย่างไม่เป็นทางการสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2517-2519  ชาวบ้านรับรู้และเรียกว่า “ศูนย์ลาวอพยพหรือค่ายลาวอพยพบ้านหนองเรือ” “ศูนย์ลาวอพยพหรือค่ายลาวอพยพบ้านแก้งยาง” อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายป้องกันจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยถ้อยคำว่า “ศูนย์ลาวอพยพ” หรือ “ค่ายลาวอพยพ” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไป

[4] นายหนูพัด และนางดำนวณ รวมถึงนางสาวบุญนอง และนายกิสัน ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวลาวอพย (บัตรสีฟ้าขอบน้ำเงิน) ที่บ้านค่ายแก้งยาง ปัจจุบันบัตรดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (ลาวอพยพ)

[5] นายหนูพัด และนางดำนวณมีลูกอีกสองคนที่เกิดที่ประเทศลาว คือคนที่หนึ่งนายบุญสนองและคนที่สองคือนางบุญประคอง

หมายเลขบันทึก: 455827เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท