ความหมายของการบริหารแบบราชการ


ความหมายของการบริหารแบบราชการ
“ระบบราชการ” หรือ “bureaucracy” เกิดจากการนำคำ 2 คำ มารวมกันคือ คำว่า Bureau กับคำว่า Cracy  คำว่า “Bureau” หมายถึง ผ้าปูโต๊ะของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลฝรั่งเศส  ส่วนคำว่า “Cracy” หมายถึง การปกครอง  ดังนั้น “bureaucracy” หมายถึง การปกครองโดยบุคคลที่นั่งทำงานบนโต๊ะเขียนหนังสือ (จุมพล หนิมพานิช, 2538: 212)
 
  คำ Bureaucracy มีผู้ให้ความหมายเป็นภาษาไทยไว้หลากหลาย เช่น ระบบราชการ, ทฤษฎีระบบราชการ, องค์กรแบบราชการ หรือการจัดองค์การแบบราชการ เป็นต้น แต่นักวิชาการส่วนใหญ่นิยมใช้คำว่า “ระบบราชการ”

กุลธน  ธนาพงศธร (2522: 155-162) ได้แบ่งความหมายของระบบราชการออกเป็น 4  กลุ่มความคิดด้วยกัน ดังนี้

  กลุ่มแรก  ให้คำจำกัดความของระบบราชการในแง่ลักษณะทางโครงสร้างพื้นฐานขององค์การ ว่าต้องมีลักษณะเช่นใด  คือ องค์การที่จะถือได้ว่าเป็นระบบราชการจะต้องประกอบด้วย การจัดลำดับอำนาจหน้าที่, ลำดับชั้นการบังคับบัญชา, การแบ่งงานกันทำตามความชำนาญ, การมีระเบียบข้อบังคับ, การมีระเบียบการจัดเก็บเอกสาร เป็นต้น

  กลุ่มที่สอง  ให้คำจำกัดความในแง่ลักษณะทางพฤติกรรมที่องค์การนั้นแสดงออกตามหน้าที่และบทบาทของตน  แบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

     -  กลุ่มที่มองพฤติกรรมที่เป็นปกติวิสัย หรือสมควรที่ระบบราชการพึงกระทำ

     -  กลุ่มที่มองพฤติกรรมของข้าราชการที่ผิดปกติ และเบี่ยงเบนออกไปซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของระบบราชการ

กลุ่มที่สาม  ให้คำจำกัดความ ระบบราชการในแง่ การดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ  องค์การใดก็ตามจะถือเป็นระบบราชการได้จะต้องมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่  ที่สามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การนั้น ๆ ได้  หากองค์การใดแม้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบราชการแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานให้สำเร็จตามที่พึงประสงค์ องค์การนั้นก็มิใช่ระบบราชการ

  กลุ่มที่สี่  ให้คำจำกัดความ  ระบบราชการโดยพิจารณาถึงบทบาทของระบบราชการ  ซึ่งแบ่งแยกออกเป็น  2  ฝ่าย

     -  ฝ่ายแรก  เห็นว่าระบบราชการเป็นสิ่งเลวร้ายก่อให้เกิดข้อเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

     -  อีกฝ่ายหนึ่ง  เห็นว่าระบบราชการเป็นสิ่งดีงาม ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย  และบทบาทที่ระบบราชการแสดงออกนั้นเป็นผลดีแก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวม

หมายเลขบันทึก: 455214เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท