คุยกับศิลปินสีน้ำ


โดยส่วนใหญ่สีน้ำเป็นสีที่แทนความรู้สึกได้มากที่สุด อย่างเช่นความรู้สึกที่มีความสุข ถ้าเป็นพวกสีน้ำมันจะให้อารมณ์ที่หนักต้องคิดนู่นคิดนี่เยอะ และเราไม่สามารถพลิกผันไปในสิ่งที่เราอยากจะทำได้

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หลังจากที่หายไปนานวันนี้ผมกลับมาพร้อมกับเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งที่เป็นทั้งศิลปินสีน้ำที่มีชื่อเสียงและครูศิลปะที่สามารถติวให้เด็กมัธยมหลายคนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันได้  โดยเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปนั่งพูดคุยที่สถาบันกวดวิชาศิลปะ ART ROOM  จังหวัดขอนแก่น และมีโอกาศได้ถามไถ่ในเรื่องต่างๆ ศิลปินคนนั้นก็คือ ดิเรก  กิ่งนอก หรือที่เรียกกันว่า อาจารย์โก๊ะ นั่นเองครับ

ในตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอาจารย์เรียนศิลปะหรือทำศิลปะมาก่อนหรือไม่? 

         ในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยได้เรียนศิลปะอยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในระหว่างที่เรียนก็ได้เข้าร่วมประกวดแล้วก็ได้รางวัลมามากอยู่เหมือนกัน แล้วพอหลังช่วงเอ็นทรานส์จึงได้เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ในสาขาจิตรกรรม รุ่นที่ 2

ในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจารย์เขียนสีน้ำมาตลอดหรือเปล่า? 

         ในช่วงเริ่มแรกต้องเรียนทั้งสีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิค ควบคู่กันไปแต่ถ้างานเรียนจะเป็นวิชาบังคับให้เขียนสีน้ำมัน กับสีอะคริลิค แต่สีน้ำก็เป็นเพียงแค่วิชาพื้นฐานในตอนเรียนปี 1 เท่านั้น แต่พอหลังจากนั้นก็เลยรู้สึกว่ายังไม่ได้ชัดเจนกับสีน้ำทั้งๆที่ในใจชอบสีน้ำมาก ก็เลยต้องศึกษาด้วยตัวเองทั้งดูตามเว็บไซด์บ้าง ตามหนังสือบ้างแล้วก็เอาเทคนิคมาทดลองดู  พอเรียนจบปริญญาตรีก็ไม่ได้มีภาระที่จะต้องทำโปรเจ็คใหญ่ๆ พวกสีน้ำมัน สีอะคริลิคแล้ว ก็เลยเลือกสิ่งที่เราชอบและศึกษาในสิ่งที่เราอยากรู้ให้มันมากขึ้น ก็เลยเลือกที่จะเป็นสีน้ำเพราะมีหลายๆอย่างให้เรียนรู้ได้เยอะดี

ภาพนี้วาดถวายพระบาทสมเด็จพ​ระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2538

คนที่จบศิลปะส่วนใหญ่จะไปทำงานเกี่ยวกับงานแนวนามธรรมหรือกึ่งนามธรรม เพราะอะไรอาจารย์จึงเลือกที่จะทำสีน้ำ? 

         โดยส่วนใหญ่สีน้ำเป็นสีที่แทนความรู้สึกได้มากที่สุด อย่างเช่นความรู้สึกที่มีความสุข ถ้าเป็นพวกสีน้ำมันจะให้อารมณ์ที่หนักต้องคิดนู่นคิดนี่เยอะ และเราไม่สามารถพลิกผันไปในสิ่งที่เราอยากจะทำได้ เช่นการปล่อยให้สีมันไหล เป็นต้น แล้วอีกอย่างรู้สึกว่ามันไกลจากตัวเราเองด้วย เพราะว่าพอออกมาใช้ชีวิตจริงๆ จะต้องมีการเดินทางมีการบันทึกและมีเวลาที่จำกัด สีน้ำก็เลยเป็นสิ่งที่สะดวกที่สุด แล้วก็แทนอารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลานั้น แล้วบันทึกเรื่องราวได้ทันที ตอนแรกหลายคนอาจจะมองว่าสีน้ำอาจเป็นแค่วิชาพื้นฐานบางคนก็มองว่าเป็นเพียงแค่สีน้ำ แต่จริงๆแล้วสีน้ำเป็นสีที่เขียนยากที่สุดในบรรดาสีทั้งหมดเลย ตอนนี้ก็เลยลองศึกษาดูว่าถ้าทำต่อไปเรื่อยๆมันพัฒนาได้ พัฒนาตัวเราเองด้วย คือเราทำแล้วเราเห็นอะไรเราต่อยอดมาเรื่อยๆเพื่อที่จะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณภาพ แล้วให้คนอื่นยอมรับว่าทำไปจนถึงจุดที่มีคุณภาพแล้วมันเป็นยังไง ไม่อยากให้มองว่าก็แค่เขียนเล่นๆไปเรื่อยๆ  พอสุดท้ายก็เลยกลายเป็นจริงจังไปเลย

ผลงานสีน้ำของอาจารย์ดิเรก  กิ่งนอก

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีทำอย่างไรถึงได้ เป็นอาจารย์สอนที่คณะเลย  

         ตอนนั้นมีทุน มิยาซาว่า เขาให้คณะละ 2 คน อาจารย์ก็เลยชวนให้อยู่ช่วยงาน คือให้สอนรุ่นน้องต่อเผื่อคอยแนะนำคอยดูแลด้วย และตอนนั้นก็ยังไม่ได้แพลนอะไรไว้ ก็ไม่ได้เตรียมตัวที่จะไปเป็นอาจารย์ ก็รับปากอาจารย์ ซึ่งก็สอนอยู่ประมาณ 2 ปีครึ่ง

 

นอกจากสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจารย์เปิดโรงเรียนกวดวิชาด้วยหรือเปล่า?

         ตอนนั้นสอนอย่างเดียวเลย  แล้วพอใกล้จะหมดสัญญา ก็เลยแพลนไว้ว่ายังชอบเรื่องการสอนอยู่ และอยากทำกิจกรรมตรงนี้ต่อ เลยคิดว่าเปิดสตูดิโอไปด้วย สอนไปด้วยคงจะดี แล้วก็ตอนนั้นมีงานอย่างอื่นด้วยเลยทำควบคู่กันไป แล้วก็ขยายมาเรื่อยๆ จนพอเริ่มมีคนรู้จักเลยได้ทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งตอนแรกเริ่มเปิดที่หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ก็เช่าบ้านทำสตูเขียนภาพประกอบให้ฝรั่งด้วย แล้วก็แบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาสอนเด็กซึ่งเป็นเด็กเล็ก จากนั้นก็เริ่มมีผู้ใหญ่มาเรียน ก็จะเป็นลูกหลานที่จะสอบเข้ามหาลัยเขาก็มาฝากเรียน พอเด็กเอ็นส์ติดเข้ามหาลัยกันคนก็เริ่มรู้จักและบอกต่อกันไปเรื่อยๆ จากนั้นเด็กเยอะขึ้นแล้วไปมาจากในเมืองไม่ค่อยสะดวกก็เลยย้ายเข้าไปที่ในเมืองเพื่อรองรับกับเด็ก

 

ลูกศิษย์ที่เป็นความภูมิใจของอาจารย์คือใครบ้าง?

         ประสบความสำเร็จในการคาดหวังก็คาดหวังแค่ว่าให้เด็กเอ็นติดก่อน ถ้าพ้นจากเราก็อาจจะมีกลับมาบ้างเรื่องการเรียนอะไรประมาณนี้ แต่ก็แนะนำให้ไปปรึกษากับอาจารย์ทางมหาลัยมากกว่า ส่วนจบไปก็มีเยอะไปเป็นสถาปนิกอะไรประมาณนี้แต่ก็ถือว่าจบไปได้มีงานทำก็ถือว่าประสบผลสำเร็จที่สุดแล้ว

นอกจากเปิดโรงเรียนกวดวิชาแล้วอาจารย์มีงานประจำที่อื่นอีกไหม?

        ทำประจำคือเขียนภาพประกอบให้บริษัทฝรั่ง 2 ที่ มีส่วนหนึ่งเขียนสีน้ำมัน เป็นงานพวกรีโปรดัก(งานลอกเลียนแบบ)ด้วยอะไรหลายๆอย่าง แล้วก็ส่วนหนึ่งจะเป็นภาพประกอบตามหัวข้อที่เขาให้มา อันนี้ส่งที่ฮอลแลนด์ เหมือนเราทำงานที่มันมาตามออเดอร์อยู่แล้วมันก็ได้ทั้งฝึกทักษะด้วยได้ตังค์ด้วย

 

ทำไมถึงได้มีฝรั่งมาจ้างให้เขียนภาพประกอบ?

         คนหนึ่งมาเจอกันที่งานนิทรรศการแล้วก็รู้จักกันมาเรื่อยๆ เขาก็มาหาแล้วก็มีโปรเจ็คว่าเขาย้ายมาจากที่อเมริกาแล้วจะมาอยู่ที่ขอนแก่น เขาถามว่าทำงานแนวนี้ได้ไหมเราก็อ่านดูมันไม่ยากก็เลยทำ ส่วนที่ฮอลแลนด์เป็นบริษัทเพื่อน พอดีเพื่อนเป็นคนไทยแต่ได้แฟนเป็นคนที่นู่นแล้วบริษัทแฟนเค้าทำงานเกี่ยวกับกราฟฟิก แล้วพิมพ์ลงพวกเซรามิก ส่วนหนึ่งต้องมีงานเขียนมือเพื่อที่จะเอาไปพิมพ์บนเครื่องเคลือบอีกที  ซึ่งขนาดงานก็จะประมาณกระดาษ A4 ซึ่งราคาก็อยู่ที่ประมาณ500 800 1500 ต่อแผ่นหนึ่ง แล้วแต่รายละเอียดของงาน บางทีลูกค้าสั่งมาบางทีเป็น 100 แผ่น ก็ต้องเฉลี่ยทำอาทิตย์ละ 20-30 รูป

บรรยากาศระหว่างการสนทนา

ถ้างานประจำเยอะขนาดนี้อาจารย์เอาเวลาไหนไปแสดงงาน?

         ก็ทำไปเรื่อย คือถ้าว่างจากงานแรกก็ย้ายมาทำอีกงาน อย่างงานประจำก็จะมีช่วงที่หยุดพักก็พักเป็นเดือนเหมือนกัน  คืองานจะเป็นตามใบสั่ง ถ้าเราทำเสร็จเร็วก็จะได้หยุดหลายวัน ก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ตอนหลังๆมาเราก็รู้สึกว่ามันเยอะไปก็เลยหยุดๆลงไว้  เพราะตอนแรกก็สนุกทำอยู่ แต่พอหลังๆรู้สึกอิ่มตัวละ อีกอย่างนั่งอยู่กับที่นานๆไม่ค่อยดีกับร่างกายเท่าไหร่

 

อนาคตข้างหน้าอาจารย์จะมีโครงการทำสีน้ำต่อหรืออย่างไร?

         ก็มีโครงการทำสีน้ำต่อ ก็มีคิดไว้ว่าสิ่งที่มีอยู่ในใจยังทำไม่หมด คิดว่าคงได้ทำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตอนแรกปลายปีจะมีแสดงงานที่กรุงเทพ แต่ต้องหยุดไว้ก่อนเพราะพึ่งเสร็จงานจากเวียดนามไป ส่วนปีหน้าก็มีโครงการที่จะไปกัมพูชาไปเขียนนครวัด โดยจะมีแกลลอรี่ที่กรุงเทพออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เพื่อไปเขียนรูปในสถานที่ต่างๆ และต้องทำงานให้ทางแกลลอรี่ 1 ชุดเพื่อนำไปแสดงงาน โดยแกลลอรี่ที่ว่านี้คือ 333แกลลอรี่ ที่อาคารสีลม

 

ภาพบรรยากาศการแสดงงานที่เวียดนามของ อาจารย์ดิเรก  กิ่งนอก

อาจารย์มีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับการเปิดกว้างศิลปะในเมืองไทยแตกต่างยังไงกับต่างประเทศ?

         การมีอารมณ์ร่วมกับศิลปินในบ้านเราจะน้อยกว่า ในบางครั้งตัวของศิลปินเอง ก็อยู่ไกลจากผู้คนมากเกินไปด้วย เหมือนคนธรรมดาเข้าไม่ถึง แต่ก็มีบางกลุ่มที่เปิดตัวสู่สังคมมาเพื่อให้คนได้รู้จักมากขึ้น คือจะมี 2 กลุ่ม อย่างง่ายๆ คนทำงานประกวดก็จะไม่ไปชุมชนละจะทำงานประกวดอย่างเดียว บางกลุ่มจะทำงานกับคนก็ต้องเปิดตัวออกมาให้คนข้างนอกได้สัมผัสได้คลุกคลี มีส่วนร่วมกับงานศิลปะ นี่ก็เป็นตัวหนึ่งที่บ่งชี้ให้ศิลปินได้เปิดตัวเองเข้าสู่สังคมให้สังคมได้รู้ได้เห็นด้วย 

 

 

หลังจากคุยกันได้ซักพักผมก็ต้องขอลาอาจารย์กลับก่อนเนื่องจากเป็นเวลาค่ำแล้ว หวังว่าสิ่งที่นำมาเสนอต่อคุณผ้อ่านในบล็อคนี้คงจะมีประโยชน์แก่บุคคลที่สนใจในการเขียนรูปหรือสนใจที่จะศึกษาทางด้านศิลปะ

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 454201เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สอนขั้นตอนหน่อยครับ ช้าๆ นะครับ วาดไม่เป็น แต่ชอบครับ เนียนเชียว

สวัสดีค่ะ

ตามมาให้กำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะ

ชอบใจรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวและแนวคิดการบอกเล่าเรื่องราวของน้อง ภู่กัน เจ๊กไธสง  จังเลยค่ะ

เป็นกำลังใจให้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวต่อไปนะค่ะ

ขอบคุณมากๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท