ประชากรและกลุ่มตัวอย่างต่างกันไหม


ประชากรและกลุ่มตัวอย่างต่างกันไหม

        ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญของงานวิจัย  ซึ่งหากปราศจากประชากรและกลุ่มตัวอย่างแล้วเราก็ไม่สามารถที่ดำเนินการวิจัยได้  เพราะประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นหน่วยที่ให้ข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และแปลผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์  มารู้จักกับประชากรและกลุ่มตัวอย่างค่ะว่าแตกต่างกันอย่างไร

ประชากร(
Population) หมายถึง สมาชิกทั้งหมดที่เราสนใจศึกษา ซึ่งอาจเป็นวัตถุ  สิ่งของ หรือบุคคล  ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายในการวิจัย  เช่นจำนวนนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียน  จำนวนครัวเรือนในตำบล... เป็นต้น

ประเภทของประชากร  แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. ประชากรที่มีจำนวนจำกัด (Finite population) หรือประชากรที่พอจะนับจำนวนได้เช่น จำนวนนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าข้ามในปีการศึกษา 2554  จำนวนสัตว์ในฟาร์มโชคชัย เป็นต้น

2. ประชากรที่มีจำนวนไม่จำกัด (Infinite population) หรือประชากรที่ไม่สามารถนับจำนวนได้แน่นอน หรืออาจนับได้แต่เสียเวลาและไม่จำเป็น เช่นจำนวนเมล็ดข้าวในยุ้งข้าว  จำนวนเม็ดทราย เป็นต้น

ประชากรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

1. ประชากรที่มีลักษณะเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous population)

หมายถึงมีคุณลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน เช่นครูเพศเดียวกัน  อาชีพเดียวกัน หรือพืชชนิดเดียวกัน

2. ประชากรที่มีลักษณะเป็นวิวิธพันธ์ ( Heterogeneous population) หมายถึงประชากรที่สมาชิกในหน่วยมีคุณลักษณะต่างกัน
เช่นครูต่างเพศกัน  คนทำงานอาชีพต่างกัน
หรือพืชคนละชนิดกัน

กลุ่มตัวอย่าง (Sample) หมายถึงกลุ่มย่อยหรือบางส่วนของประชากรที่เราเลือกมาเป็นตัวแทนในการศึกษาเพื่อสรุปอ้างอิงไปยังประชากร  โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรและมีขนาดที่เหมาะสม

ทำไมเราจึงต้องศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง

ในการศึกษาข้อมูลจากประชากรนั้นเราต้องศึกษาจากจำนวนประชากรทุกหน่วยและทั้งหมด(universe) แต่บางกรณีก็ไม่สามารถศึกษาจากประชากรได้ทั้งหมด ส่วนมากนักวิจัยจึงมักจะศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพราะ

1. ประหยัดเวลา และงบประมาณในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพราะกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยกว่า

2. การศึกษาบางเรื่องไม่จำเป็นต้องศึกษาจากประชากร
เพราะได้ข้อมูลไม่แตกต่างกัน เช่น การทดสอบคุณภาพของน้ำอัดลม เราไม่จำเป็นต้องเปิดทดสอบทุกหน่วยหรือการตรวจเลือดคนไข้ แพทย์ก็สามารถใช้เลือดเพียงแค่บางหยดได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เลือดทุกหยดในตัวคนไข้

3. ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ เพราะมีจำนวนน้อยเราจึงสามารถตรวจสอบความถูกต้องและแก้ไขข้อผิดพลาดได้

4. ได้ข้อมูลที่ทันสมัย และรายงานผลการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลน้อย

5. ใช้ในกรณีที่เราไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่ชัด เช่นจำนวนวัยรุ่นที่ติดยาเสพติด หรือจำนวนผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

6. ลดปัญหาด้านการบริหารงานวิจัย (ผศ.ดร.พิชิต ฤทธิ์จรูญ, 2549) เช่นจำนวนเจ้าหน้าที่ งบประมาณ วัสดุ สถานที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ กลุ่มตัวอย่างจึงต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร (representativeness) มีขนาดที่เหมาะสมหรือมากพอ (adequate size or large sample)ที่จะอ้างอิงไปยังประชากรได้ 
และกลุ่มตัวอย่างต้องมีความน่าเชื่อถือ (reliable) โดยผู้วิจัยต้องมีกระบวนการในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มงวดและตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลเป็นอย่างดี

จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น  จึงสรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นส่วนย่อยๆและเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมดที่เราต้องการศึกษา  ซึ่งในการจะเลือกศึกษาจากประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างนั้นผู้วิจัยต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของแต่ละอย่างให้ดี  แล้วอย่างนี้ประชากรกับกลุ่มตัวอย่าง ต่างกันไหม

หมายเลขบันทึก: 454092เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2011 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท