อนิจจัง: ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน


คติธรรม: วันธัมมัสสวนะ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๙

                โดยปกติคนเรามักต้องการให้ทุกสิ่งเป็นดังใจ อยากมีสุข อยากสมหวัง อยากได้นั่น อยากได้โน่นสาระพัด  ถ้าสาระพัดนึกได้ยิ่งดี เมื่อไม่ได้  ก็โศกเศร้า น้อยใจ เสียใจ ใจเสีย มีความทุกข์ตามมา

                โดยท่าทีที่เหมาะควร เราสามารถทำใจให้เข้มแข็ง  กำหนดใจให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน  ตั้งใจมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้ แต่เป้าหมายต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นได้ดังใจหรือไม่ยังไม่แน่นอน ไม่ได้ขึ้นกับใจอยาก แต่ขึ้นกับเหตุปัจจัยตามกฎแห่งธรรมหรือกฎแห่งกรรม  บางครั้ง บางอย่างก็เป็นไปได้โดยไม่น่าเชื่อ บางครั้ง บางเรื่องก็ไม่น่าพลาดเลย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทุกสิ่ง “ไม่เที่ยงแท้แน่นอน”

                โดยความเป็นจริงแล้ว  ใจของคนเราไม่มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปตามใจอยากใจยึดได้เลย  ถ้าจะเป็นได้ก็คือ การทำใจให้เข้าใจสรรพสิ่งที่เกิดที่เป็นว่าที่สุดแล้วมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย  ไม่ใช่เป็นไปตามใจต้องการ  หรือหากจะเป็นได้ก็เพราะศักยภาพของใจมีสูงเนื่องด้วยผ่านการฝึกใจมาดีจนถึงขั้นมีอภิญญาจิตเท่านั้น  แต่กระนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นสิ่งยั่งยืน  เพราะสรรพสิ่งที่เป็น “สังขาร” คือ สิ่งที่ถูกปรุงแต่งมา  ย่อมมีลักษณะเป็น “อนิจจัง” คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ทั้งในแง่ของการเป็นไปตามใจอยาก และทั้งในการทรงสภาพให้คงอยู่อย่างเที่ยงแท้ ไม่แปรเปลี่ยน 

                เพราะเหตุนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้คนเรา “ไม่ยึดมั่นถือมั่น” เพราะไม่มีอะไรอยู่ยงคงที่ให้ยึดถือเลย  ยึดถือไม่ได้เลย  ยึดแล้วต้องทุกข์แน่นอน เพราะต้องผิดหวังอยู่เสมอๆ 

                เพราะฉะนั้น หากเราวางจิตวางใจ ปล่อยวางเสียได้ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข  เป็นธรรมะเชิงรับอีกข้อหนึ่งซึ่งจะส่งผลให้ทุกข์หายลับไปได้  ในส่วนเชิงรุกก็ต้องตั้งมั่นกันต่อไปในการทำความดี วางเป้าหมายดีๆ ไว้ในชีวิต แต่ในทางรับก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับหรือหรือปล่อยวางกับทุกผลปรากฎที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่างนี้เรียกว่าคนที่พร้อมยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ แล้วความสุขก็จะอยู่ไม่ไกลจากใจโดยไม่ต้องคาดหวังให้เหนื่อยยาก ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย  โดยสรุปก็คือ “ตั้งใจในความดีและเข้าใจในความจริง” นั่นเอง

                หมายเหตุ

                กฎไตรลักษณ์ข้อที่ ๑ คือ “สัพเพ สังขารา อนิจจา แปลว่า สรรพสิ่งที่เป็นสังขารล้วนไม่เที่ยง”  คำว่า “ไม่เที่ยง” หมายถึง มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

                กฎไตรลักษณ์ข้อที่ ๒ คือ “สัพเพ สังขารา ทุกขา  แปลว่า สรรพสิ่งที่เป็นสังขารล้วนเป็นทุกข์” คำว่า “เป็นทุกข์” หมายถึง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงจากเดิมไป ไม่คงที่ถาวร สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็จะมีลักษณะเป็นทุกข์ด้วย

                กฎไตรลักษณ์ข้อที่ ๓ คือ “สัพเพ ธัมมา อนัตตา แปลว่า สรรพสิ่งที่เป็นสภาพธรรมทุกรูปแบบ(ทั้งสังขารและไม่ใช่สังขาร คือ นิพพาน) ล้วนไม่มีตัวตน ไม่เป็นไปตามอำนาจของตน ไม่ควรยึดถือ เพราะไม่มีแก่นสาระให้ยึดถือและยึดถือไม่ได้ตามสภาพความเป็นจริง 

 

หมายเลขบันทึก: 453907เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วางจิตโดยยึดเอาตาม กฎไตรลักษณ์ วันนี้ได้อ่านเกี่ยวกับฏฎ 3 ข้อนี้ สองรอบแล้ว

เปรียบเหมือนมีใครคอยมาเตือนให้เรายึดมั่น คอยบังคับจิตตน ให้ตรงสู่หนทางนี้

ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ยึดถือมิได้

จึงเป็นหลักการสำคัญของพระศาสนา ดังว่านะครับ

สรรพสิ่งในโลกล้วน อนิจจัง

ไม่ให้หวังว่าดังใจได้ทุกอย่าง

แก่นแท้นั้นหมั่นทำใจให้ละวาง

ย่อมพบทางเห็นธรรมนำสุขเย็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท