ธรรมดา : ทุกอย่างที่พบเป็นเรื่อง “ธรรมดา”


คติธรรม: วันธัมมัสสวนะ ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙

                ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะต้องประสบ มิเพียงแค่คนเท่านั้น แม้แต่สัตว์และสิ่งของทั้งหลายก็หนีไม่พ้นความทุกข์  แต่ความหมายของคำว่า “ทุกข์” ของสรรพสิ่ง กับ ทุกข์ของชีวิตคนเรานั้นมีนัยที่ลึกตื้นแตกต่างกัน

                ทุกข์ของสรรพสิ่ง หมายถึง สภาวะที่สรรพสิ่งทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถูกบีบคั้นจากปัจจัยทั้งหลาย  ทำให้ต้องเปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่น เช่น ท่อนไม้เมื่อโดนแดด โดนฝน โดนสภาพแวดล้อมต่างๆ กระทบก็มีการเก่าแก่ คร่ำคร่า เปื่อยผุและพังสลายไปในที่สุด เป็นต้น

                ทุกข์ของชีวิตคนเรา หมายถึง สภาวะที่กายและใจของเราไม่สบาย ถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้แสดงทุกข์เช่นนี้ไว้ในอริยสัจข้อที่ ๑ ที่ว่า ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศกเศร้า พิไรรำพัน ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจก็เป็นทุกข์  ความพลัดพรากจากของรัก คนรักก็เป็นทุกข์  การได้ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ โดยสรุป ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหล่ะเป็นตัวทุกข์   

                ด้วยเหตุนี้ชีวิตเราจึงหนีเจ็บไม่ได้ หนีไข้ไม่พ้น ทุกคนต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แต่ห้วงเวลาแห่งการมีชีวิตอยู่เป็นที่แน่นอนว่าคงไม่มีใครต้องการคำว่า “ทุกข์”  วิธีการที่จะทำให้พ้นทุกข์โดยไม่ต้องหนีจึงเป็นวิธีการที่ท้าทายที่สุด และไม่น่าเชื่อเลยว่าจะสามารถเป็นอย่างนั้นได้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นว่ามันเป็นของจริง เป็นสัจธรรม และสามารถเป็นเช่นนั้นได้  ความเป็นพระบรมศาสดาจึงบังเกิดขึ้น  เพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้และสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลต่อมนุษยชาติและเหล่าสัตว์ทั้งหลาย

                หลักคิดสำคัญของคำสอนที่พระองค์ทรงสอนจึงอยู่ที่คำว่า “สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” เพราะฉะนั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่น กับสิ่งที่เป็นเรื่อง “ธรรมดา”  ด้วยเหตุว่าความถือมั่นนำมาซึ่งความทุกข์ 

                คำว่า “ธรรมดา” จึงเป็นคาถาธรรมเชิงรับ ที่ควรกำกับไว้ในใจเสมอ  เมื่อใดก็ตามที่เจออะไรที่ทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ รู้สึกตัวให้ได้ว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมดา” แล้วถามตัวเองเพิ่มอีกหน่อยว่า เมื่อชีวิตเราเป็นทุกข์อยู่แล้ว ทำไมเรายังจะต้องเพิ่มทุกข์ให้ตัวเองอีกด้วยการคิดลบ คิดร้าย  กล่าวร้าย ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น หากมองได้ชัดอย่างนี้ ชีวิตก็จะทวีความสุขมากยิ่งขึ้นทันตา เมื่อคำพระท่านว่า “แค่ไม่ทุกข์ ก็สุขแล้ว”

หมายเลขบันทึก: 453906เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท