การพัฒนาวิสัยทัศน์ หลักการและแนวปฏิบัติ


การพัฒนาวิสัยทัศน์ หลักการและแนวปฏิบัติ

การพัฒนาวิสัยทัศน์

หลักการและแนวปฏิบัติ

ผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  เพราะจะทำให้ความสามารถวางแผนในการบริหารองค์การได้ถูกต้อง  และสามารถบริหารงานตามแผนให้ประสบความสำเร็จซึ่งจะทำให้องค์การเจริญก้าวหน้าบรรลุเป้าหมายขององค์การ  ผู้บริหารที่ขาดวิสัยทัศน์จะมองใกล้   ทำให้การวางแผนหรือการบริหารอยู่ในวงแคบองค์การพัฒนาได้ในภาวะจำกัด  เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และองค์การก็มีการแข่งขันอย่างรุนแรง  ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์จะสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ชัดเจนเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และภาวะการแข่งขันได้ถูกต้องอยู่ในแนวหน้าขององค์การที่ประสบความสำเร็จ  วิสัยทัศน์ของผู้บริหารจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความสำเร็จขององค์การ   ผู้บริหารจึงต้องมีการเรียนรู้  และพัฒนาวิสัยทัศน์อยู่เสมอ

ความหมายของวิสัยทัศน์

คำว่าวิสัยทัศน์แปลมาจากภาษาอังกฤษ  คือ  Vision   คำว่า   วิสัยทัศน์  นี้เป็นคำสมาส ซึ่งหากแยกคำนี้จะออกมาได้ 2  คำ  คือ  วิสัย และทัศน์ “วิสัย” แปลว่า ขอบเขต หรือ พิกัด “ทัศน์”   แปลว่า การมอง เนื่องจาก เป็นคำสมาส  จึงแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า  ดังนั้นถ้าจะแปลวิสัยทัศน์ตามตัวแล้ว คือ การมองในขอบเขตหรือขอบเขตของการมอง  ซึ่งจะกว้างขวางเพียงใดก็ขึ้นกับการมองหรือการคาดคะเน  ภาพที่มองนั้นจะเป็นภาพจากการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งมีความกว้างและความไกลคำว่าความกว้างนั้น  หมายถึง  ความมีเหตุมีผลและมีข้อมูลจากปัจจุบันมากทำให้เกิดภาพชัดเจน ส่วนความไกล หมายถึง ความลึก คือ การคิดหลายขั้นและมีการหาทางแก้ปัญหาเอาไว้ด้วย  (วรรณี จันทรศิริ 2538 : 86)นักวิชาการทางการบริหารให้ความสนใจเรื่องวิสัยทัศน์มาก  เพราะถือว่าเป็นสิ่งกำหนดทิศทางและขอบเขตการทำงานของนักบริหาร นักวิชาการแต่ละท่านจึงให้กรอบแนวคิดหรือให้ความหมายตามทัศนะของตนที่อาจแตกต่างกัน ดังนี้

วิสัยทัศน์  คือ  สิ่งที่สามารถกำหนดกรอบการทำงานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและให้นโยบายต้องอาศัยการแสดงความคิดเห็นที่กว้างขวางและชัดเจน  แต่ในเวลาเดียวกันนำไปสู่สิ่งที่ไกลออกไปได้  (Phillips : 1997 : 7)

วิสัยทัศน์  คือ  ภาพองค์การในอนาคต  ซึ่งได้มาจากปัญญา  ความคิด  มีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับเป้าหมายและภาระหน้าที่ขององค์การ  โดยภาพนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงน่าเชื่อถือ  และดึงดูดใจให้ปฏิบัติตาม  อันจะทำให้องค์การมีสภาพดีกว่าที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบัน    (Beare et.al, 1985 : 107 ; Bennis 1985 : 89)

วิสัยทัศน์  หมายถึง  ภาพอนาคตที่นำมาทำให้กระจ่างว่าทำไมบุคคลต้องสร้างขึ้นในอนาคต  ซึ่งสิ่งที่สร้างขึ้นนั้น  สามารถกระตุ้นให้บุคคลมุ่งมั่นและดำเนินการไปสู่ในทิศทางการเปลี่ยนแปลงและทิศทางที่ถูกต้อง  ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการประสานการปฏิบัติในความแตกต่างระหว่างบุคคล  แม้ว่าจะมีบุคคลจำนวนมากก็สามารถดำเนินการไปด้วยดีและรวดเร็ว (Kotter 1996 : 68 – 69)

วิสัยทัศน์  หมายถึง  ความสามารถในการที่จะทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อม  แล้วทำให้สามารถคาดการณ์  สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อองค์การ ในส่วนของความสามารถเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ  ดังนั้น  ผู้นำคนใดที่เข้าใจแยกแยะสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ  ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ย่อมจะสามารถควบคุมให้เป็นไปตามต้องการได้

(ทิตยา สุวรรณะชฎ 2543 : 5)

นอกจากนี้  ยังมีนักวิชาการหลายท่านได้สรุปในทำนองเดียวกันว่า  วิสัยทัศน์เป็นเสมือนพิมพ์เขียวขององค์การที่เราต้องการในอนาคต  วิสัยทัศน์นั้นจะทำให้มองเห็นแนวทางปฏิบัติ (Sheive and Schoenheit 1987 : 194 ; Helligel and Slocum 1989 : 467 ; Davis and Thomas. 1989 : 22)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นพอสรุปได้ว่า วิสัยทัศน์  หมายถึง  ความสามารถของบุคคลในการมองเห็นภาพในอนาคตที่ต้องการจะให้เป็นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ  โดยภาพนั้นจะสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การ  มีความเป็นไปได้  สามารถมองเห็นวิธีการปฏิบัติที่มีทิศทางและขอบเขตที่จะนำองค์การไปสู่เป้าหมาย

กรอบความคิดในการมองวิสัยทัศน์

กรอบความคิดในการมองวิสัยทัศน์จากความหมายข้างต้นจะมองได้ 4  ระดับ  คือ

1.  วิสัยทัศน์ของบุคคล (Personal Vision)  เป็นวิสัยทัศน์ในการมองตัวเองสำหรับอนาคตในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านร่างกาย  และ จิตใจ  ในด้านร่างกายจะพิจารณาถึงบุคลิกภาพ  ว่าต้องการให้มีรูปร่างอย่างไร  อ้วนหรือผอม  จะให้มีสุขภาพอนามัยเป็นอย่างไร

สำหรับด้านจิตใจ  จะพิจารณาถึงลักษณะอารมณ์  ความเครียด  ความหวัง  ความผิดหวัง  และแนวทางแก้ไข

นอกจากนั้น  ยังมองในลักษณะยุทธศาสตร์การพัฒนา  การกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเองในวิถีชีวิตประจำวันและอนาคตในด้านต่าง ๆ    ในภาพรวม

2.  วิสัยทัศน์เกี่ยวกับอาชีพ (Career Vision)  เป็นการมองภาพถึงความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพของตนเองว่า  จะดำรงตำแหน่งอะไร  จะต้องการศึกษาต่อด้านใด  หรืออบรมด้านใด เพื่อให้มีคุณลักษณะที่ต้องการ คือ  มีความก้าวหน้าไปอย่างไร  เงินเดือน ยศ  เป็นอย่างไร หรือ  ต้องการมีอาชีพใหม่อย่างไรบ้าง  เพื่อนำมาจัดทำแผนอาชีพของตน (Career  path)

3.  วิสัยทัศน์ขององค์การ  (Organization Vision)  คือ วิสัยทัศน์ที่ภาพกว้างและสมบูรณ์ของระบบในองค์การปัจจุบันในภาพรวม  และเป็นการมองกว้างออกไปถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบองค์การด้วย  ซึ่งจะเป็นการมององค์การถึงระบบการบริหารขององค์การว่าจะดำเนินการอย่างไร  ความก้าวหน้าขององค์การจะเป็นอย่างไร  จะมีผลกระทบอะไรบ้าง

4.  วิสัยทัศน์ของระบบสังคมโลก (World  Vision)  เป็นการมองถึงระบบสังคมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร  อาจแยกเป็นระบอบย่อย  คือ ระบบเศรษฐกิจ  การเมืองเทคโนโลยี  เป็นต้น  รวมถึง การมองถึงผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

จะเห็นได้ว่ากรอบของวิสัยทัศน์จะมีตั้งแต่การมองถึงตัวเอง   มองถึงอนาคตเกี่ยวกับอาชีพ  องค์การ  และสังคมกว้างที่เป็นสังคมโลก  ซึ่งจะมีส่วนเชื่อมโยง  มีความสัมพันธ์กันและมีผลกระทบซึ่งกันและกัน  สังคมโลกเป็นระบบใหญ่  กว้างขวาง และซับซ้อน  ระบบขององค์การอยู่ภายในสภาพแวดล้อมของสังคมโลก  และในทำนองเดียวกัน  ระบบบุคคลก็เกี่ยวข้องกับระบบในองค์การและระบบสังคมโลก   กรอบความคิดในการมองวิสัยทัศน์จึงต้องมองกว้างและเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน

 

ถึงอย่างไรก็ตามจากวิสัยทัศน์ทั้ง 4 ประเภท  ดังกล่าวข้างต้นสามารถจัดกลุ่มวิสัยทัศน์ออกได้เป็น 2  กลุ่มใหญ่  คือ

  1. กลุ่มวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล   จะครอบคลุมถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างอนาคตของบุคคลอาจประกอบด้วยวิสัยทัศน์ในหน้าที่การงาน  วิสัยทัศน์ในด้านครอบครัว และวิสัยทัศน์หลังเกษียณอายุ  ซึ่งจะครอบคลุมวิถีชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย
  2. กลุ่มวิสัยทัศน์ขององค์การ  เป็นการมองถึงระบบการบริหารองค์การดังกล่าวมาแล้วซึ่งทุกคนในองค์การจะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision)  ที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติตามแผน  เพื่อให้บรรลุแผนงานตามที่องค์การกำหนดไว้ให้ได้  การมีวิสัยทัศน์นั้นถือว่าเป็นหัวใจของวิสัยขององค์การเพราะจะทำให้ทุกคนในองค์การถือว่าตนเองมีส่วนร่วม   ทำให้เห็นภาพรวมขององค์การและเป้าหมายขององค์การที่จะช่วยให้องค์การบรรลุเป้าหมาย  เพราะมีเป้าหมายและแนวทางตรงกัน

คุณค่าของวิสัยทัศน์

เดวิสและโธมัส (Davis and Thomas 1989 : 22 – 23)   กล่าวว่า  วิสัยมีคุณค่า  เป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้นำจะต้องมีและเผยแพร่วิสัยทัศน์ให้สมาชิกทุกคนได้เข้าใจอย่างชัดเจน  โดยเน้นที่ผลผลิต   เป้าหมายและทิศทางการดำเนินการ  เช่นเดียวกับที่ลิซาตา และคณะ  (Licata et.al (1990 : 74;  1989 : 37)  ได้พบว่าผู้นำมีวิสัยทัศน์  นอกจากมองเห็นภาพในอนาคตแล้ว  ยังต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตน  เพื่อมุ่งมั่นทำงานให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับคาล์ดเวลล และสปิงค์ (Caldwell and Spinks 1990 : 174)  ที่ย้ำว่าผู้นำจะต้องผูกพันกับวิสัยทัศน์นั้น  และสามารถนำวิสัยทัศน์ลงสู่นโยบาย  แผนงาน  และการปฏิบัติงานในแต่ละวันขององค์การได้

จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์และนำวิสัยทัศน์มาผลักดันให้เกิดผลสู่การปฏิบัติ  นำองค์การไปสู่เป้าหมายที่ต้องการตามวิสัยทัศน์  วิสัยทัศน์จึงเป็นการชี้แนวทางการพัฒนาองค์กรและในทำนองเดียวกันก็จะสะท้อนถึงผู้นำด้วยจากวิสัยทัศน์นี้เอง  เพราะวิสัยทัศน์จะเป็นทิศทางนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์การ  ด้วยเหตุผล คือ (Kotter 1996 : 72)

  1. ทำให้มองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงองค์การได้ชัดเจนว่าจะมีทิศทางไปอย่างไรเป็นเส้นทางเดียวหรือ หลายเส้นทาง
  2. กระตุ้นให้บุคคลได้ปฏิบัติมิได้ตรงตามทิศทางขององค์การ  แม้ว่าในระยะแรก ๆ อาจยุ่งยากบ้าง
  3. ช่วยให้เกิดการประสานงานการปฏิบัติงานของคนในองค์การจำนวนมากในแนวทางที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

วิสัยทัศน์ที่ดี

วิสัยทัศน์ที่ดีควรมีลักษณะสำคัญ  ดังนี้

  1. สร้างภาพจินตนาการได้ดี  คมชัด  ทำให้มีมองเห็นภาพในอนาคต  ซึ่งเกิดจากการให้ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วม ( Shared Vision)
  2. มีลักษณะน่าสนใจ  ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องให้ความสนใจ
  3. วิสัยทัศน์ต้องเขียนให้มีลักษณะความเป็นไปได้  ไม่ไกลเกินฝัน
  4. มีความชัดเจน  เขียนมีรายละเอียดตามสมควร  ชัดเจนมองเห็นภาพในอนาคตได้
  5. ยืดหยุ่นได้   มีความคิดริเริ่ม  และสามารถเปลี่ยนแปลงได้  ถ้ามีข้อมูลหรือเหตุผลดี
  6. สามารถสื่อสารให้คนอื่นโดยเฉพาะบุคคลในองค์การสามารถสื่อสารเข้าใจได้
  7. ต้องท้าทายความรู้  ความสามารถของสมาชิกทุกคนในองค์การให้สามารถปฏิบัติงาน

บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

  1. การได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในองค์การ
  2. จะต้องไม่นำเอาวิสัยทัศน์ของบุคคล  หรือ หน่วยงานอื่นมาใช้
  3. ใช้ภาษาเขียนที่สั้น  กะทัดรัด  เข้าใจง่าย  และ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจน

ที่มาของวิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์มีแหล่งที่มาจากแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของบุคคลในองค์การ  เป็นความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์จุดแข็ง  จุดอ่อน  อุปสรรค  และโอกาสโดยอาศัยความรู้ของบุคคลในการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  และใช้ดุลยพินิจจากประสบการณ์หรือ ความรู้  ปรับภาพความคิดให้ชัดเจน  และ มีความเป็นไปได้

นอกจากนั้น  เพื่อพิจารณานำวิสัยทัศน์ไปใช้ในการบริหารหรือปฏิบัติงาน จะต้องสัมพันธ์กับพันธกิจและการดำเนินงานขององค์การจนถึงผลการดำเนินงาน  ที่มาของวิสัยทัศน์จึงต้องสัมพันธ์กับพันธกิจที่จะนำไปสู่การดำเนินงานขององค์การ  ดังที่ ทิตยา  สุวรรณชฎ  (2543 : 6 – 8)  ได้สรุปไว้ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์ที่เกิดจากการวิเคราะห์อดีต  ปัจจุบัน  แล้วจึงคาดการณ์ในอนาคต
  2. วิสัยทัศน์ที่เกิดจากการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อสร้างเป้าหมายที่ทำให้เกิดแผนงานและ

โครงการ

  1. วิสัยทัศน์ที่เกิดจากบุคลิกภาพของผู้บริหาร
  2. วิสัยทัศน์ที่ทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรและการจัดการ
  3. วิสัยทัศน์กับการประยุกต์

รองศาสตราจารย์เทื้อน   ทองแก้ว

หมายเลขบันทึก: 453859เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท