งานวิจัย ผลลัพธ์ของโปรแกรมการควบคุมเบาหวานที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีส่วนร่วมแบบสมัครใจ


โปรแกรมการควบคุมเบาหวาน

บทคัดย่อ

เรื่อง   “ผลลัพธ์ของโปรแกรมการควบคุมเบาหวานที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีส่วนร่วมแบบสมัครใจ”

ชื่อหน่วยงาน/เจ้าของผลงาน วัลย์ลดา เลาหกุล  ห้องตรวจประกันสังคม โรงพยาบาลสมุทรสาคร (นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ขั้นสูง มหาวิทยาลัยคริสเตียน จังหวัดนครปฐม)

หลักการและเหตุผล : ปัญหา สาเหตุ ความต้องการพัฒนา

                       จากการศึกษาประเมินผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการ ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกประกันสังคม (OPD EXPRESS WAY) โรงพยาบาลสมุทรสาครจากการสุ่มตัวอย่างจำนวน 20 ราย พบว่ายังมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่เพราะพอผ่านไป2-3เดือนก็จำความรู้ที่เคยได้รับจากการเข้ากลุ่มไม่ได้ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ควบคุมอาหารไม่ได้ น้ำหนักมากเกินมาตรฐาน (ค่าBMI>25) ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารไม่คงที่ บางครั้งไม่สัมพันธ์กับผลHbA1C ไม่ชอบการเข้ากลุ่มเบาหวาน กลัวเสียเวลาในการทำงาน   จึงส่งผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากขึ้น  

                      ดังนั้นผู้วิจัยจึงศึกษาผลลัพธ์ของโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ จำนวน 3โปรแกรม  เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้แบบสมัครใจ  และช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวาน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนักที่เกินมาตรฐานได้ตามโปรแกรมการควบคุมเบาหวานที่ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกโปรแกรมเอง  และเพื่อศึกษาดูผลของโปรแกรมการควบคุมเบาหวาน  โปรแกรมใดที่มีผลประสิทธิภาพมากที่สุดระหว่าง โปรแกรม 1 การควบคุมอาหาร   โปรแกรม 2 การออกกำลังกาย  หรือโปรแกรม 3 การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย  เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เลือกโปรแกรม   การควบคุมเบาหวานแบบใดที่มีประสิทธิผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานของห้องตรวจประกันสังคม  โรงพยาบาลสมุทรสาคร

วัตถุประสงค์

                ศึกษาผลลัพธ์ของโปรแกรมควบคุมเบาหวานโดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีส่วนร่วมแบบสมัครใจ จำนวน 3 โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรม 1  การควบคุมอาหาร  โปรแกรม 2 การออกกำลังกาย และโปรแกรม 3 การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย ต่อระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร  ค่าน้ำตาลเฉลี่ย HbA1C  และค่าดัชนีมวลกายในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับการรักษา ณ ห้องตรวจประกันสังคม รพ. สมุทรสาคร  ว่าโปรแกรมแบบใดที่มีผลต่อการควบคุมเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

  1. ภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มทดลองที่เลือกโปรแกรม 1  โปรแกรม 2 และโปรแกรม 3 มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงหรือน้อยกว่า 140 mg%
  2. ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มทดลองที่เลือกโปรแกรม 1  โปรแกรม 2 และโปรแกรม 3  มีค่า HbA1C  ลดลงหรือน้อยกว่า 7% 
  3. ภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มทดลองที่เลือกโปรแกรม 1  โปรแกรม 2 และโปรแกรม 3 มีค่า BMI ลดลงหรือน้อยกว่า 25กิโลกรัม/ตารางเมตร

วิธีดำเนินการ:รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล

                                                                 การวิจัยนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลลัพธ์ของโปรแกรมการควบคุมเบาหวานโดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2มีส่วนร่วมแบบสมัครใจ ต่อระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร FBS ระดับ HbA1C  และค่า BMI   โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของห้องตรวจประกันสังคม  โรงพยาบาลสมุทรสาครเป็นผู้เลือกโปรแกรมเองแบบสมัครใจ  ระยะเวลาศึกษาอยู่ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 – 28 กุมภาพันธ์ 2554  จำนวน 80 คน ซึ่งศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มเสี่ยงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารสูงมากกว่า 140 mg% ค่า HbA1C > 7% และมีค่า BMI > 25  เปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลองโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ 3 โปรแกรม และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เลือกโปรแกรม โดยแบ่งกลุ่มทดลองโปรแกรม 1 การควบคุมอาหาร จำนวน 20 คน  โปรแกรม 2 การออกกำลังกาย จำนวน 20 คน โปรแกรม 3 การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย จำนวน 20 คน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เลือกโปรแกรม จำนวน 20 คน

                      กลุ่มทดลอง คือกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการ เป็นผู้เลือกโปรแกรมควบคุมเบาหวานด้วยตนเองแบบสมัครใจ

1. ผู้เข้าร่วมวิจัย   ก่อนให้โปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจโปรแกรม 1 การควบคุมอาหารแบบสัดส่วน  โปรแกรม 2 การออกกำลังกาย โปรแกรม 3 การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย ต้องมีการตรวจเลือดหา ค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 3 เดือน (HbA1C)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI )ก่อนรับโปรแกรมคู่มือผู้ป่วยเบาหวาน ไปปฎิบัติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามโปรแกรมที่เลือก โดยผู้ป่วยปฎิบัติทำตามตารางโปรแกรมที่ให้ไป  ทางผู้วิจัยต้องแนะนำขั้นตอนการควบคุมอาหารแบบสัดส่วน การออกกำลังกาย ว่าควรเลือกปฎิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลดี

2. แนะนำหากมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ขณะควบคุมอาหาร เช่นเวียนศรีษะ คลื่นไส้  หน้ามืด อ่อนเพลีย ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

  1. 3.   นัดผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มาตรวจตามนัดในครั้งต่อไป จำนวน 3 ครั้ง โดยนัดครั้งที่ 1 นัดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 3 เดือน (HbA1C)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI ) ก่อนทดลองโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ หลังตรวจเลือดตามขั้นตอนครั้งที่1 จึงให้ผู้ป่วยเลือกโปรแกรมแบบสมัครใจ 

4.  การนัดครั้งที่ 2  ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน นัดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร(FBS) ค่าดัชนีมวลกาย( BMI ) พร้อมให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาพร้อมให้กำลังใจผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ

5. การนัดครั้งที่ 3 นัดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร(FBS)ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 3 เดือน (HbA1C)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI ) หลังทดลองโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ โปรแกรม 1  ประเมินความพึงใจของผู้ป่วยโดยการทำแบบประเมินความพึงพอใจ  เพื่อประเมินผลหลังทดลองใช้โปรแกรม

6.   นำข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าร่วมวิจัยที่เลือกโปรแกรมที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เลือกแบบสมัครใจมาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนนำข้อมูลไปวิเคราะห์ทางสถิติต่อไป

กลุ่มควบคุม คือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ได้เลือกโปรแกรม

1. ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่ได้เลือกโปรแกรมใดๆเลย แต่ได้มารับการดูแลรักษาตามปกติ

2. ผู้เข้าร่วมวิจัย   ที่ไม่เลือกโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ  ต้องมีการตรวจเลือดหา ค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 3 เดือน (HbA1C)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI )ก่อนปฎิบัติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยการดูแลตนเอง   มีดังนี้

 

                         2.1.  ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่ได้เลือกโปรแกรม จะได้รับคำแนะนำและได้รับการรักษาตามแผนการรักษาปกติ

                        2.2. ให้คำแนะนำ และนัดผู้ป่วยมาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 1 เดือน

                          3.  นัดผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มาตรวจตามนัดครั้งที่ 2 ห่างจากนัดครั้งแรก1  เดือน โดยนัดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI )  พร้อมให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาพร้อมให้กำลังใจผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมเบาหวาน

                          4.การนัดครั้งที่ 3 นัดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร (FBS) ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 3 เดือน (HbA1C)  ค่าดัชนีมวลกาย( BMI )

                       5. นำข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่เลือกโปรแกรมการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย  มาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนนำข้อมูลไปวิเคราะห์ทางสถิติต่อไป

ผลการดำเนินการ และการนำไปใช้

                                   ภายหลังจากการทดลองพบว่าผลลัพธ์ของโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ กลุ่มทดลอง โปรแกรมทั้ง 3 โปรแกรมโปรแกรมที่ 1 การควบคุมอาหาร  โปรแกรมที่ 2  การออกกำลังกาย  และโปรแกรมที่ 3 การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย      มีค่าเฉลี่ยผลระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารหลังทดลองโปรแกรมที่ 1,2,3 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทั้ง 3 โปรแกรมไม่แตกต่างกันคือ 137.85, 130.15, 135.45 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นคือ 198.90  ค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบินเอวันซี หลังทดลองโปรแกรมที่ 1,2,3 ลดลงคือ 7.91, 8.02, 7.97 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบินเอวันซีเพิ่มขึ้นคือ 9.125 ค่าดัชนีมวลกายหลังทดลองโปรแกรมที่ 1,2,3 และกลุ่มควบคุมลดลงไม่แตกต่างกันคือ 28.32, 28.04, 28.23, และ 29.02 ตามลำดับ  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากลุ่มทดลองที่เลือกโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจทั้ง 3 โปรแกรม สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ได้เลือกโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05(p < 0.05)  

                         จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า การที่ผู้ป่วยเลือกโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความตั้งใจ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเลือกวิธีการควบคุมเบาหวาน ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถนำไปใช้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการรูปแบบแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน  โดยนำรูปแบบของโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานตามหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น  เกิดเป็นรูปธรรมในหน่วยงานที่ให้บริการผู้ป่วยเบาหวานในด้านปฎิบัติการพยาบาล  และด้านการศึกษา ยังสามารถนำรูปแบบโปรแกรมการควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจ ไปสอนนักศึกษาพยาบาล หรือผู้ที่สนใจ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 แบบสมัครใจ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆที่ให้บริการผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นผู้เลือกโปรแกรมด้วยตนเอง สามารถดูแลตนเองได้ถูกต้องทั้งด้านการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย  ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเองแบบสมัครใจ  มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง และสามารถนำความรู้ รูปแบบโปรแกรมควบคุมเบาหวานแบบสมัครใจไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆต่อไป 

              

  หมายเหตุ   งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จาก ทุนหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 453788เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้รับความรู้ดีมากค่ะ ขอบคุณมากค่ะ และจะแนะนำให้คนอื่นได้รับความรู้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท