การพัฒนาเครือข่ายเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิเขตภาคใต้ตอนบน


กรณีศึกษาการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการในชุมชนในเขตภาคใต้ตอนบน

สรุปผลงานเด่นของเครือข่าย PCA Node สิชล ปี 2553

ที่มา เครือข่ายเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิภาคใต้ตอนบน เริ่มดำเนินการใน ปี 2553 โดยมี แม่ข่ายหรือNode คือเครือข่าย(CUP)สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้นำการจัดการเรียนรู้ และมีลูกข่าย(CUP) 5 แห่งได้แก่ เครือข่าย ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, เครือข่ายอ่าวลึก จ.กระบี่ , เครือข่ายหลังสวน จ.ชุมพร, เครือข่ายท้ายเหมือง จ.พังงา และ เครือข่ายกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฏร์ธานี มีการจัดเวทีแลก เปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้(KM) กำหนดประเด็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เป็นหัวข้อในการจัดการความรู้ เพื่อหาวิธีปฏิบัติที่ดีและประสบผลสำเร็จจากผู้ปฏิบัติงานจริงในชุมชน นำมาแลกเปลี่ยนกันและมีการนำไปทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่ ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดบทเรียนในการดำเนินงานให้ประสบความ สำเร็จและเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของกระบวนการจัดการความรู้ของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิเขตภาคใต้ตอนบน เรื่องการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน

วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบ Research and Development ประชากรตัวอย่าง เป็น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเครือข่ายปฐมภูมิเขตภาคใต้ตอนบน จำนวน 36 คน ใช้กระบวนการจัดการความรู้ กับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายด้วยการแบ่งปันและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน(share and learning) ตั้งแต่ เมษายน 2553 ถึง พฤศจิกายน 2553 จำนวน 3 ครั้ง มีการถอดบทเรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือเทคนิคที่ได้ในแต่ละครั้ง การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร่วมกับการสังเคราะห์เปรียบเทียบผลการถอดบทเรียนในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานประจำได้

ผลการศึกษา มี Node การเรียนรู้เครือข่ายบริการปฐมภูมิเขตภาคใต้ตอนบนเกิดขึ้น มีการทำงานที่เชื่อมประสานกันในเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ผลการประเมินเจ้าหน้าที่กลุ่มเป้าหมาย พบว่า ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.13 ทัศนคติต่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.48 การปฏิบัติลงชุมชนเพื่อติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.51 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความพึงพอใจในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเฉลี่ยร้อยละ 87.35 ผลการถอดบทเรียนเชิงคุณภาพพบว่า

ครั้งแรก แต่ละเครือข่ายมีแนวทางการเยี่ยมบ้านที่แตกต่างกัน โดยเครือข่ายที่มีพยาบาลเวชปฏิบัติหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นที่ปรึกษาใช้หลักการ INHOMESS ในการประเมินผู้ป่วยที่บ้าน มีการวางแผนตั้งแต่ก่อนเยี่ยมและสรุปผลหลังเยี่ยม บทเรียนที่ได้คือ การเยี่ยมบ้านที่ดีต้องมีขั้นตอนและตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

ครั้งที่สอง ทุกเครือข่ายมีความเห็นร่วมกันเรื่องการทำงานสหวิชาชีพที่สามารถนำความรู้ของแต่ละวิชาชีพมาร่วมดูแลผู้ป่วย และการฝึกทบทวนทักษะทางการพยาบาล มีการแลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือ 2 ticks ในการทบทวนทักษะเจ้าหน้าที่

ครั้งที่สาม มีบทเรียนเรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชน ความร่วมมือกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว

การสังเคราะห์เปรียบเทียบการถอดบทเรียนในแต่ละครั้ง พบว่า ทุกเครือข่าย มีการมองผู้ป่วยแบบเป็นองค์รวมที่ชัดเจนในทุกมิติที่มากขึ้น จากเดิมที่มองปัญหาผู้ป่วยเฉพาะตัวบุคคล จนสามารถมองเห็นปัญหาครอบครัวที่มีผลต่อภาวะสุขภาพ และมิติด้านจิตใจ สอดคล้องกับหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวที่เน้นการดูแลแบบองค์รวมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริการปฐมภูมิ

การนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ ในงานประจำ กระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาล ถึงที่บ้านให้ประสบผลสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีความรู้เรื่องการประยุกต์ใช้แนวคิดการดูแลแบบ องค์รวม (Holistic care) ได้แก่การดูแลตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ครอบ คลุมทุกมิติทางด้านกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และ จิตวิญญาณ ร่วมกับ การมีทักษะทางการพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการในชุมชน ผลจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้ทุกเครือข่ายบริการปฐมภูมิ จัดให้มีการฝึกทบทวนทักษะปฏิบัติการพยาบาลดูแลผู้ป่วย แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการที่บ้าน เช่นทักษะการใส่สายให้อาหารทางจมูก, การใส่สายสวนปัสสาวะ, การพลิกตะแคงตัว เป็นต้น และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอกรณีศึกษาจากการลงเยี่ยมบ้านของแต่ละเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เป็นประจำทุกเดือน บทเรียนที่ได้รับ การเยี่ยมบ้าน เป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในบริการปฐมภูมิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องมีความเข้าใจในหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว การดูแลแบบองค์รวม การเชื่อมโยงกับการทำงานในชุมชน และต้องมีความเก่งในงานประจำที่ตนทำงาน การจัดการให้เกิดความเก่งในวิชาชีพโดยการฝึกทบทวนทักษะ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาบุคลากร

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ความศรัทธาในงานที่ทำ ความมุ่งมั่นและใส่ใจในงานที่ทำ การมองผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางและมีการทำงานที่เชื่อมต่อกับชุมชน การมีส่วนร่วมของ อสม.ในการร่วมเป็นทีมเยี่ยมบ้าน การทำงานสหวิชาชีพและการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่จากการลงมือปฏิบัติจริง

การสนับสนุนที่ได้จากผู้บริหารหน่วยงาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ และคณะ กรรมการ คปสอ.ทุกเครือข่าย ให้การสนับสนุนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นอย่างดี และความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่แบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวดีๆจากทุกเครือข่ายบริการปฐมภูมิ

หมายเลขบันทึก: 453705เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท