na_nu
ดร. สุวรรณา ถาวรรุ่งโรจน์

โรคอ้วน


ใช้ค่าอะไรบอกว่าอ้วน

เกณฑ์ในการบ่งชี้โรคอ้วน Criteria for indicating obesity

ตีพิมพ์ใน:วชิรเวชสาร ปีที่ 54 ฉบับพิเศษ ธันวาคม 2553, หน้า 387-394.

vajira medical journal. volume 54, special issue, December, 2010,pp 387-394.

http://thailand.digitaljournals.org/index.php/VMJ/article/view/7417

โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด  ที่สามารถลดหรือกำจัดได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น เพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดปริมาณอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น

                ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีไขมันสะสมมากในร่างกายจนมักจะเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น หลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มอาการเมตาบอลิก เบาหวาน ความดันเลือดสูง นิ่วในถุงน้ำดี ไขมันพอกตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด เกาต์ และข้อเสื่อม รวมทั้งเกิดความผิดปกติของระบบหายใจ เช่น หายใจเข้าลำบากเนื่องจากทางเดินหายใจตีบแคบ และการหยุดหายใจขณะนอนหลับจนเกิดภาวะพร่องออกซิเจน เป็นต้น  โรคอ้วนเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคมากกว่าพลังงานที่ใช้ การมีกิจกรรมทางกายน้อย กรรมพันธุ์ อายุมากขึ้น ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน โรคของต่อมไทรอยด์ ความผิดปกติของอารมณ์และจิตใจ ความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร

ตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการประเมินโรคอ้วน นอกจาก ดัชนีมวลกาย และรอบเอว ยังมีสัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก  สัดส่วนรอบเอวต่อส่วนสูง และปริมาณร้อยละของไขมันในร่างกาย ซึ่งมีการศึกษาหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ  ระดับค่าของตัวบ่งชี้ในบทความวิชาการ อินเทอร์เน็ตหรือในงานวิจัยของนักวิจัยไทย มักจะเป็นระดับค่าที่กำหนดโดยองค์กรนานาชาติ รายงานนี้ได้รวบรวมข้อมูลของตัวบ่งชี้เหล่านี้สำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกใช้เป็นเกณฑ์เฝ้าระวังโรคอ้วน

ดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI)

เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณโดยหารน้ำหนักที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัมด้วยส่วนสูงที่มีหน่วยเป็นเมตรยกกำลัง 2 องค์การอนามัยโลกกำหนดระดับค่าดัชนีมวลกาย 25 กก./ม2 สำหรับบ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกิน และ 30 กก./ม2 สำหรับบ่งชี้โรคอ้วนในชาวยุโรป และดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กก./ม2  สำหรับบ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกินและมากกว่าหรือเท่ากับ 25 กก./ม2 สำหรับโรคอ้วนในชาวเอเชีย สอดคล้องกับการศึกษาในชาวจีน แต่การศึกษาในสิงคโปร์นั้น พบโรคอ้วนที่ระดับค่า 27 กก./ม2  ระดับค่านี้ สอดคล้องกับการศึกษากลุ่มตัวอย่างเพศชาย อายุ 20-84 ปี ในประเทศไทย แต่กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงในประเทศไทย จะใช้ค่าดัชนีมวลกาย 25 กก./ม2 สำหรับบ่งชี้โรคอ้วน ซึ่งระดับค่าทั้งเพศชายและเพศหญิงสัมพันธ์กับปริมาณร้อยละของไขมันในร่างกายที่มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25 ในเพศชายและร้อยละ 35 ในเพศหญิง  

อีกการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างคนไทย อายุ 45-50 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิงพบระดับค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กก./ม2 มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งระดับค่าในการศึกษานี้ต่างจากการศึกษาข้างต้นแม้จะเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างคนไทยเช่นเดียวกัน

ข้อด้อยของดัชนีมวลกาย คือค่าจะสูงเกินความจริงในนักกีฬาและผู้ที่มีกล้ามเนื้อมากซึ่งมีน้ำหนักของกล้ามเนื้อมาก และค่าจะต่ำกว่าความจริงในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีกล้ามเนื้อลีบ นอกจากนี้ผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างค่อนข้างเร็วมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าเด็กผู้ชายในวัยเดียวกัน ดัชนีมวลกายของวัยนี้จึงเปลี่ยนแปลงตามอายุและเพศ รวมทั้งค่าดัชนีมวลกายจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุมากขึ้นมักจะมีความสูงลดลง

รอบเอว (waist circumference)  

รอบเอวเป็นตัวบ่งชี้โรคอ้วนที่สามารถบอกถึงไขมันที่สะสมในช่องท้อง ระดับค่าที่ใช้บ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุงสำหรับชาวยุโรป คือ มากกว่า 102 ซม. (40 นิ้ว) สำหรับเพศชาย และมากกว่า 88 ซม. (35 นิ้ว) สำหรับเพศหญิง การศึกษาในไต้หวันพบระดับค่ารอบเอวเพศชายมากกว่า 80.5 ซม.  และเพศหญิงมากกว่า 71.5 ซม. มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ กำหนดระดับค่ารอบเอวสำหรับบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุงในชาวเอเชียเพศชาย คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม.  และเพศหญิงมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม. แต่ผลการศึกษาในประเทศไทยในกลุ่มตัวอย่างอายุ 45-50 ปี พบระดับค่ารอบเอวที่สัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ 84 ซม. ในเพศชาย และ 80 ซม. ในเพศหญิง

การวัดรอบเอวในการศึกษาต่าง ๆ พบว่ามีการวัดในตำแหน่งที่ต่างกัน 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ใต้ชายโครง ระดับสะดือ ตำแหน่งที่คอดที่สุด กึ่งกลางระหว่างชายโครงซี่สุดท้ายกับขอบบนปุ่มกระดูกสะโพกด้านหน้า และตำแหน่งเหนือขอบบนปุ่มกระดูกสะโพก การศึกษาในโคลัมเบีย พบว่ารอบเอวซึ่งวัดที่ตำแหน่งคอดที่สุดจะมีค่าน้อยที่สุด ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ส่วนค่าที่ได้จากวิธีอื่นไม่แตกต่างกันทางสถิติในเพศชาย แต่แตกต่างกันในเพศหญิง ตำแหน่งที่ใช้วัดรอบเอวในการศึกษาส่วนใหญ่ รวมทั้งสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ คือ กึ่งกลางระหว่างชายโครงซี่สุดท้ายกับขอบบนปุ่มกระดูกสะโพกด้านหน้า

ข้อจำกัดของรอบเอว คือ ตำแหน่งวัดที่ต่างกัน และความชำนาญของผู้วัด จะมีผลต่อค่าที่วัดได้ การวัดในตำแหน่งที่สหพันธ์เบาหวานนานาชาติใช้นั้น ผู้ถูกวัดต้องยืนตัวตรงแยกเท้าออกเล็กน้อย วัดในช่วงสิ้นสุดหายใจออก วางแถบวัดที่ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างชายโครงซี่สุดท้ายกับขอบบนปุ่มกระดูกสะโพกด้านหน้า โดยวางแถบวัดในแนวขนาน การวัดตำแหน่งที่คอดที่สุดจะได้ค่าต่ำกว่าความจริงในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง

สัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก (waist-to-hip ratio)

เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณโดยหารค่ารอบเอวด้วยค่ารอบสะโพก การวัดรอบสะโพกจะวัดส่วนที่กว้างที่สุด สัดส่วนนี้บอกการกระจายของไขมันในทั้งบริเวณหน้าท้องและบริเวณสะโพก  ผู้ที่มีสัดส่วนค่านี้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน ความดันเลือดสูงและไขมันในเลือดสูง เพศชายที่มีสัดส่วนนี้มากกว่าหรือเท่ากับ 0.9  และเพศหญิงมากกว่าหรือเท่ากับ 0.8 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก   การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างชายไทย อายุมากกว่า 35 ปี พบว่าระดับค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.89 สัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด

ข้อจำกัดของสัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก คือ สัดส่วนอาจไม่เปลี่ยนแปลงหากมีไขมันสะสมมากขึ้นทั้งบริเวณรอบเอวและรอบสะโพก หรืออาจลดลงหากมีไขมันเพิ่มขึ้นมากบริเวณสะโพก

สัดส่วนรอบเอวต่อส่วนสูง (waist-to-height ratio)

สัดส่วนนี้เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณโดยหารค่ารอบเอวด้วยค่าความสูง ใช้แทนดัชนีมวลกายในนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อมากได้ และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุจะเตี้ยลงเพราะหลังค่อมหรือขาโก่ง แต่บางการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์กับอายุ สัดส่วนนี้พบมีความสัมพันธ์กับไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง และอวัยวะภายในได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้อื่น ๆ การศึกษาในประเทศอังกฤษ พบระดับค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ สำหรับในเอเชียพบระดับค่าที่บ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกินในประเทศจีนคือ เพศชาย 0.48 และเพศหญิง 0.45 และภาวะน้ำหนักเกินในเด็กคือ 0.445 โรคอ้วนในเด็กผู้ชาย คือ 0.485 และเด็กผู้หญิง คือ 0.475  และในประเทศญี่ปุ่นพบระดับค่าที่ใช้บ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกิน คือมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 เท่ากันทั้งในเพศชาย เพศหญิงและเด็ก   ถึงแม้เด็กจะมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง  ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในเด็กชาวคอเคเชียน ดังนั้นสัดส่วนรอบเอวต่อส่วนสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 จึงใช้บ่งชี้โรคอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แม้ในเชื้อชาติต่างกัน แต่การศึกษาในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพศชาย อายุ 35-54 ปี พบระดับค่า มากกว่า 0.517 สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยมีความไวร้อยละ 55 และความจำเพาะร้อยละ 61

ข้อจำกัดของสัดส่วนรอบเอวต่อส่วนสูง คือ ความคลาดเคลื่อนที่อาจพบเมื่อใช้บ่งชี้โรคอ้วนในผู้สูงอายุและวัยรุ่น

ปริมาณไขมันในร่างกาย (body fat)

ปริมาณไขมันในร่างกายแสดงด้วยค่าร้อยละของไขมันในร่างกาย (body fat percentage) เป็นการเทียบน้ำหนักของเนื้อเยื่อไขมันกับน้ำหนักทั้งหมด คือ เนื้อเยื่อไขมัน และเนื้อเยื่อที่ไม่ใช่ไขมัน จึงไม่ใช่ปริมาณไขมันในเลือด

 ระดับค่าของปริมาณร้อยละของไขมันในร่างกายแตกต่างกันตามอายุ เพศ และเชื้อชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริกา The American Council on Exercise กำหนดระดับปริมาณร้อยละของไขมันสำหรับบ่งชี้โรคอ้วนคือ มากกว่าร้อยละ 25 ในเพศชาย และมากกว่าร้อยละ 32 ในเพศหญิง (อ่านต่อตาม link)

หมายเลขบันทึก: 453429เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท