การจัดการศึกษาไทยที่ยึดติดรูปแบบของภาษาจะมุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นนานาชาติหรือเป็นทาสรับใช้ต่างชาติกันแน่


การจัดการศึกษาไทยที่ยึดติดรูปแบบของภาษาจะมุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นนานาชาติหรือเป็นทาสรับใช้ต่างชาติกันแน่?

 

 

 

 

 

         หวนกลับไปนึกถึงช่วงเวลาประมาณเกือบ 30 ปีมาแล้ว ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า ตนได้รับการขอร้องให้เข้าไปรับหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีการต่อวาระให้อีก 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ก่อนที่จะถอนตัวออกมาเพราะรู้สึกว่า ตนมีโอกาสเรียนรู้ปัญหามาจนกระทั่งแทบจะรอบด้าน จึงคิดว่าตัวเองควรจะปรับเวลาและวิถีชีวิตไปทำอย่างอื่น ซึ่งมีข้อมูลที่แปลกใหม่คงมีโอกาวนำมาใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางออกไปอีก

          ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า ระหว่างที่ทำงานอยู่ในหน้าที่กรรมการดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีการเสนอขอตั้งภาควิชา ขอตั้งคณะวิชา รวมทั้งหลักสูตรสาขาต่างๆ ส่วนเรื่องอื่นที่สะท้อนให้เห็นการพัฒนาความคิดซึ่งลงถึงรากเหง้าของการศึกษาดูจะมีน้อยมาก

          ขณะนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งมหาวิทยาลัยใหญ่ของรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เสนอขออนุมัติหลักการที่จะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นระดับนานาชาติ

          อนึ่ง หลังจากพิจารณาแล้วสังเกตเห็นว่า การขออนุมัติหลักการที่จะเป็นนานาชาติมีการขอเปิดสอนวิชาต่างๆ โดยใช้ภาษาต่างชาติหลายภาษา สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดความเข้าใจซึ่งแฝงอยู่ในนโยบายของมหาวิทยาลัยว่า การจะยกระดับให้เป็นนานาชาติต้องมีการสอนภาษาต่างชาติ แทนที่จะมุ่งสร้างความเข้มแข็งและลึกซึ้งทางด้านสติปัญญาและความคิดให้สามารถหยั่งรู้ความจริงจากรากฐานคนทุกชาติ สิ่งดังกล่าวได้ทำให้ผู้เขียนนำมาคิดพิจารณาแล้วอดรู้สึกไม่ได้ว่า แม้แต่คนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า มองเห็นได้แต่เปลือกนอก โดยไม่อาจทะลุลงไปถึงรากเหง้าของคนท้องถิ่นซึ่งเป็นทรัพยากรขั้นพื้นฐานได้

          หลังจากนั้นมาก็ยังพบว่า มีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ติดตามมาบนพื้นฐานความคิดแบบเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าบรรดานักวิชาการผู้บริหารมหาวิทยาลัยน่าจะไปติดเอาเปลือกจากต่างชาติเข้ามาแพร่เชื้อ และก็เป็นความจริง เพราะในช่วงหลังๆ มีการเปิดสอนภาษาต่างชาติหลากหลายมากขึ้น ยิ่งชาติไหนมีอิทธิพลความทันสมัยในด้านรูปวัตถุเหนือกว่า ย่อมถ่ายทอดอิทธิพลเข้าไปสู่บรรยากาศการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อครอบงำสติปัญญาบุคลากรได้มากกว่าที่อื่น

          อนึ่ง หลังจากถอนตัวออกมาใช้ชีวิตทำงานอยู่กับระดับพื้นดินอย่างอิสระเพียง20ปีกว่าๆ หวนกลับไปพิจารณาดูสิ่งที่ผ่านพ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่ามีการปล่อยให้ จัดตั้งโรงเรียนที่เรียกกันว่า นานาชาติ แบบเป็นของตัวเองบางรายใช้คนไทยซึ่งใจเป็นทาสเป็นเครื่องมือกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งคนเหล่านี้ถูกส่งไปย้อมหัวในประเทศเหล่านี้มาแล้ว

          เสมือนการนำอิทธิพลวัตถุที่แทรกอยู่ในกระแสการจัดการศึกษาบนพื้นฐานวัฒนธรรมของแต่ละชาติเข้ามาถือครองแผ่นดินไทย จนในที่สุดผู้นำประเทศในช่วงหลังๆก็เริ่มคิดที่จะนำระบบการจัดการศึกษาของธรรมชาติออกมาอยู่บนพื้นฐานการค้าโลก ช่วยให้ประเทศอภิมหาอำนาจถือโอกาศเข้ามาแพร่อิทธิพลถือครองแผ่นดินไทย ดังจะเห็นได้ในขณะนี้

          ถ้าพูดถึงรากฐานการเรียนรู้ที่แท้จริงของคน ควรจะหมายถึงจิตใจที่มีความเข้มแข็งอดทนและมีความคิดที่ลึกซึ้งเหนือกว่าคนชาติอื่น สิ่งที่พิสูจน์ความจริงดังกล่าวน่าจะได้แก่ผลงานทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

          ใคร่ขอยกตัวอย่างประเทศที่แพ้สงครามแต่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาสู่ระดับนานาชาติ อีกทั้งขยายขอบเขตไปได้ทั่วโลกคือประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่ไม่อาจมองได้ลึกซึ้งถึงรากฐานมักมีนิสัยชอบตำหนิว่าเขาไม่ดีดังที่เราจะพบความจริงได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มักตำหนิคนญี่ปุ่นว่าพูดภาษาอื่นไม่รู้เรื่อง แม้แต่ภาษาอังกฤษก็ปรากฏว่า น้อยคนที่จะพูดได้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร ยิ่งกว่านั้นเวลาเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น คนไทยหลายคนมักจะบ่นว่า ไม่ค่อยเห็นตัวหนังสือบอกทางที่เป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่นสิ่งดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้เป็นข้อสังเกตก็ได้หรือไม่ใช่ก็ได้  โดยเฉพาะคนไทยนอกจากไม่ชอบสังเกตและเก็บมาคิด มักมีนิสัยชอบตำหนิคนอื่น ซึ่งลักษณะนี้ก็คือ การปิดตัวเอง เพราะความใจแคบและเกียจคร้าน คนประเภทนี้มักไปเที่ยวหาความสำราญโดยที่กลับมาแล้วไม่ได้ความรู้ที่มีเนื้อหาสาระอะไรกลับมาพัฒนาบ้านเมืองของตนมากนัก

          ถ้าเราเปิดใจให้กว้างและพยายามเข้าใจสิ่งดังกล่าว แทนที่จะตำหนิเขาหากสามารถมองทวนกระแสหรือทวนกลับทิศทางย่อมพบกับความจริงที่อยู่ในใจตนเองซึ่งควรจะนำมาใช้เป็นความรู้ได้ว่า ความเป็นนานาชาติหาได้อยู่ที่การพูดภาษาต่างชาติจากคนในระดับพื้นฐานไม่ หากอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนช่างสังเกตอีกทั้งมองของจริงจากใจตนเองแล้วทำให้สามารถนำมาคิดค้นหาเหตุผลได้อย่างลึกซึ้งเหนือคนชาติอื่นและมุ่งทำงานที่ตนคิดริเริ่มให้ดีที่สุดแทนที่จะยึดติดอยู่กับรูปแบบของภาษาแม้จะพูดภาษาของชาติที่ตนสัมผัสไม่ได้แต่การที่ตัวเองมีโอกาสมองเห็นของจริงแล้วสามารถวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงรากฐาน ย่อมได้รับการยอมรับว่า ศึกษาด้วยสติปัญญาจากของจริงมากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับรูปแบบของภาษาซึ่งเป็นเพียงสิ่งสมมติ แม้ว่าจะมีการสืบทอดกันมาช้านานแค่ไหน

          อนึ่ง การที่ในประเทศญี่ปุ่นมักไม่ค่อยเห็นเครื่องหมายบอกทางที่เป็นภาษาอื่น นอกจากภาษาท้องถิ่น เพราะเขาใช้ความแตกต่างจากรูปแบบของภาษาเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้คนชาติอื่นเข้าไปเที่ยวได้สะดวก เนื่องจากทัศนะที่มองการท่องเที่ยวของคนญี่ปุ่นเน้นความสำคัญในการสร้างความรักและการรู้คุณค่าของแผ่นดินร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับคนของเขา แทนที่จะเห็นแก่เงินจนกระทั่งปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาทำลายรากฐานจิตใจของคนญี่ปุ่นและวางแผนเอาทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นไปเป็นประโยชน์ของตนและพรรคพวก ซึ่งประเด็นนี้เท่ากับนำแผ่นดินและชาติของตัวเองไปมอบให้คนชาติอื่น

          แต่คนไทยส่วนใหญ่มักหลงอยู่กับความสบาย จึงมีนิสัยเกียจคร้านที่จะคิดค้นหาความจริงจากสิ่งซึ่งตนไม่เคยสัมผัสมาก่อน คนเหล่านี้มักบ่นว่า คิดทำไมให้หนักสมอง ดังนั้น การออกไปเที่ยวในมุมกว้าง แทนที่จะได้รับความรู้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่จิตใจตนเองและบ้านเมืองกลับทำให้เสียเงินเสียทองเพราะไม่มีสิ่งนั้นก็ต้องได้สิ่งนี้หมายความว่า เมื่อไม่มีความสามารถที่จะตักตวงความรู้จากภายนอก อีกทั้งยังหลงอยู่กับความสบายและสิ่งสวยงาม จึงเป็นคนมีนิสัยไปเที่ยวเพื่อจับจ่ายซื้อของแปลกๆ ใหม่ๆ สำหรับตนเอง มีผลทำให้เศรษฐกิจของเราเองจำต้องสูญเสียมากกว่า

          ช่วงหลังๆ มีมหาวิทยาลัยต่างๆ แข่งขันกันขยายการสอนภาษาต่างๆ ยิ่งประเทศไหนมีอิทธิพลอำนาจทางวัตถุในโลกมากกว่า ย่อมให้ความสำคัญเรียนภาษานั้นมากกว่าซึ่งแท้จริงแล้วเขามีอิทธิพลเหนือกว่าย่อมมีผลครอบงำดึงดูดจิตใจเอาคนไปเป็นทาสรับใช้ นอกจากนั้นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งเหล่านั้น เมื่อถูกคนท้องถิ่นนิยมชมชอบก็มักมีการเชิญชวนเขาเข้ามาลงทุนในประเทศ จึงมีผลดึงดูดจิตใจคนท้องถิ่นที่เห็นแก่เงินเข้าไปทำงานอีกด้วย แทนที่จะเร่งพัฒนาคนของตนให้มีความรู้ความสามารถเปิดโอกาสให้สร้างงานทำภายในประเทศอย่างภาคภูมิใจ

จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ถ้ามีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนภาษาต่างๆ อย่างหลากหลาย แม้สถาบันของเอกชนก็ยังเปิดสอนพิเศษร่วมด้วย เป็นการสนับสนุนให้ผู้สนใจเรียนไปเป็นลูกจ้างรับใช้คนชาติต่างๆ ที่ฉกฉวยโอกาสเข้ามาบุกรุกแผ่นดินเพื่อการลงทุนหาเงินไปเป็นของตน

          คนไทยในอดีตเคยกล่าวไว้ให้คิดว่า กินน้ำใต้ศอก ซึ่งมีความหมายที่หลายคนไม่ต้องการนำชีวิตเข้าไปยืนอยู่ในลักษณะนี้ เพราะ คำว่ากินน้ำใต้ศอก หมายความว่าเสียเปรียบผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า ทำให้ได้รับผลประโยชน์แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้เป็นนายทุนย่อมคิดที่จะเอาไปเป็นของตนมากเท่าที่จะมากได้

          อีกประการหนึ่ง ในเมื่อมนุษย์ยังคงมีการแบ่งแยกชาติและภาษาคงมีคำถามติดตามมาอีกว่า ใครหรือจะโง่ให้ของดีที่สุดมาไว้ในมือคนที่ตกอยู่ในสภาพกินน้ำใต้ศอกตนเอง?

          เนื่องจากกาลเวลาได้ผ่านพ้นมานานพอสมควร สิ่งที่ผ่านพ้นมาแล้วจนถึงขณะนี้ได้สะท้อนผลให้เห็นได้ชัดเจนว่า การที่เราใช้คำว่า”ตลาดแรงงาน” แท้จริงแล้วพื้นฐานของตลาดก็คือนายทุน จากเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมาแล้วบนพื้นฐานระบบที่คนไทยตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ทำให้นายทุนที่เป็นคนไทยมักมีรากฐานความคิดอ่อนแอกว่านายทุนต่างชาติ แม้จะมีพื้นฐานดีแค่ไหน ก็ย่อมกินน้ำใต้ศอกจากคนต่างชาติซึ่งกุมอิทธิพลเงินทุนไว้ จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่งพฤติกรรมนำปฏิบัติส่วนใหญ่ที่สะท้อนออกมาให้เห็นความจริง ทำให้ตีความได้ว่าต้องการขายสิทธิเสรีภาพของคนไทยให้คนต่างชาติ นอกจากนั้น ในระหว่างคนไทยด้วยกันเองย่อมมีปัญหาคอรัปชั่นรุนแรงยิ่งขึ้น

          ดังเช่นนโยบายของสำนักงานดังกล่าว ก็เพื่อให้อภิสิทธ์คนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยเหนือกว่าคนไทย แม้บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำให้ปฏิเสธ แต่ความจริงมันก็ฟ้องตัวเอง เพราะนโยบายของหน่วยงานดังกล่าวประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า  หากสิ่งใดที่คนไทยยังทำไม่ได้จะสนับสนุนคนต่างชาติให้เข้ามาทำสิ่งที่กล่าวมานี้หากนำมาคิดให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิดถึงอนาคตของคนไทย เพราะการพัฒนาจำเป็นต้องมีอนาคตให้เป็นความหวัง เมื่อวันนี้ยังทำไม่ได้วันหน้าก็ควรมีโอกาสทำได้ ดังนั้นการอ้างว่า เมื่อคนไทยยังทำไม่ได้ก็จะเอาต่างชาติเข้ามาทำ เป็นการปิดโอกาสอนาคตของคนไทยเอง ทั้งๆ ที่เป็นแผ่นดินของเราแท้ๆ

          คนที่อยู่ในหน่วยงานเหล่านี้ มักสะท้อนแนวโน้มนำเหตุผลเพื่อสนองนโยบายของตนและพรรคพวกซึ่งอยู่ด้านบนมาใช้ แท้จริงแล้วก็คือคนซึ่งควรกล่าวว่า ตัวเป็นไทยแต่ใจเป็นทาส

          นิสัยคนไทยส่วนใหญ่แม้ในจารีตประเพณี ก็ยังมีอิทธิพลความทันสมัยทางวัตถุเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่ยังเป็นเด็กกระทั่งขึ้นมาถึงผู้นำประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นหากจะกล่าวว่านิสัยคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าพูดอธิบายเหตุผลกับผู้ใหญ่ ยังมีเงื่อนไขอำนาจและผลประโยชน์เข้าไปแฝงอยู่ หากรายไหนกล้าพูดขึ้นมา ก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนหัวแข็ง แทนที่จะมองเห็นความจริงว่า เขาเป็นทรัพยากรท้องถิ่นซึ่งควรมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองแผ่นดินในอนาคต เพราะมีจิตวิญญาณความรักชาติรักแผ่นดิน

          ดังนั้นสภาพซึ่งเป็นจริงในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่สะท้อนออกมาปรากฏ มักมีลักษณะเหมือนคนกำลังกลัวความตาย เนื่องจากมีการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดชั่วครั้งชั่วคราว หลังจากนั้นก็ลืม แทนที่จะจำไว้เป็นบทเรียน อีกทั้งมีการสืบทอดถึงชนรุ่นหลังหากจะมีบางคนจดจำไว้ ส่วนใหญ่ก็มักแยกแยะไม่ออกจึงกลายเป็นเรื่องอาฆาตมาตรร้าย ดังนั้นผลจากการศึกษาในปัจจุบัน เราจึงพบคนไทยที่รักความสบายชอบไปเป็นลูกจ้างคนอื่น เนื่องจากมีความเกียจคร้านที่จะคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเอาชนะใจตนเองได้ยาก

          สภาพดังกล่าวนับวันยิ่งเปลี่ยนแปลงไป โดยสะท้อนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ หากมองได้ลึกซึ้งย่อมหยั่งรู้ความจริงได้ว่า เมื่อเราสูญเสียอิสระภาพที่อยู่ในรากฐานจิตใจ ในที่สุด ก็ย่อมนำไปสู่การสูญเสียแผ่นดินซึ่งเป็นสิทธิอันควรภูมิใจ อีกทั้งทำหน้าที่สานความรัก ความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ

          ขณะนี้ มีสิ่งที่อยู่ใกล้ปลายจมูกคนไทยทุกคนซึ่งควรจะรู้สึกได้ง่ายก็คือ การเดินทางไปตามท้องถนนสายต่างๆ แม้ชื่อห้างร้านซึ่งทำธุรกิจส่วนใหญ่ใช้ภาษาต่างชาติ หรืออย่างน้อยก็ใช้สำเนียงต่างชาติมากกว่าการใช้ภาษาไทย ผู้เขียนเดินทางไปไต้หวันซึ่งอยู่บนวัฒนธรรมจีนอันเก่าแก่และลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้าไปกลบกลืนได้ยาก ทั้งๆ ที่สถานภาพทางการเมืองยังถูกฝรั่งยึดอยู่

          อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดเจนในชีวิตประจำวันก็คือ การบริหารและจัดการสถานีโทรทัศน์ของไทย โดยเฉพาะภายใต้อิทธิพลอำนาจรัฐโดยตรง ยังกำหนดให้คนไทยกับคนไทยมาพูดภาษาต่างชาติกันเอง อยู่มาวันหนึ่งคนจากสถานีแห่งนี้มาขอสัมภาษณ์ผู้เขียนและขอร้องให้พูดภาษาต่างชาติ ความจริงตนพูดภาษาต่างชาติได้สะดวกพอสมควร เนื่องจากมีโอกาสไปทำงานให้แผ่นดินไทยในหลายประเทศจนกระทั่งถูกเชิญไปเป็นวิทยากรหลายครั้งหลายหน

          แต่ผู้เขียนมีหลักประจำใจอยู่อย่างหนึ่ง จะยอมพูดภาษาต่างชาติกับคนต่างชาติเท่านั้น นับว่ายอมอ่อนข้อให้พอแล้วสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล

          แต่การที่จะเอาคนไทยมาพูดกับคนไทยด้วยกันโดยใช้ภาษาต่างชาติ อดทำให้รู้สึกไม่ได้ว่า ชาติเรากำลังสูญเสียจุดสุดท้ายของเขตแดนแล้ว เรื่องนี้ผู้เขียนยอมไม่ได้เนื่องจากไม่ยอมสูญเสียคุณค่าทางจิตใจตนเอง ตราบใดที่ยังรู้สึกตัวอยู่

          จากเนื้อหาสาระในบทความเรื่องนี้เท่าที่เขียนมาแล้วทั้งหมด ควรจะชี้ให้เห็นเหตุผลได้แล้วว่า เพียงจับประเด็นที่ภาษาท้องถิ่น เราก็เห็นว่าชาติไทยขณะนี้กำลังสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างหากเราสามารถเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการอันควรมีรากฐานอยู่ในจิตใจที่อิสระ แต่สังคมไทยซึ่งถูกอิทธิพลความทันสมัยทางวัตถุกลืนกินมาตลอด คงจะเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการ เป็นการรวมรูปแบบวัตถุเข้าด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงการรวบอำนาจให้การบริหารและจัดการ อย่างเช่นที่เห็นกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันมักนำมาอ้างเพื่อสนองประโยชน์แห่งตนและพรรคพวก

หมายเลขบันทึก: 453394เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท