หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม



          ผมขอแนะนำหนังสือ “หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม”   ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่นี่   ผมได้เขียนคำนำให้ดังนี้

 

คำนิยม


หนังสือ หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม


วิจารณ์ พานิช
…………….

 

          ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือ “หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม” ที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้   หลังจากได้เขียนคำนิยมให้แก่หนังสือ “หาดทราย...มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น” ไปแล้วครั้งหนึ่ง   หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีคุณค่าต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์หาดทรายของไทยอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี   รวมทั้งจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการวิจัยสร้างความรู้เกี่ยวกับหาดทราย และเกี่ยวกับพลวัตของหาดทราย เพิ่มขึ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาดทรายในเขตร้อนชื้น และในบริบทสังคมไทย

          หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าใจวัฏฏจักรธรรมชาติ หรืออิทัปปัจจยตาของหาดทราย   เมื่อเข้าใจ เราก็จะไม่เป็นผู้ทำลายโดยไม่รู้ตัว หรือโดยเจตนาดีแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำลายโดยนโยบายของโครงการขนาดใหญ่ กินพื้นที่กว้าง การทำลายก็จะกว้างและอาจจะถาวร คือไม่มีวันได้ธรรมชาติที่สวยงาม และมีคุณค่าทางธรรมชาติกลับคืนมา   และการทำลายอาจไม่หยุด แค่ชายหาด อาจกินลึกเข้าไปในแผ่นดิน หรือในพื้นน้ำของ ทะเลกว้าง    และอาจถึงขนาดก่อการ เปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ   รวมทั้งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อม    เพราะหาดทรายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่กว้างใหญ่    เป็นระบบที่ เกาะเกี่ยวถึงกันหมด   โดยมีเหตุผลหรือกลไกทาง ธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง

          หนังสือเล่มนี้ มุ่งนำเสนอระบบนิเวศ หรือความเข้าใจกลไกธรรมชาติที่ละเอียดอ่อน และเชื่อมโยง ต้องการการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ที่ใช้หลายศาสตร์มาประกอบกัน   ใช้มุมมองที่ เชื่อมโยงกว้างขวาง โดยไม่ลืมมิติมนุษย์ สังคม หรือชีวิตของผู้คน   และหลายกรณีต้องการการศึกษา ติดตามระยะยาว   เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต   นำไปสู่มุมมองเชิงอนาคต ระยะยาว   ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย

          เรื่องระบบนิเวศของหาดทรายนั้น ก็เช่นเดียวกับเรื่องธรรมชาติที่ซับซ้อนอื่นๆ  ที่มีทั้งส่วนที่ มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจแล้ว และส่วนที่จะต้องศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจอีกต่อไป   ส่วนที่รู้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าความรู้นั้นจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด   หลายส่วนยังเป็นเพียงความรู้เบื้องต้น หรือยังเป็นเพียง การอนุมาน ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจน   เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป มีการเก็บข้อมูลหลักฐานเพิ่มขึ้น ความรู้ ที่มีอยู่อาจถูกพิสูจน์ว่าไม่จริง ต้องเปลี่ยนความเชื่อนั้น  ท่านผู้อ่านจึงอาจพบว่าบาง ข้อความใน หนังสือเล่มนี้ไม่ตรงกับความรู้เดิมของท่าน   ท่านจะเชื่อความรู้ชุดใด ต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง   และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่จะต้องเขียนโดยให้ข้อมูลหลักฐานประกอบให้น่าเชื่อถือ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ท่านกำลังนำเสนอเพื่อหักล้างความเชื่อเดิมที่เชื่อกันผิดๆ อย่างดาดดื่น

          การค้นคว้าวิจัยเรื่องระบบนิเวศหาดทรายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง   ผมจึงรู้สึกยินดีที่แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ของ สสส.  ให้การสนับสนุนกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานวิจัย เรื่องชายหาดภาคใต้มาเป็นเวลานาน   เพื่อนำผลงานวิจัยออกสู่สังคม และสู่การกำหนดนโยบาย สาธารณะ   และเพื่อทำงานวิจัยเรื่องพลวัตของหาดทราย และเรื่องระบบนิเวศหาดทราย ในบริบทไทย อย่างต่อเนื่อง

          เมื่อมองหาดทรายชายทะเลในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราจะสามารถเชื่อมโยงหาดทรายกับสิ่งอื่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด   ทั้งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น   ในหนังสือเล่มนี้มีการเอ่ยถึงลมอยู่บ้างในส่วนของเนินทราย   แต่ผมคิดว่ายังน่าจะได้ทำวิจัยเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับปัจจัยของลมต่อระบบนิเวศที่หาดทรายให้เชื่อมโยงกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งกว่านี้   นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงป่าชายเลน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของหาดทรายอย่างไรบ้าง

          อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะได้มีการศึกษาคือฝน   ฝนชุกกับฝนแล้งมีผลต่อระบบนิเวศหาดทรายอย่างไรบ้าง   ปีที่ฝนแล้งระบบนิเวศหาดทรายมีลักษณะอย่างไร   ปีที่ฝนชุกมากระบบนิเวศหาดทรายมีลักษณะอย่างไร   เหล่านี้เป็นประเด็นที่ควรมีการเก็บข้อมูลหาความรู้เพิ่มเติม 

          สิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นและน่าจะเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศหาดทรายอย่างหนึ่งคือบ่อเลี้ยงกุ้ง   ที่มีการถ่ายน้ำจากบ่อเลี้ยงกุ้งลงสู่ทะเล   น่าจะมีการศึกษาว่าในพื้นที่ที่มีบ่อเลี้ยงกุ้งหนาแน่น ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศหาดทรายอย่างไรบ้าง

          การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติส่วนใหญ่เกิดขึ้นช้าๆ   ส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงแบบเป็นวัฏฏจักร  คือวนกลับที่เดิมหรือสภาพเดิม   มีบ้างที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรงและไม่กลับคืนสภาพเดิม   แต่การ เปลี่ยนแปลงด้วยฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ มักเปลี่ยนรุนแรงและไม่มี วันคืนสภาพ   นี่คือ

          เหตุผลที่เราต้องศึกษาทำความเข้าใจปัจจัยและกลไกที่ก่อความเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศหาดทราย   เพื่อให้เข้าใจว่า เมื่อมนุษย์เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จุดหนึ่งหรือปัจจัย หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ จะตามมาอย่างไรบ้าง

          หนังสือเล่มเล็กนี้มี ๕ บท   อ่านแล้วจะได้ความเข้าใจสภาพที่เสมือน “มีชีวิต” ของหาดทราย   รวมทั้งเข้าใจเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในหาดทราย หรือมาหากินที่หาดทราย

          ในบทที่ ๔ วิถีชุมชนบนหาดทราย มีกรณีตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ๓ กรณีตัวอย่าง   เป็นตัวอย่างของผลร้ายต่อสภาพของหาดทราย   ทำให้ผมนึกอยากทราบกรณีตัวอย่างที่การดำเนินการก่อผลดีต่อความสวยงามยั่งยืนของหาดทราย   ในโอกาสต่อไปทีมวิจัยทีมนี้น่าจะได้ศึกษาและนำมาเสนอให้เห็นว่า   นโยบายสาธารณะที่ดีในเรื่องหาดทราย ที่เห็นผลดีเป็นที่ประจักษ์ ในประเทศไทย มีอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร   ทำไมจึงเกิดขึ้นได้

          ในบทที่ ๔ นี้ เมื่ออ่านถึงเรื่องการปักทางมะพร้าวล่อปลากระบอก ที่ชายหาดบ้านปาตาปูดี   ผมก็ได้ เรียนรู้ว่าในวิถีชุมชนนั้น มีการเคารพสิทธิทางปัญญาของผู้อื่น โดยไม่ต้องจดทะเบียน ทรัพย์สินทาง ปัญญา

          โดยสรุป ผมเห็นว่า หนังสือ “หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม” มีคุณค่าสูงต่อการดำเนินการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของหาดทรายชายทะเล ให้มีความยั่งยืน ดำรงคุณค่าต่อสังคมในอนาคต   เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของหาดทรายชายทะเลในแง่มุมต่างๆ อย่างเชื่อมโยงและลึกซึ้ง

          ผมอยากเห็นการวิจัยท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับหาดทรายชายทะเลในท้องถิ่นของตน   โดยมีนักเรียน ครู ผู้นำชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เข้ามีส่วนร่วมในหลากหลายบทบาท   โครงการวิจัยท้องถิ่นในหลายๆ พื้นที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวิจัยท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์หาดทรายชายฝั่งอย่างยั่งยืน   โดยทีมวิจัยผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือเป็นเครือข่าย และสนับสนุนทางวิชาการ   โดยค่าใช้จ่าย (ซึ่งต้องการเพียงเล็กน้อย) ในการดำเนินการวิจัยท้องถิ่น มาจากท้องถิ่นเอง (เช่นจาก อบต.)   จะช่วยให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี ในระดับท้องถิ่น เกี่ยวกับหาดทรายชายทะเล อย่างยั่งยืน และอย่างอิงหลักฐานความรู้

         ผมขอแสดงความยินดีต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้   รวมทั้งมีการนำหนังสือเล่มนี้ไปดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับหาดทรายในหลากหลายระดับ หลากหลายมิติ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ 
 

          ผมได้แนะนำหนังสือเรื่องหาดทรายเล่มแรกไว้ที่นี่   



 

หมายเลขบันทึก: 453330เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศาลปกครองสงขลาได้ตัดสินแล้ว เมื่อ 29 กค 54

คดีที่ชาวสะกอม สงขลา ฟ้องกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนริมทะเล

ทำลายหาดทราย ชายฝั่ง และวิถีชีวิต ขอเรียนเชิญ

อ่านคำตัดสินได้ที่

http://www.bwn.psu.ac.th/court29jul.html

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท