จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

อีกไกลไหม?


เมื่อคืนกับคืนนี้ ผมเปิดคอมมาเพื่อเป้าหมายหนึ่งครับ แต่สุดๆ แล้วเมื่อคืน งานผมไม่เดินเลยแม้แต่นิดเดียว ผมก็เลยเปลี่ยนเป้าว่า ถ้างานไม่เดิน ขอว่าได้เขียนบันทึกที่เป็นประโยชน์สักนิดก็ยังดี แต่ท้ายที่สุด เมื่อคืนก็ไม่ได้เรื่องใดๆ ทั้งสองเป้าหมายเลย คืนนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างเมื่อคืน แต่ก็เอาเป็นอย่างหลังแล้วกันครับ เขียนอะไรก็ได้ให้ประเทืองปัญญาตัวเองบ้าง ก็ยอมรับกับตัวเองเสมอๆ ว่า มันเป็นไปได้ครับที่คนเราจะหลงลืมเป้าหมายของตัวเองไปบ้าง อือ แต่อย่าบ่อยครับ เพราะมันจะหมายถึงการหลงลืมจุดยืนของตัวเองไป 

ผมโปรยตัวข้อบันทึกไว้ว่า อีกไกลไหม? ความจริงเป็นการตั้งคำถามตัวเองและถามคนอื่นๆ ด้วย ผมมีคำถามนี้กับหลายๆ งานของผมในขณะนี้ครับ และก็กับอีกหลายท่านที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่องและบางทีก็มีมาพาดพิงผมด้วยเช่นกัน 

 

คำถามแบบนี้บางทีเหมือนแสดงอาการของคนถามออกมาให้เห็นครับว่ากำลังมีสภาพเป็นอย่างไร ผมเองเจอคำถามนี้มันทำให้หวนกลับไปคิดถึงบทความชิ้นหนึ่งของผมครับ ครั้งนั้นเขียนตอนกำลังเริ่มงานการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นบทความชิ้นแรกที่เดิมๆ จะส่งพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ปรับใหม่แล้วมาส่งพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัย (วิทยาลัยในขณะนั้น) และต่อมาก็มีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขอไปลงอีกครับ พร้อมกับบอกเหตุผลว่า เป็นบทความที่กระเทาะแก่นความต้องการทางการศึกษาจริงๆ

ย้อนไปบทความชิ้นนั้น สิบปีแล้วครับ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในการทำงานของผมเลย ผมมุ่งเป้าไปตรงนั้นจริงๆ และคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ของผมมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะนำมาเป็นเครื่องมือว่า จากสิบปีที่แล้วจนถึงวันนี้ เป้าอยู่ที่เดิม แต่สถานะการขับเคลื่อนของผมยังไม่ถึงเป้า มันเกิดอะไรขึ้น? (เพราะความจริงผมยังไม่ท้อที่จะไปให้ถึงครับ)

หลายท่านคงงงว่าอะไรคือเป้าหมาย แล้วผมเขียนอะไรไว้ในบทความเรื่องนั้น? ผมเขียนถึงสาเหตุความล้าหลังของสังคม ของคนอันเนื่องจากระบบการศึกษา ผมพยายามบอกในครั้งนั้นว่า บางทีไม่ใช่กระบวนการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด ไม่ใช่การจัดการจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามแบบที่อยากได้ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เข้ากับยุคก็คือ ไม่ใช่ว่าครูจะเปลี่ยนการสอนไปเป็นการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่เป็น แต่ความจริงคือ เป้าหมายการจัดการศึกษายังไม่ถูกกับจุดที่ควรจะเป็น

เมื่อหลายคืนก่อน นั่งฟังความเห็นของนักปราชญ์ผ่านทางโทรทัศน์ ท่านว่า การจัดการศึกษาบ้านเราเหมือนกับให้ใครก็ไม่รู้มาสอนลูกหลานเราให้เป็นอย่างโน้น อย่างนี้ ซึ่งที่ให้เป็นนะไม่ใช่อย่างที่พ่อแม่อย่างเราอยากให้เป็น เราสอนแบบตามตะวันตก เราถอดกระบวนการจากตะวันตกมาสอนลูกเรา ในขณะที่เราไม่ได้อยากให้ลูกเราเป็นเช่นนั้นทั้งหมด

บังเอิญครับว่า ประเด็นนี้มันทำให้ผมย้อนคิดถึงงานเขียนผมเอง (ซึ่งผมก็ถอดเกร็ดมาจากงานเขียนของไซยิด กูตุ นักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญของโลกมุสลิมมาใส่ไว้ในงานผมเหมือนกัน) และช่วงเวลาที่ผ่านมาผมมักตั้งประเด็นคำถามนี้มาตลอดว่า อะไรคือเป้าหมายการจัดการศึกษาจริงๆ ที่เราอยากได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า ในรอบสามปีมานี้ คำตอบเหมือนเดิมทุกอย่างคือ "เราอยากได้แบบที่อาจารย์ว่ามานั้นแหละ เพียงแต่คิดว่าตอนนี้เรายังทำไม่ได้"

ท้ายสุดขออนุญาตเอารูปลูกๆ มานำเสนอสักนิดหนึ่งครับ ไม่ได้เอามาให้ดูนานแล้ว คงมีหลายท่านคิดถึง ถ่ายเมื่อตอนเช้าครับ อันเนื่องจากโรงเรียนให้ลูกทำการ์ดวันแม่ งานฝีมือผมไม่ค่อยถนัด ถนัดใช้เครื่องมือ เลยต้องให้ทุกคนแต่งตัวมาถ่ายรูป แล้วจะเอาเครื่องมือมาทำให้เป็นการ์ด ที่ลูกต้องลงมือทำเองต่อ

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 452742เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท