การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2


การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2              

  สืบเนื่องจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ  โดยในการดำเนินงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง  และที่ประชุมสภาการศึกษาเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง  ดำเนินการให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ ได้ทำการศึกษา  สังเคราะห์เอกสาร  รายงานที่เกี่ยวข้อง  ผลการปฏิรูปการศึกษา ๙ ปีที่ผ่านมา  ทิศทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต  และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร  แล้วจัดทำเป็นข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑) เสนอต่อที่ประชุมสภาการศึกษาในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒  ซึ่งมีมติเห็นชอบและให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป  คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒  มีมติเห็นชอบ "ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑)"  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้  และเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ  และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา  แล้วดำเนินการต่อไปได้

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ  โดยมีเป้าหมายหลัก ๓ ประการ คือ       

๑.      พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย 

๒.     เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ        

๓.     ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษามี ๔ ประการคือ        

๑.      พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่        

๒.     พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่        

๓.     พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่        

๔.     พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่

       

เป้าหมายยุทธศาสตร์และตัวบ่งชี้

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)

เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์  คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.)  ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  จึงกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์  ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานตั้งแต่บัดนี้จนสิ้นสุด พ.ศ.๒๕๖๑  ดังนี้

เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๑    คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

                ๑.๑    ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติ  มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐

                ๑.๒    ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (ผลทดสอบ PISA)

                ๑.๓    ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

                ๑.๔   ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

                ๑.๕   สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาเป็น ๖๐:๔๐

                ๑.๖   ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากลและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

                ๑.๗ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕-๕๙ ปี)  เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี

เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๒    คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  รักการอ่าน  และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

                ๒.๑    ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕  มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

                ๒.๒    อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕-๖๐ ปี)  เป็นร้อยละ ๑๐๐

                ๒.๓    ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

                ๒.๔   คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน / นอกเวลาทำงาน  โดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที

                ๒.๕   สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๖ ปี ขึ้นไปเป็นร้อยละ ๕๐

เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๓    คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

                ๓.๑    ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความเป็นพลเมือง

                ๓.๒    จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

                ๓.๓    จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ตั้งครรภ์  ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

                ๓.๔    จำนวนเด็กและเยาวชนเข้ารับการบำบัดยาเสพติด  ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

                ๓.๕    สัดส่วนคนไทยที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอ  เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ต่อปี

เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๔    คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ  มีความสามารถในการแก้ปัญหา  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีความสามารถในการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

                ๔.๑    ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕  มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์  มีวิจารณญาณ  มีความคิดสร้างสรรค์

                ๔.๒    ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา  มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน ๑ ปี  รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

                ๔.๓    กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป  เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

หมายเลขบันทึก: 452639เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท