จริยธรรมนักการเมือง (3)


จริยธรรมนักการเมือง

จริยธรรมนักการเมืองกับการเมืองเชิงสมานฉันท์ (3)

กลไกที่สำคัญในการป้องกันผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมขัดกัน   ได้แก่ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ปปช. คตง. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ซึ่งต้องดำเนินการโดยรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ   

สำหรับ กกต.ได้วางแนวทางในการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงและการลด    ความแตกแยกของชุมชน  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของไทย ทั้งที่กฎหมายมีโทษรุนแรง แต่ กกต.มีเจ้าหน้าที่เพียง ๒,๐๐๐ คน เท่านั้น กกต.จึงเน้นการสร้างเครือข่าย และส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่นักการเมืองแต่ละพรรคการเมืองมาลงนามด้วยความสมัครใจในคำปฏิญาณตนว่า จะไม่กระทำการลักษณะใดบ้างที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยถือว่าเป็นการทำข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ซึ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบกติกาในการแข่งขันและสร้างความสำนึกว่าการแข่งขัน ในการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นการเอาแพ้เอาชนะกันแต่เป็นการแข่งขันกันเสนอนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชุมชน และประโยชน์ของประเทศชาติ  

การแก้ไขความขัดแย้งโดยกระบวนการการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ใช้กลไกในการจัดการกับความขัดแย้งในการเลือกตั้ง       ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์       พ.ศ. ๒๕๕๐ [๑]  สองประการ คือ

ประการแรก การสร้างความรู้ความเข้าใจ[๒] และการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้สมัคร ผู้สนับสนุน หรือหัวคะแนน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยการจัดโครงการให้ความรู้แก่ผู้สมัคร ผู้สมัคร ผู้สนับสนุน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดได้จัดโครงการในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี ๒๕๕๐ และในปี ๒๕๕๑ ไปแล้ว ๒,๑๑๕ แห่ง ใช้งบประมาณ  ๓๒,๙๕๓,๙๗๓ บาท  ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ มีข้อบ่งชี้ประการสำคัญคือการลดลงของปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยดูจากข้อร้องเรียน ที่ได้จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบว่า การร้องเรียนและร้องคัดค้านในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ในปี ๒๕๔๖ มีการร้องเรียนสูงถึง ๑,๐๗๔ สำนวน แต่ในปี ๒๕๕๐ ลดลงเหลือเพียง ๖๕๖ สำนวน และปัญหา   การไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลดลงจนแทบไม่มีเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณา

ประการที่สอง กระบวนการสร้างความสมานฉันท์  เป็นการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ.๒๕๕๐ ข้อ ๘

การสำคัญผิดในข้อกฎหมายหมายถึง การที่ผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายกำหนด

การสำคัญผิดในข้อเท็จจริง คือข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำเข้าใจผิดว่ามีอยู่จริง

เกณฑ์หรือมาตรฐานในการพิจารณา คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะต้องพิจารณาว่ากระทำที่มีการร้องเรียนหรือร้องคัดค้านเข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมายในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ การกระทำมีการร้องคัดค้านมีข้อเท็จจริงอย่างไร หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่กฎหมายกำหนดก็ไม่สามารถนำเรื่องร้องคัดค้านดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ได้

           นอกจากการใช้กลไกจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ.๒๕๕๐ แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งยังจัดทำโครงการเรียนรู้การการเมืองและเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์สำหรับชุมชนเข็มแข็ง โดยใช้บทเรียนจากชุมชนที่ผ่านกระบวนการการเมืองเชิงสมานฉันท์[๓] จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นระหว่างประชาชนและผู้นำท้องถิ่น เรียกว่ากระบวนการสานเสวนา (Citizen Dialogue) ซึ่งใช้ในประเทศแคนนาดา ในโครงการ Canadian Health Care Dialogue Program[๔] เพื่อให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชนหาฉันทาคติในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน เปลี่ยนแปลงความขัดแย้งเชิงอำนาจในการช่วงชิงการนำ       โดยการเลือกตั้งให้กลายเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างสันติวิธี ซึ่งการจัดทำโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จพอสมควร การเมืองเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวได้ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน  แผนหมู่บ้าน แผนตำบล

            สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประชาธิปไตย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับครู-อาจารย์  ช่วงชั้นที่ ๑- ๔ (ประถมปีที่ ๑ – มัธยมศึกษาปีที่ ๖)  เพื่อให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกแก่เด็กนักเรียนและเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันคู่มือสำหรับช่วงชั้นที่ ๑ และ ช่วงชั้นที่ ๒ เสร็จแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการประชุมเชิงปฏิบัติการครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษา ตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๑   โดยได้แจกจ่ายหนังสือคู่มือฯรวมทั้งแผ่นซีดีไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ เนื่องจากสำนักงานมีงบประมาณจำกัด จึงไม่สามารถจัดพิมพ์ให้ได้ครบทุกโรงเรียนที่เหลือจึงจัดทำคู่มือในรูปแผ่นซีดี

บทสรุปของการเมืองเชิงสมานฉันท์

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชนอันเนื่องมาจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงการนำและผลประโยชน์ทางการเมือง มีความเป็นไปได้ที่จะใช้กลไกการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์โดยในระดับผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้กลไกการให้ความรู้ความเข้าใจ กฎหมาย ระเบียบ หลักประชาธิปไตย หลักการหาเสียงที่ถูกต้อง ร่วมไปกับกลไกการให้การเรียนรู้ โดยการจัดเวทีชุมชนในระดับตำบลหมู่บ้านเพื่อสร้างฉันทามติในกระบวนการสรรหาผู้ที่จะลงสมัครแข่งขันการเลือกตั้งเพื่อไปทำหน้าที่ผู้นำเสียสละเพื่อชุมชน โดยใช้แนวทางการเมืองเชิงสมานฉันท์ และหากเมื่อการเลือกตั้งดำเนินการไปจนรู้ผลแพ้ชนะแต่ผู้แข่งขันยอมกันไม่ได้เนื่องจากสำคัญผิดในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงแล้ว จึงใช้กลไกกระบวนการการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์โดยหาคนกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ส่วนในเรื่องที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ก็เชื่อว่าจะช่วยให้         การเลือกตั้งในท้องถิ่น ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นการแข่งขันกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม ประเทศชาติโดย   ส่วนรวมนั่นเอง

การสร้างการเมืองสมานฉันท์นั้น  จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสังคมเมืองไทย ไปสู่การเลือกตั้งที่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน การกระทำการของนักการเมืองอยู่ในกรอบของระเบียบของกฎหมายและจริยธรรมทั้งก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่ง หรือแม้แต่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งจะต้องอาศัยนักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความตั้งใจ และการมีจุดยืน การมีอุดมการณ์ใหม่ๆ ที่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน  เป็นสำคัญ สร้างความรักความสามัคคีของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ก่อประโยชน์ต่อชุมชน และประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่ความมีเอกภาพ ความสมัครสมาน ความรู้รักสามัคคีของคนในสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง ผู้สมัคร ผู้เลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สนับสนุน  มองไปที่ความเจริญและอนาคตของประเทศชาติ  ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าประสงค์ของตนเอง ได้อย่างชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนของตนอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นพื้นฐานการพัฒนาการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนสืบไป.


[๑] ระเบียบคณธกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วย การเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ พ.ศ.๒๕๕๐

[๒] มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๔๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เพื่อ เป็นการสร้างความสามัคคีชุมชน  ให้ความรู้กฎหมาย ระเบียบและวิธีปฏิบัติแก่ผู้สมัครและประชาชนทั่วไป โดยมอบหมายเป็นภารกิจของด้านกิจการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

[๓] ตัวอย่างให้ชุมชนเข็มแข็งที่ใช้หลัก การเมืองเชิงสมานฉันท์ เช่น อบต.น้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนเข็มแข็งของตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนเข็มแข็งของตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ชุมชนเข็มแข็งของตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น ,http://gotoknow.org/blog/paiboon/21444

[๔] โครงการประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการเมืองสมานฉันท์  เป็นโครงการร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และวิทยาลัยการจัดการทางสังคม ในสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (อพช.) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ

  

หมายเลขบันทึก: 452218เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท