โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศ (The Intelligent School)


โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศ (The Intelligent School)

     Howard Gardner (1983) เป็นผู้บุกเบิกการนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับ “ความฉลาดหรือ สติปัญญา” (Intelligence) ของมนุษย์ โดยสังคมในอดีตมักเชื่อว่า ความฉลาดหรือสติปัญญาของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ความฉลาดทางการคิดหาเหตุผลเชิงตรรกะกับความฉลาดที่เป็นความสามารถทางภาษา แต่จากผลการวิจัยต่าง ๆ ที่พยายามจะหาคำตอบซึ่งสามารถพยากรณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่บุคคลเรียนรู้จากโรงเรียนกับความสำเร็จในอาชีพและการใช้ชีวิตส่วนตัวในสังคมแล้ว Gardner พบว่ายังมีความฉลาดหรือสติปัญญาที่นอกเหนือจากสองด้านดังกล่าวอยู่อีกอย่างน้อย 6 ด้าน ที่อาจทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้แก่ ความฉลาดด้านดนตรี (MusicIntelligence)

ความฉลาดด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily – kinesthetic Intelligence)

ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) ความฉลาดทางการเข้ากับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence)

ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

และความฉลาดด้านธรรมชาติ (Natural Intelligence)

โดย Gardner ได้รวมเรียกความฉลาดหรือสติปัญญาเหล่านี้ว่า “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Multiple Intelligence Theory)
เนื่องจากโรงเรียนหรือสถานศึกษามีลักษณะที่เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต (Organic organization) กล่าวคือมีการเกิด การเจริญเติบโตและการเสื่อมสลายเฉก เช่นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสามารถในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรา เรียกว่า องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) ด้วยเหตุนี้ Macgilchrist และคณะ (1997) จึงเชื่อว่าโรงเรียนก็ต้องมี “ความฉลาดหรือสติปัญญา” เฉกเช่นมนุษย์ดังกล่าวแล้ว โดย Macgilchrist และคณะได้ปรับทฤษฎีพหุปัญญาของ Gardner มาใช้อธิบายกับกรณีของโรงเรียน โดยเรียกโรงเรียนที่มีความฉลาดหรือมีสติปัญญาครบทุกด้านต่อไปนี้ว่าเป็น “โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศ” (The Intelligent School) ซึ่งได้แก่

1. ความฉลาดเชิงบริบท (Contextual Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการสร้างสายสัมพันธ์ความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนกับโรงเรียน มีความสามารถในการอ่านสถานการณ์และบริบททั้งภายในและภายนอกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีการบริหารจัดการที่ยึดความยืดหยุ่น (Flexible) และพร้อมปรับตัว (Adaptable) อย่างเท่าทันต่อภาวะเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ดีตลอดเวลา

2. ความฉลาดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการใช้ความฉลาดเชิงบริบทดังกล่าว มาจัดทำเป้าหมายที่แจ่มชัดของโรงเรียน (Clear goal) สร้างวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายร่วม (Shared aims and purposes) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถผลักดันวิสัยทัศน์ลงสู่ภาคปฏิบัติจริง โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานต่าง ๆ ออกมารองรับ และทำให้ทุกคนผูกพันต่อวิสัยทัศน์นั้น

3. ความฉลาดเชิงวิชาการ (Academic Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนที่สามารถให้ความสำคัญต่อจุดเน้นด้านผลสัมฤทธิ์และด้านวิชาการ (Emphasizes achievement and scholarship) สามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมช่วยกันสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนและทุ่มเทต่อการเรียนที่มีคุณภาพของนักเรียนอย่างจริงจัง

4. ความฉลาดเชิงพิเคราะห์ไตร่ตรอง (Reflective Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการติดตามและประเมินการดำเนินงานตลอดจนกิจกรรมทั้งหลายอย่างละเอียดถี่ถ้วนรู้จักใช้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาช่วยขยายผล เพื่อเพิ่มความมีประสิทธิผลและการปรับปรุงแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะรู้จักใช้ข้อมูลจากการประเมินผลการเรียนของนักเรียน มาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการเรียนและการสอนให้มีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงยิ่งขึ้น

5. ความฉลาดเชิงวิธีสอน (Pedagogical Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการทำให้ครูทุกคนยอมรับที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างจริงจัง (Emphasizes learning about pupils’ learning) โรงเรียนต้องสามารถสร้างความมั่นใจต่อสาธารณะชนและ ผู้ปกครองได้ว่ามีการติดตามตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนและผลการสอนของครูพร้อมทั้งมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โรงเรียนมีความกล้าและท้าทายที่จะนำวิธีการสอนใหม่ ๆ มาทดลองใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น

6. ความฉลาดเชิงวิทยสัมพันธ์ (Collegial Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการทำให้ทุกคน (ผู้บริหาร ครู ฯลฯ) มีมุมมองและยอมรับว่า ตนคือผู้เรียนรู้ (นักเรียน) คนหนึ่ง (view the staff as learners) สามารถทำให้ครูพึงพอใจที่จะรวมกลุ่มถกปัญหาทางวิชาการ ปัญหานักเรียน ตลอดจนร่วมมือช่วยปรับปรุงพัฒนาการสอนของกันและกันด้วยความเต็มใจของทุกฝ่าย
ภายใต้ความมีอิสระและมีบรรยากาศทางวิชาการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง


7. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เป็นความสามารถของโรงเรียนในการสร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีที่มีความอบอุ่น ให้การยอมรับต่อความรู้สึกของผู้อื่นด้วยความเข้าใจและส่งเสริมให้ทุกคนรู้ถึงวิธีการร่วมมือกันทำงานอย่างราบรื่น ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าใจถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของอารมณ์ตนเอง เพื่อที่จะได้แก้ไขพัฒนาหรือควบคุมอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาต่อการทำงานแบบทีมหรือการเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนโรงเรียน


8. ความฉลาดเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Intelligence) โรงเรียนควรเป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาณแฝงด้วยความเมตตา มีความรัก เอื้ออาทรและปรารถนาดีต่อสมาชิกทุกคน โดยเฉพาะต่อนักเรียนตลอดจนถึงครู บุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและชุมชน จิตวิญญาณดังกล่าวของโรงเรียนสามารถแสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่สื่อให้ทุกคนสามารถรับรู้และพร้อมที่จะยึดถือร่วมกันจนฝังรากลึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโรงเรียนในที่สุด

9. ความฉลาดเชิงจริยธรรม (Ethical Intelligence) โรงเรียนจะต้องสามารถสร้าง
ภาพลักษณ์ของตนเองต่อสาธารณชนว่า โรงเรียนของเราคือ สถาบันแห่งคุณธรรมและจริยธรรม(Moral and ethical institute) ที่ซึ่งมีผู้บริหารและคณะครูสามารถเป็นต้นแบบของการประพฤติด้านจริยธรรม (Ethical model) ต่อสังคมเป็นหน่วยงานที่สามารถช่วยกำหนดปทัสถานทางสังคม(Social norm) การตัดสินใจในการดำเนินงานไม่ว่าเรื่องใดจะต้องตั้งอยู่บนเหตุผลของค่านิยมทางศีลธรรม (Moral value) เป็นหลักมากกว่ายึดหลักการอื่นใด และที่สำคัญคือการบริหารจัดการโรงเรียนจะต้องยึดหลักการที่ทุ่มเทเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้นักเรียนได้เจริญงอกงาม ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข (ดี เก่งและมีสุข) มากที่สุด

.......................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 452124เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมให้กำลังใจในการเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท