การเข้าร่วมสัมมนา 21st Asia- Pacific Social Work Conference


รายงานการเข้าร่วมสัมมนา

21st  Asia- Pacific Social Work Conference

 Crossing Border: Interdependent Living and Solidarity

ความเป็นมา 

                นักสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคเอซียแปซิฟิครวมตัวจัดตั้งองค์กรการศึกษาสังคมสงเคราะห์ที่เรียกว่า Asia- Pacific Association Social Work Education เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิชาการและนักสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคและจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา 2 ปีต่อครั้งโดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดตามประเทศสมาชิก ในปี2011 ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาโดยมีหัวข้อว่า Crossing Border: Interdependent Living and Solidarity ในระหว่างวันที่ 15-18 กรกฏาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว

 

ผลการสัมมนา 

                ท่ามกลางความสูญเสียของประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ผู้จัดยังคงยืนหยัดที่จะจัดประชุมเพื่อแสดงถึงความตั้งใจจริงของการทำงานสังคมสงเคราะห์แม้ว่าอยู่ในภาวะลำบากแต่ก็ต้องกล้าเผชิญและมุ่งมั่นกับการทำงานและเป็นการเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 700 คน จาก 18 ประเทศ

                การปาฐกถานำโดย Tadateru Konoe   ประธานสภากาชาดของญี่ปุ่น( Japaness Red Cross Society)             ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผลต่อประชาคมโลกที่สำคัญ 3 ด้านคือ

 1.ภาวะโลกร้อน ปรากฏารณ์ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี สูงขึ้นถึง 60 % มีผู้ได้รับผลกระทบระดับรุนแรงมากกว่า 2.7 ล้านคน

2. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองภัยการก่อการร้ายที่มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบถึงความไม่มั่นคงต่อการดำรงชีวิต ความหวาดระแวง แต่ในขณะเดียวกันมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรสูงในยุโรปและภายในปี 2015ประชาคมอาเซียน 10 ประเทศก็จะมีการหลอมรวมใกล้ชิดกันมากขึ้น

 3. ความยากจนและมนุษยธรรม  ประชากรจำนวน 9.2 ล้านที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาต้องประสบกับภาวะความยากจนซึ่งองค์กรสหประชาติชาติร่วมมือกับประเทศต่างๆขจัดความยากจนให้หมดสิ้นภายในปี 2015โดยการดำเนินการตั้งเป้าหมายแห่งการพัฒนาของสหัสวรรษ (MDG) เพื่อขจัดความยากจนตามเป้าหมายที่วางไว้

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้วันหนึ่งหลายคนอาจต้องประสบกับความยากลำบาก ครอบครัว ชุมชน สังคม และ องค์กรสวัสดิการสังคมและองค์กรพัฒนาต่างๆต้องร่วมมือกันก้าวข้าวความท้าทายเหล่านี้ สภากาชาดที่มีทั่วโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปรัชญาของสภากาชาดและสวัสดิการสังคมมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นอิสระของมนุษย์ จากสถานการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 เกิดขบวนการอาสาสมัครความต้องการที่จะสร้างความปลอดภัยและฟื้นฟูทั้งด้านเศรฐกิจและสุขภาพให้แก่ผู้ประสบภัยนับเป็นการระดมทรัพยากรครั้งใหญ่ที่มนุษย์ชาติมีต่อกัน การสัมนาครังนี้ย่อมเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคมที่ต้องก้าวข้ามพรมแดนต่างๆมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างอิสระและเสมอภาคภายใต้การเปลี่ยนแปลทางสังคมที่รวดเร็วและรุนแรงแบบไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า

 

 

การสัมมนาครั้งนี้มีการอภิปรายที่น่าสนใจ ดังนี้

1. มุมมองของศาสนาพุทธต่อการมีชีวิตอิสระจากประสบการณ์ในประเทศภูฐานและญี่ปุ่นโดย Naoki Nabeshima ที่ได้สืบค้นและตีความหมายของหลักธรรมที่ว่าการมีชีวิตอิสระโดยการพึ่งตนเองแต่ก็มิได้เพิกเฉยต่อการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในศาสนาพุทธ ผู้นำเสนอได้ยกตัวอย่างหลักความสุขมวลรวมของประเทศภูฏานที่ยึดการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชากรมากว่าวัตถุนิยมโดยมีหลักการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การส่งเสริมวัฒนธรรม และหลักการธรรมาภิบาล รวมเป็น4 เสาหลักค้ำจุนความสุขมวลรวม ส่วนเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเดือนมีนาคม 2011แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตอย่างอิสระในสังคมญี่ปุ่นที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยซึมซับความทุกข์ ความสูญเสียของผู้ประสบภัยเสมือนความทุกข์ของตนเองตามความเชื่อของลัทธิเต๋าที่ว่าการอยู่ร่วมกันในมหาสมุทรของความเกิดและตายที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ผู้นำเสนอได้เปรียบเทียบคำสอนของศาสนาพุทธกับโซ่ทองความรักที่ร้อยคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน ไม่ว่าผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบภัยหรือผู้อ่อนแอในบางจังหวะของชีวิตย่อมได้รับความรักความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชุมชน สังคมและโลก คนทุกคนย่อมกระทำความดีตามหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างดีที่สุด

2. International Definition of Social Work Review หัวข้อการอภิปรายเรื่องการทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์จากที่องค์กรสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ ( IFSW และIASSW) ยอมรับนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์สากลในการประชุมวิชาการสังคมสงเคราะห์ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี2001 ซึ่งให้ความหมายว่าวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  ส่งเสริม สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของคน  เสริมพลังและส่งเสริมให้คนและสังคมอยู่ดีมีสุข  โดยใช้ทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์    และระบบทางสังคม    งานสังคมสงเคราะห์เข้าแทรกแซงในจุดที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของเขา  สิทธิมนุษยชน  และความมั่นทางสังคมเป็นหลักพื้นฐานของงานสังคมสงเคราะห์ 

เมื่อครบรอบ 10 ปีที่ประชุมสังคมสงเคราะห์โลกที่ฮ่องกงจึงริเริ่มการททบทวนนิยามความหมายอีกครั้งโดยแต่ละประเทศจะนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ในประเทศของตน หรือจะรวมกันระดับภูมิภาค สำหรับภาคพื้นเอเชียนั้นสถาบันการศึกษาสังคมสงเคราะห์เอเชียแปซิฟิดได้จัดการทบทวนของแต่ละประเทศและมารวมเป็นภูมิภาคขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2010 ที่กรุงโตเกียว และเมื่อมีการประชุมสังคมสงเคราะห์อาเซียขึ้นในปี2011จึงได้นำประเด็นการทบทวนนิยามสังคมสงเคราะห์มาเป็นหัวข้อการอภิปรายในวงกว้างอีกครั้ง

ผลการประชุมล่าสุดนี้อาเซียภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา แม้ว่าส่วนใหญ่จะรับแนวคิดการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มาจากยุโรปและอเมริกาแต่ก็มีบริบททางสังคมของตนเองที่แตกต่างกันยังไม่สามารถยกร่างนิยามความหมายใหม่เพราะการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่ได้เห็นพ้องกัน 4 ประเด็นว่าสังคมสงเคราะห์

1.ส่งเสริมการต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

2. เสริมพลังอำนาจให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองและครอบครัวหรือชุมชน

3. เสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของบุคคลและครอบครัว

4. สร้างเสริมสัมพันธภาพของประชาชนโดยคำนึงถึงความเป็นพื้นถิ่นของแต่ละคนหรือชุมชน

 

ดังนั้นในการทบทวนนิยามสังคมสงเคราะห์อาจมีลักษณะเป็นนิยามที่ไม่ต้องตายตัวแต่มีลักษณะหรือคำสำคัญร่วมกัน เช่น การพัฒนาสังคม  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิบัติงานกับมนุษย์ที่คำนึงถึงบริบทและความเป็นพลวัตของแต่ละคน กลุ่ม สังคมหรือความเป็นพื้นถิ่น( คนและสิ่งแวดล้อม ) การพิทักสิทธิและการเสริมพลัง การปฏิบัติการทางสังคม  (social action ) ความยุติธรรมทางสังคม

การทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคเอเชียเป็นการสร้างความรับรู้การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคให้มีความเป็นตัวตนมากขึ้นมิใช่เพียงแค่การตามรอยของตะวันตก เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของแต่ละประเทศและเป็นเสียงสะท้อนที่สร้างความเข้าใจร่วมกันให้แก่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทั่วโลก

3. การประชุมนำเสนอผลงานวิชาการหรืองานวิจัยทั้งนำเสนอปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ซึ่งมีมากว่า 220 เรื่องแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆเช่น สังคมสงเคราะห์จิตเวช สังคมสงเคราะห์ในโรงเรียน ความพิการและสุขภาพจิต เด็กและครอบครัว นโยบายสังคม สังคมสงเคราะห์อุตสาหกรรม  การคุ้มครองเด็ก ผู้สูงอายุ ความยากจน สิทธิมนุษยชนและงานสังคมสงเคราะห์ สังคมสงเคราะห์ชุมชน สังคมสงเคราะห์วิชาชีพ สังคมสงเคราะห์กับความหลากหลายของประชากรในญี่ปุ่น การอพยพย้ายถิ่น สุขภาพกับสังคมสงเคราะห์ การศึกษาสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น  การเข้าร่วมประชุมนำเสนอผลงานวิจัยซึ่งจัดในช่วงบ่ายจนกระทั่งเย็นมีประเด็นให้เข้าร่วมหลายประเด็นแล้วความสนใจการนำเสนอมีทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นในการนี้มีนักวิชาการจากประเทศไทยนำเสนอผลงานการวิจัย 4 ราย คือ 1.อาจารย์ปานรัตน์ นิ่มตลุง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.รศ.ดร อำไพรัตน์ อักษรพรหม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 3. ดร.ภุชงค์ เสนานุช และ 4.ผศ.โสภา อ่อนโอภาส มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

4. การศึกษาดูงานแบ่งออกเป็น4 กลุ่มคือการศึกษาดูงานสถานสงเคราะห์เด็ก สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ งานสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลจิตเวช และสังคมสงเคราะห์ชุมชน

ผู้รายงานได้เลือกศึกษาดูงานที่สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่ชื่อว่า Shisei Home Senior Service Center  เป็นมูลนิธิด้านสวัสดิการสังคมที่ดำเนินการโดยเอกชนได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ  จะมีอายุการดำเนินงานครบ 100 ปีในปี 2012

Shisei Home Senior Service Center  เริ่มจากการรับเด็กที่กระทำผิดเข้ามาดูแลจนกระทั่งเกิดสงครามโลกทำให้เกิดเด็กกำพร้ามากขึ้นจึงเปลี่ยนกิจกรรมมาดูแลเด็กกำพร้าและเมื่อญี่ปุ่นก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยจึงได้เพิ่มบริการให้แก่ผู้สูงอายุภายใต้ระบบการประกันชราภาพระยะยาวที่ประชาชนวัย 40 -64 ปีจ่ายเงินเข้ากองทุนและจะได้รับการดูแลตามระดับของปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งระดับที่ 1ที่ผู้สูงอายุยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนกระทั่งระดับที่ 5 เป็นผู้สูงอายุที่ประสบกับปัญหามากมีความซับซ้อนในการช่วยเหลือโดยมีบริการตามความต้องการจำเป็นที่หลากหลายเช่นบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องที่พักอาศัยที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ  บ้านพักชั่วคราว  บริการภาคกลางวัน บริการผู้ช่วยเหลือในบ้าน บริการจัดการรายกรณีสำหรับผู้สูงอายุที่พักอาศัยในชุมชน และบริการทางคลินิกผู้สูงอายุ บริการแบบกลุ่มบ้านสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม( Group Home for Dementia ) ผู้สูงอายุมีบ้านพักอาศัยเป็นกลุ่มที่มีพื้นที่กิจกรรมร่วมกันในการฟื้นฟูกิจกรรมสังคมและมีพื้นที่พักผ่อนส่วนตัว และมีบริการที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมหากเป็นบริการที่ไม่ครอบคลุมในการประกันระยะยาวซึ่งครอบครัวผู้ใช้บริการและตัวผู้ใช้บริการจะมีผู้จัดการสุขภาพเป็นผู้ช่วยเหลือในการพิจารณาความจำเป็นของบริการประเภทต่างๆ

จากสังเกตจากจำนวนสถิติการใช้บริการแต่ละบริการมีจำนวนผู้สูงอายุไม่มาก( บางบริการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเพียง 10 ราย ) เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึงและการให้บริการกระจายตามท้องถิ่นมิได้กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพราะองค์กรถือหลักสำคัญคือร่วมมือกับท้องถิ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดบริการร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครกว่า 900 คนเข้าร่วมกิจกรรมของ Shisei Home Senior Service Center  และมีผู้ประสานงานของอาสาสมัครช่วยปรึกษาการดำเนินกิจกรรมของอาสาสมัคร และเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับผู้ใช้บริการเป็นหน่วยงานแบบไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ใช้บริการและอาสาสมัครที่ปรึกษาจากชุมชนต่างๆที่ทำงานพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ รับเรื่องราวร้องทุกข์หรือปรึกษาการให้บริการจาก Shisei Home Senior Service Center 

 

นอกจากการอภิปรายทางวิชาการและศึกษาดูงานแล้วยังมีการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมให้ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงพักระยะสั้นระหว่างประชุมด้วยพิธีชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นด้วยชาที่เรียกว่ามั่กฉะพร้อมขนมหวานอิ่มเอมทั้งรสชาดและความสวยงาม มีการประมูลของที่ระลึกเพื่อรวมเงินเข้ากองทุนJane Hoey ช่วยเหลือสนับสนุนนักสังคมสงเคราะห์จากประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมประชุมนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพของ IFSW ผู้เขียนได้นำของที่ระลึกจากประเทศไทยเข้าร่วมบริจาคด้วย มีซุ้มประชาสัมพันธ์องค์กรสังคมสงเคราะห์เปิดให้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวงานสังคมสงเคราะห์ที่สะดุดตาคงเป็นสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จากเกาหลีมีทั้งหนังสือ เข็มกลัด แผ่นพับแจกไม่อั้นสมกับเป็นประเทศที่กำลังมาแรงด้วยการสร้างจุดเด่นด้วยคำขวัญ Power Social Worker

ภาพประทับใจในการจัดประชุมคืออาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาได้ช่วยงานอย่างเต็มความสามารถแม้ว่าบางคนจะมีข้ออ่อนเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษก็ตามแต่มีบุคลิกที่ใส่ใจต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม อีกทั้งการเลือกกิจกรรมสะท้อนวัฒนธรรมการเต้นรำกลองของชาวโอกินาวาซึ่งผู้แสดงเป็นผู้เคยเสพยาและได้รับการบำบัดฟื้นฟูด้วยการฝึกการแสดงกลองจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้มาแสดงในวันปิดการประชุมวิชาการที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร้องและเต้นรำแบบโอกินาวาเป็นที่สนุกสนาน การจัดประชุมครั้งนี้จึงมีทั้งสาระและความบันเทิงทางวัฒนธรรม

                                                                                                     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 451800เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2011 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท