ข้อเสนอต่อ สสค เกี่ยวกับแนวทางในการพิจารณาโครงการเพื่อสร้างนวัตกรรมระดับโรงเรียนมัธยม


แนวคิดแรก การกำหนดกรอบของการทำงานภายใต้ คำว่า “นวัตกรรม” ของครูในโรงเรียน แนวคิดที่สอง การรวบรวมเครื่องมือต่างๆในรูปของฐานข้อมูลกลาง

วันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่โรงเรียนระดับมัธยมจะขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค

ในการประชุมรอบนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่า เป็นจุดแข็งอย่างมาก ในการประชุมของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ทำให้คณะกรรมการพิจารณาโครงการได้หารือถึงกรอบของการพิจารณาเพื่อสนับสนุน อีกทั้ง ยังเป็นข้อดีในการสร้างประชาคมนักวิจัยและพัฒนาที่จะทำงานเกาะกลุ่มกันไป

หลังจากได้ฟังผู้ทรงคุณวุฒิแลกเปลี่ยนแนวคิด พบว่า มีแนวคิด ๒ เรื่องที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

แนวคิดแรก การกำหนดกรอบของการทำงานภายใต้ คำว่า “นวัตกรรม” ของครูในโรงเรียน เสนอว่า (๑) ต้องทำให้นวัตกรรมเป็นเรื่องของความรู้เชิงประสบการณ์ที่คุณครูใช้ในการทำงานที่มีอยู่แล้ว หรือ กำลังจะดำเนินการที่สำคัญประสบการณ์ในการทำงานของคุณครูทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเพื่อทำให้คุณครูรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคำว่า "นวัตกรรม” (๒) ต้องอธิบายว่า “นวัตกรรม” ที่คุณครูกำลังสร้าง พัฒนา ออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในโรงเรียน ว่ามีกี่รูปแบบหรือกี่ประเภท เข้าใจว่า นวัตกรรม ในการจัดการเรียนการสอนน่าจะมีอยู่หลักๆ ๖ กลุ่ม คือ (๑) เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สร้างเสริมการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนเพื่อเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนมีรูปแบบที่น่าสนใจสอดคล้องกับความต้องการหรือจริตของเด็ก (๒) นวัตกรรมด้านการออกแบบและจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน (๓) นวัตกรรมด้านการจัดทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมระหว่างครูทั้งในกลุ่มสาระเดียวกันหรือต่างสาระ (๔) นวัตกรรมด้านบทบาทครู ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ ครูที่สนับสนุนเด็กในการทำกิจกรรม ครูที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส และ ครูที่สร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียน โรงเรียน ทุกที่ทุกเวลา (๕) นวัตกรรมด้านการออกแบบการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง ทั้ง ด้านทรัพยากร ด้านเวลา ด้านเครือข่ายในการทำงาน (๖) นวัตกรรมด้านการสร้างความยั่งยืน ซึ่งอาจะมีหลายลักษณะ เช่น การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการแบบร่วมทุนทางสังคม เป็นต้น (๗) นวัตกรรมด้านการต่อยอดผลลัพธ์ให้เกิดการขยายผลทั้งในทางสังคม และ เศรษฐกิจ

แนวคิดที่สอง     การรวบรวมเครื่องมือต่างๆในรูปของฐานข้อมูลกลางเพื่อทำให้ครูได้เห็นทางเลือกในการออกแบบกิจกรรมในโครงการในลักษณะต่างๆ เข้าใจได้ว่า การมีฐานข้อมูลในลักษณะนี้ จะทำให้ครูในโรงเรียนต่างๆได้มีแหล่งสืบค้นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนการสอนว่ามีเครื่องมือ หรือเทคนิคแบบใดบ้าง ฐานข้อมูลนี้อาจจะทำรูป “คลังเครื่องมือครูออนไลน์” โดยมีเป้าหมายหลักในการเป็นแหล่งสืบค้นตัวอย่างในการทำงาน เครื่องมือในการทำงาน ตลอดจน อาจเป็นพื้นที่การพูดคุยกันของครู 

คำสำคัญ (Tags): #สสค นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 451707เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2011 03:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท