ความงามของหม่อนในเมืองหนาว


“หม่อน” พืชมหัศจรรย์ของมนุษย์

วิโรจน์   แก้วเรือง

          ความคุ้นเคย ความชินตากับพืชธรรมดาๆ นามว่า “หม่อน (mulberry)”ที่หลายคนนำมาตั้งเป็นชื่อเล่น แม้แต่นางร้ายในละคร “นางกรี๊ด”ทางช่อง 7 สีที่จบบริบูรณ์ไปเมื่อเร็วๆนี้ก็ชื่อ “หม่อน” ความเป็นจริง หม่อนเป็นพืชมหัศจรรย์ชนิดหนึ่ง ที่มีคุณประโยชน์ทุกส่วนของต้น นอกจากจะใช้เป็นอาหารของหนอนไหม แมลงที่ให้เส้นใยอันทรงคุณค่าแล้ว ยังเป็นพืชสมุนไพร และไม้ใช้สอยของมวลมนุษย์อีกด้วย ครั้งนี้จะพาท่านทัวร์ชมความงามของหม่อนในต่างแดนในช่วงฤดูกาลต่างๆโดยเฉพาะแถบยุโรป

          เคยไปเที่ยวยุโรป 9 ประเทศ (อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ลักแซมเบิร์ก สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และลิคเทนสไตน์) เมื่อพ.ศ.2535 ได้พบต้นหม่อนหลายแห่งที่ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน แต่ที่ประทับใจมากที่สุด คือต้นหม่อนยักษ์ อายุมากกว่าร้อยปีอย่างแน่นอนที่สวนและทะเลสาบมายเนา ประเทศสาธารณรัฐเยอรมนี ยืนตระหง่านแผ่กิ่งก้านสาขา แผ่รัศมีกว้างใหญ่หลายเมตร ขนาดลำต้นต้องหลายคนโอบ ถ้าเป็นฝรั่งอาจจะแค่ 2 คนโอบ แต่ถ้าเป็นคนไทยแขนสั้นอย่างเรา อย่างน้อยก็ต้อง 3 คนโอบ แต่ด้วยคณะทัวร์เร่งรีบไปดูความงามของสวนดอกไม้ชนิดอื่นๆ ไม่มีใครสนใจต้นหม่อนเหมือนเช่นผม จึงพลาดโอกาสเก็บภาพหม่อนต้นนั้นมาให้ท่านได้ชื่นชม แต่ถ้าเป็นเนื้อคู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน ผมได้กลับมาเยือนสวนมายเนาอีกครั้ง หลังจากการจัดงาน ไหมไทย สายใยของแผ่นดิน(Thai Silk : Cultural Heritage) ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ประเทศฝรั่งเศส คณะของเราส่วนหนึ่งรวมตัวกัน เที่ยวแบบค่ำไหนนอนนั่น โดยเช่ารถแบบรถทัวร์ที่พัก (Hotel Bus) ซึ่งใช้เป็นที่นอนแบบรถไฟในยามค่ำคืน กลางวันเป็นรถนั่ง เพื่อสำรวจยุโรปอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี เบลเยียม ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเช็ค เมื่อถึงเยอรมนีเราก็เข้าไปชมความงามของมายเนาอีกครั้ง ผมมุ่งหน้าพาพรรคพวกไปหาต้นหม่อนยักษ์อีกครั้งตามความทรงจำ ด้วยความชรา ต้นหม่อนยักษ์ที่เคยยืนต้นท้าแดด ท้าลม เป็นอันต้องล้มตัวเอนนอน แต่ก็ยังสวยงามและน่าเกรงขามไปอีกแบบ กำลังออกดอกติดผลสีเขียว พวกเราชาวหม่อนไหมจึงไม่พลาดที่จะเก็บภาพกับหม่อนยักษ์กันอย่างเพลิดเพลิน เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล กล้องไม่ต้องใช้ฟิล์มจึงรัวภาพกันไม่ยั้ง คาดการณ์ว่าในอดีตต้นหม่อนมีความสำคัญกับการเลี้ยงไหมในยุโรป หรือปลูกไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกแน่นอน เช่นการทำแยม น้ำผลไม้ เป็นอาหารและเครื่องดื่มในครัวเรือน

         ต่อจากนั้นคณะของเรามาถึงกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จากทัวร์รถบัสเปลี่ยนมาเป็นจักรยานทัวร์ เราเสียค่าเช่าจักรยานกันคนละ 10 ยูโร ราว 500 บาทปั่นชมเมืองกันได้ทั้งวัน บ้านนี้เมืองนี้เขาทำเลนจักรยานให้สัญจรกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รถใหญ่มักให้ทางเสมอ แต่ก็อย่าประมาท ทางที่ดีควรเคารพกฎจราจรเป็นดีที่สุด หลังจากชมสถานที่สำคัญทั่วกรุงเวียนนาแล้ว เราปั่นจักรยานกลับที่พัก ซึ่งเป็นคาราวานปาร์ครถบัสขนาดใหญ่สามารถจอดได้อย่างสบาย มีห้องครัว ห้องน้ำ ห้องซักรีดให้กับผู้มาพักและมีอยู่เกือบทุกเมืองทั่วทั้งยุโรป ขณะที่เราเร่งปั่นจักรยานจากกลางใจเมืองกลับที่พัก บนทางเท้าและเลนจักรยานเห็นลูกหม่อนที่ร่วงหล่นผู้คนเหยียบย่ำ ระบายสีม่วงสีแดงบนทางเท้าแบบธรรมชาติ เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้าเห็นกิ่งก้านหม่อนที่มีใบหนาทึบปกคลุมทางเดินจนร่มเงา ต้นสูงราว 15 เมตร ด้วยความเร่งรีบกลัวไม่ทันคณะที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว จึงเก็บภาพมาได้เพียง 2 ภาพ

         คราวนี้วกมาที่ฝรั่งเศส เมืองที่เคยฟูเฟื่องเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้าไหม ที่โดดเด่นที่สุดในยุโรป ก่อนอุตสาหกรรมนี้จะพบจุดจบเมื่อพ.ศ.2398 อันเกิดจากการระบาดของโรคเพบรินกับหนอนไหมซึ่งเป็นโรคติดต่อได้ทางพันธุกรรม ทำให้การเลี้ยงไหมต้องประสบกับความหายนะ เหลือไว้เพียงอุตสาหกรรม การทอผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากไหม โดยเฉพาะที่เมืองลีอองซึ่งห่างจากกรุงปารีสไปทางตอนใต้ราว 500 กิโลเมตร เมืองนี้ยังคงมีชื่อเสียงในการทำผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าพันคอไหมของบริษัทแอร์เมส (Hermes) เดิมบริษัทนี้ผลิตอานม้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับรถม้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2380 ต่อมาเห็นว่าคนเริ่มออกไปหาความสำราญทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น จึงเริ่มผลิตผ้าพันคอไหมจากแรงบันดาลใจที่เห็นทหารนโบเลียน ใช้ผ้าพันคอในช่วงที่มีอากาศหนาว ปัจจุบันนี้ผ้าพันคอของแอร์เมส ยังคงได้รับความนิยมจากบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีฐานะทั่วโลก เนื่องจากมีราคาหลายหมื่นบาทต่อผืน ด้วยปรัชญาการผลิตของแอร์เมสที่ว่า        1)สินค้าต้องมีโอกาสใช้ได้ทุกวันและมีความทนทาน 2)สินค้าต้องมีคุณภาพสูงเหมือนกันทุกชิ้นที่จำหน่ายทั่วโลก

         จากการไปดูงานที่บริษัทแอร์เมส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ลานจอดรถมีการปลูกต้นหม่อนเป็นไม้ให้ร่มเงา ใบหม่อนมีทั้งสีเขียวและกำลังกลายเป็นสีเหลืองเพราะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เราคงต้องกลับมาคิดว่าต้นหม่อนพันธุ์ไทย สามารถปลูกเป็นไม้ยืนต้นให้ร่มเงาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามเราได้นำตาหม่อนพันธุ์นี้ มาขยายไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกรียติฯ สระบุรี ถ้าพันธุ์หม่อนจากฝรั่งเศสพันธุ์นี้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมประเทศไทยได้ เราคงจะมีพันธุ์หม่อนเป็นไม้ให้ร่มเงา นอกจากที่เรามีหม่อนระย้า(หม่อนย้อย)เป็นไม้ประดับอยู่บ้างแล้วที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา และบริษัทจุลไหมไทย จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลีย ตามลำดับ

       ความโดดเด่นของหอไอเฟล สัญลักษณ์อันตระการตาของฝรั่งเศสกลางกรุงปารีส มีสนามหญ้าทอดยาว เปรียบเสมือนเงาของหอไอเฟล สองข้างทางเป็นสวนหย่อม มีพันธุ์ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นนานาพันธุ์  หนึ่งในนั้นคือ ต้นหม่อนขนาดใหญ่ แม้จะถูกตัดกิ่งออกไปมากแล้วก็ยังสังเกตได้ว่าเป็นต้นหม่อน เปลือกลำต้นที่แตกเป็นร่องลึกเป็นทาง สร้างความสวยงามให้กับช่อหม่อนใหม่ที่แตกออกมากลางลำต้น เหมือนต้นปู่กับต้นหลาน เมื่อท่านเดินจากหอไอเฟลไปทางขวา ตามลำน้ำเซนต์ เมื่อถึงพระราชวังของพระเจ้าหลุยส์ ที่14 (Tuileries Palace) หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟ แม้พระราชวังจะถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว แต่สวนของพระราชวังยังคงสภาพเดิม และมีต้นหม่อนปลูกเป็นไม้ประดับอยู่ 2ต้น มีอยู่ต้นหนึ่งต้องใช้ไม้ค้ำไว้ แสดงให้เห็นว่าหม่อนมีความสำคัญแค่ไหน เขาจึงเก็บรักษาไว้อย่างดีไม่โค่นทิ้ง ถ้าท่านหาต้นหม่อน 2 ต้นนี้ไม่เจอ ป้ายแผนผังสวนริมทางเดินที่ทอดยาวในสวนจะบอกว่าต้นหม่อน(Mulberry)ที่ท่านกำลังหาอยู่ตรงไหน วันนี้ผมอิ่มใจเหลือเกินที่เห็นต้นหม่อนมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากราชวงศ์ จนถึงสาธารณชน

         ครั้งที่ไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการบริหารหม่อนไหมระหว่างประเทศ (Internation Sericultural Commission:ISC)ในเดือนพฤษภาคม 2551 และในเดือนพฤษภาคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ เมืองลิออง ประเทศฝรั่งเศส ได้เห็นความงามของต้นหม่อนต้นเดียวกันแต่จะคนละอารมณ์ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิต้นหม่อนจะแตกกิ่งผลิใบจนเขียวขจีไปทั้งต้นสร้างความสดชื่นและสดใสต่อสายตาและจิตใจ เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนช่วงฤดูใบไม่ร่วงใบหม่อนก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสว่างไสว เกิดลวดลายสลับสีเขียวให้ความงามกับจิตใจและสายตาเป็นครั้งสุดท้ายแล้วร่วงหล่นไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินบำรุงต้นหม่อนต่อไปก่อนผลิใบใหม่ในฤดูกาลหน้า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2553 ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการบริหารหม่อนไหมระหว่างประเทศ ณ เมืองลิออง ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสอีกครั้ง หม่อนถูกเลือกเป็นไม้ประดับสวนและมีการดัด การตกแต่ง ทำให้ดูแปลกตากว่าหม่อนที่ปลูกในเมืองอื่นๆ

         ความงามของหม่อนในเมืองหนาว ยังคงมีอีกหลายแห่งในทวีปต่างๆ นอกจากทวีปยุโรปที่ได้ไปพบมา เคยอ่านหนังสือการทำไวน์ของเมืองนาปา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการปลูกต้นหม่อน เป็นไม้บังลม(Wind break) ให้กับองุ่นที่ปลูกในแปลงขนาดใหญ่ ยามลมหนาวมาเยือนใบหม่อนจะเปลี่ยนสีเหลืองเข้มเป็นทิวแถว งดงามยามลมพัดใบหม่อนพลิ้วไม่แพ้ต้นเมเปิ้ลเลยจริงๆ

       คราใดที่ท่านต้องการหาไม้ประดับที่ปลูกไว้ริมรั้วหรือสวนหลังบ้าน นอกจากจะให้ร่มเงา สวยงามแล้วยังให้ผลและใบที่มีคุณค่าทางเภสัชโภชนาภัณฑ์ เป็นอาหารและเครื่องดื่มรสชาติดี ใช้ผลิตเป็นน้ำผลไม้ที่ให้สีแดงม่วง ชาสมุนไพรหม่อน ฯลฯ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคความจำเสื่อม ฯลฯ นั่นคือ “หม่อน” พืชมหัศจรรย์ของมนุษย์

บรรณานุกรม

วิโรจน์  แก้วเรือง. 2553. เยือนฝรั่งเศส ดู “แอร์เมส” ผลิตผ้าไหมระดับโลก.

        วารสารสมาคมผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม. ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมกราคม-

        เมษายน. หน้า 4-7.

หมายเลขบันทึก: 451373เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท