ผู้นำแบบสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร


ผู้นำแบบสังคมไทย

 เป็นที่ยอมรับกันมาเป็นเวลานานว่า ประเทศไทยกับ "วิกฤตผู้นำ" เป็นของคู่กันเสมอ ถ้าจะถามถึงเหตุผลคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่เคยปลูกฝังค่านิยมความเป็นผู้นำ "ที่ดี" ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น นอกจากใส่ไว้ในกิจกรรมอย่าง "ลูกเสือสำรอง" เท่านั้น
         ประเทศที่เจริญแล้วในแถบเอเชียต่างปลูกฝังทัศนคติและความเป็นผู้นำที่ดีให้กับเยาวชนของเขาตั้งแต่ยังเล็กๆ
         ในประเทศญี่ปุ่นหนังการ์ตูนแนวฮีโร่ทั้งหลายก็สะท้อนแนวคิดของความเป็นผู้นำที่ดี เป็นการสร้างการเรียนรู้ทางอ้อมให้กับเด็ก ให้รู้จักรับผิดชอบ การทำงานร่วมกันเป็นทีม การเสียสละ การให้อภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างค่านิยมทาง "ด้านบวก" ให้เกิดขึ้นในสังคมภาพรวมของญี่ปุ่น เพราะเมื่อคนเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
         ย้อนกลับมาที่บ้านเราคงจำกันได้ตอนเราเป็นเด็ก โดยธรรมชาติของคนไทยมักจะมีทัศนคติกับความเป็นผู้นำที่ผิด เช่น ความเอื้ออาทรกับพวกพ้อง เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม การปัดความรับผิดชอบ
         สิ่งต่างๆ เหล่านี้ติดอยู่กับคนไทยมาเป็นเวลานานอยู่ในสายเลือด ที่มีผลกระทบมาถึงภาวะ "วิกฤตผู้นำ" ในปัจจุบัน
         ประเทศไทยผ่านการมีผู้นำมาแล้วหลายรูปแบบ หลายลักษณะ มีทั้งผู้นำแบบเผด็จการทางทหาร ผู้นำในลักษณะเจ้าสัว นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำที่มาจากชาวบ้าน แต่ถ้าพิจารณาจะพบว่าในจำนวนนี้มีผู้นำจำนวนน้อยมากที่สามารถเข้าถึง "จิตใจของประชาชน" ได้อย่างแท้จริง
         ซึ่งผู้นำของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาสามารถแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ ตามการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
         ผู้นำในอดีต
         มีความเป็นเผด็จการสูง(ระบบทหาร) สั่งอะไรต้องทำตาม การปกครองมีความชัดเจนในลักษณะของ "นายกับลูกน้อง" หลังจากนั้นได้มีการปรับตัว ผู้นำเริ่มเรียนรู้ศาสตร์ "ที่ทันสมัย" นำเข้ามาผสมผสานในการทำงาน แต่ยังคงปกครองด้วยความเด็ดขาดเหมือนเดิม
         ผู้นำยุคกลาง
         ความเป็นเผด็จการลดลง เริ่มมีการผ่อนปรน และมีความสนิทสนมในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง เริ่มนำเอารูปแบบการบริหารงานจากต่างประเทศมาใช้ การทำงานเริ่มทำเป็นทีมมากขึ้น แต่ผลสำเร็จและความล้มเหลวในการทำงาน ยังขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว
         ผู้นำยุคใหม่
         มีความรู้ และความเข้าใจเรื่องของการจัดการ(Management) และมีหลักจิตวิทยา(Psychology) รวมถึงศาสตร์ทางด้านอื่น ที่จะช่วยพัฒนาและต่อยอดในการเรียนรู้และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง และพร้อมที่จะผลักดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ประสบความสำเร็จเช่นกันในลักษณะของการทำงานรับผิดชอบเป็นทีม
         จากการแบ่งลักษณะผู้นำในแต่ละยุคจะพบว่าสังคมไทยยังไม่มีผู้นำในลักษณะที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในลักษณะของผู้นำ "ในฝัน" อย่างแท้จริง สังคมไทยผ่านผู้นำยุคเผด็จการผู้นำประชาชนจนมาถึงผู้นำยุคใหม่ ที่เริ่มต้นได้ดี แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังกับ "ภาวะเสื่อม" อีกครั้งและคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป
         และถ้าถามว่าจริงๆ แล้ว ผู้นำที่แท้จริงควรจะมีคุณลักษณะใด
         เกณฑ์มาตรฐานที่ดีของผู้นำ "ในฝัน" นั้นก็ควรจะออกมาในลักษณะนี้
         1.แสดงความเป็นของแท้(Authenticty)
         ความเป็นของแท้จะถูกพิสูจน์ด้วยเงื่อนไขของเวลา คือ ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ต้องคงไว้ ซึ่งความเป็นของแท้ที่ดีอยู่นั่นเอง ที่สำคัญต้องไม่มีสิ่งใดมาโน้มน้าว หรือบั่นทอนลงได้
         2.การมีวิสัยทัศน์(Vision)
         ผู้นำยุคใหม่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นประเด็นในการพยายามสร้างภาพว่าตนเองมี "วิสัยทัศน์" มากกว่าคุณลักษณ์อื่นๆ เนื่องจากว่า "วิสัยทัศน์" นั้นจะสะท้อนความเป็นคนทันสมัย มีมุมมองที่กว้างไกล
         3.ต้องมีความกล้าตัดสินใจ(Decisveness)
         เป็นสิ่งที่จำเป็นมากความเด็ดขาดเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ แต่การกล้าตัดสินใจที่ดี นั้นต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตน
         4.แสดงความใส่ใจ(Focus)
         คุณลักษณะข้อนี้เป็นการ "ซื้อใจ" ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและมักได้ผลเสมอทุกครั้ง สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดให้ผ่อนคลายได้
         5.สร้างความรู้สึกประทับใจเป็นส่วนตัว(Personal touch)
         ต้องมีพื้นฐานจากความจริงใจในการแสดงออก ต้องสม่ำเสมอสร้างความรู้สึกด้านบวก
         6.มีความสามารถในการสื่อสาร(Communication & people skills)
         เป็นสิ่งที่ผู้นำในสังคมไทยทุกระดับยังขาดอยู่ เพราะการสื่อสารเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ สื่อสารอย่างไรให้เข้าถึง เข้าใจ และเกิดการยอมรับ
         7.การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ(Everforward)
         การยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงและส่งเสริมศักยภาพของตนเองตลอดเวลา การเป็นผู้ฟังที่ดี การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมโดยรวม
         กล่าวโดยสรุป คุณลักษณะของผู้นำที่ดีที่ยกตัวอย่างมา จะพบว่าสังคมไทยยังขาดผู้นำที่มีลักษณะเหล่านี้อยู่
         ผู้นำบางคนมีลักษณะเกือบครบทุกประการ
         ผู้นำบางคนมีลักษณะของผู้นำที่ดีบางประการ
         และที่เลวร้ายไปกว่านั้นผู้นำบางคนถึงขั้นไม่มีข้อใดเลย
         การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเติบโตขึ้น ด้วยการมองการเสียสละประโยชน์ส่วนตนทุกด้าน เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหัวใจสำคัญ ก็จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
         เพราะมีผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพเป็นผู้นำ "ในฝัน" อย่างแท้จริ

หมายเลขบันทึก: 451219เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2011 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเยี่ยมให้กำลังใจในการเรียนรู้ครับ

คงไม่มีใครจำทฤษฎีความเป็นผู้นำ อันหลากหลายหรอกครับ แค่ทำยังไงให้ลูกน้องรัก มีความสามัคคีต่อกัน รู้สึกว่าเราให้ความสำคัญต่อพวกเขา สร้างลูกน้องให้เป็นผู้นำได้ นี่คือข้อแรกของความเป็นผู้นำ ส่วนความเก่งในเรื่องงานนั่นเป็นคุณสมบัติของตัวเราเองอยู่แล้ว

การจะเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเป็นผู้นำที่ดีนะเป็นเรื่องยากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท