การบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทน


การบำบัดยาเสพติดด้วยสารทดแทน

การบำบัดด้วยสารทดแทน 

 

องค์ประกอบสำคัญของการบำบัดรักษาการติดยาเสพติด คือ ความพร้อมของตัวผู้ป่วย และครอบครัว  ศักยภาพและประสิทธิภาพของสถานบำบัดและผู้ให้การบำบัด  กระบวนการบำบัดและรูปแบบการบำบัดที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับตัวผู้ป่วย  และกระบวนการการรองรับผู้ผ่านการบำบัดเพื่อให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างมีความสุข  

 

ภาวะการติดยาเสพติดในตัวยาที่แตกต่างกัน การให้การบำบัดรักษาจะมีกระบวนการบำบัดรักษาที่แตกต่างกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยติดยาเสพติดประเภทที่ร้ายแรง หรือเสพติดเป็นเวลานาน การถอนพิษยา และการบำบัดโดยการให้สารทดแทนมีความจำเป็นมาก ทั้งนี้  เพื่อลดอาการเจ็บปวด และเจ็บป่วยทางกายและทางจิตของผู้ป่วยที่ได้รับผลจากตัวยา เช่น กรณีผู้ติดฝิ่น เฮโรอีน และมอร์ฟีน ผู้ให้การบำบัดจะให้ยาทดแทน อันได้แก่ เมทาโดน ซึ่งเป็นสารที่มีฤธิ์ต่อสมองและร่างกายในลักษณะเดียวกับที่ตัวยาเสพติดมีผลต่อสมองและร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไม่มีภาวะขาดยา

 เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอีน และมอร์ฟีน จะมีอาการทุรนทุรายรุนแรงหากเกิดอาการขาดยาเมื่อหยุดการใช้ยาในทันที  จนถึงขั้น ลงแดง ซึ่งหมายถึงอาการ น้ำมูกน้ำตาไหล เหงื่อออก เจ็บปวดในท้อง อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด  ดังนั้น ผู้ให้การบำบัดจะรักษาด้วยการให้เมทาโดนในปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และลดปริมาณเมทาโดนลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาในการรักษา  เพื่อให้อาการถอนยาเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรงจนในที่สุดก็หยุดยาได้  พร้อมกันนี้อาจใช้ยาอย่างอื่นรักษาตามอาการ  เช่น  ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ในช่วงระยะที่ผู้ป่วยมีอาการมากๆ   ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอมริกา ผู้ให้การบำบัดอาจใช้ยาตัวอื่นในการทดแทน เช่น บิวพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine)  ซึ่งเป็นตัวยาต้านฤทธิ์เฮโรอีนผู้เสพจะไม่มีอาการทุรนทุรายจากการขาดยา และไม่ต้องการใช้เฮโรอีน

ปัจจุบันสำหรับผู้ที่ติดยาเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอีน เรื้อรังจนไม่สามารถหยุดการใช้ได้ รัฐได้มีมาตรการให้เมทาโดนทดแทนในระยะยาว โดยผู้ป่วยสามารถเข้าบำบัดและรับเมทาโดนฟรี ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ในสถานพยาบาลที่มีคลินิกยาเสพติดทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 147 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดภาครัฐ 111 แห่ง เอกชน 36 แห่ง ใน 45 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา  และในระหว่างที่มีการใช้เมทาโดน จะมีระบบดูแลสุขภาพ ดูแลจิตใจ การปรึกษารายบุคคล รายกลุ่มและครอบครัว การสร้างเสริมสุขภาพ การติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลดียิ่งขึ้น

นอกจากการให้สารเมทาโดนทดแทนระยะยาวนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับตัวผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยสามารถรับยาทดแทนที่สถานพยาบาลและกลับไปทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ลดการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีกรณีผู้ติดเชื้อจะได้ไม่ต้องใช้เฮโรอีนด้วยวิธีการฉีด ซึ่งอาจเกิดการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีเมื่อใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน อย่างไรก็ตามการใช้เมทาโดนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์โดยใกล้ชิด เนื่องจากเมทาโดนจัดเป็นยาเสพติดตามกฎหมายซึ่งหากใช้โดยไม่ควบคุมจะส่งผลให้เกิดภาวะการเสพติดเช่นกัน 

หมายเลขบันทึก: 451080เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2011 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท