รอยอารยธรรมบ้านวังหาด : โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย


แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด

      “...โบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา  เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในทางประวัติศาสตร์  ศิลปะและวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมรักษาอย่าให้สูญสลายไป...

            (พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙)

      ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายเกิดขึ้น  เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าไม่มีการจดจำ บันทึก เก็บรวบรวมไว้ก็จะทำให้ลืมเลือน  นานเข้าก็จะสูญหายไป  การที่จะรู้และเข้าใจอดีตได้จึงต้องมีคนทำหน้าที่อ่าน แปล ค้นคว้า รวบรวม ถ่ายทอดบันทึกและหลักฐานต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ให้ปรากฏออกมาเป็นเรื่องราวที่สัมผัสและรับรู้ได้  เป็นการนำประวัติศาสตร์มาสู่การตอบสนองและการรับรู้ของคนทั่วไป  ทำให้ประวัติศาสตร์มีบทบาท  มีชีวิตที่เป็นจริงขึ้น  ดังนั้นประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความล้าสมัย  แต่ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่สร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามในปัจจุบัน

          ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน  เดิมมีอาณาจักรต่างๆ เกิดขึ้นมาก่อนอาณาจักสุโขทัยและได้เสื่อมอำนาจไป  เช่น  ทวารวดี  โยนกเชียงแสน หริภุญชัย  ละโว้หรือลพบุรี  นอกจากนี้ก็มีกลุ่มชนเล็กๆ เกิดขึ้นตามเมืองต่างๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  ดินแดนเหล่านี้เคยถูกอาณาจักรขอมซึ่งมีความยิ่งใหญ่ในยุคนั้นเข้ามาครอบครองเป็นครั้งคราวจนกระทั่งกลุ่มคนไทยสามารถรวมกำลังขับไล่อำนาจขอมออกไปและสถาปนาอาณาจักสุโขทัยของกลุ่มคนไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๗๙๒

ปฐมเหตุแห่งบ้านวังหาด

         เขตพื้นที่ จังหวัดสุโขทัยมีผู้คนมาพักอาศัยและตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัย สมัยทวาราวดี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (http://www.trueplookpanya.com/)true/knowledge_detail.php?mul_content_id=10135 บริเวณที่ราบตอนล่างของภาคเหนือของไทย เคยเป็นดินแดนที่มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบเครื่องมือหินที่เขาขน เขากา ในเขตตำบลนครดิฐ อำเภอศรีนคร แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย  บ้านบึงหญ้า ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้อยู่ต่อเนื่องกัน และตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นในแถบบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบทวาราวดี โดยได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ลูกปัด เครื่องมือสำริด เหล็ก เงินเหรียญที่มีรูปพระอาทิตย์ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ ที่แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่นในเขตเมืองเชลียง ซึ่งมีแท่งดินเผามีลวดลาย

          จากการพบโบราณสถานในศิลปะขอมที่บ้านนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ชาวบ้านเรียกว่า ปรางค์เขาปู่จ่า และศาลาตาผาแดง ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย แสดงว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการติดต่อกับอาณาจักรขอมแล้ว  ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปรากฏเรื่องการตั้งตนเป็นอิสระเพื่อปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน ซึ่งต่อมาเป็นบรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน

          จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่บ้านวังหาดและบ้านตลิ่งชัน   อ.บ้านด่านลานหอย   จ.สุโขทัย  ของสำนักงานศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (กระทรวงวัฒนธรรม http://www.thaiwhic.go.th/article3_2.aspx) พบว่า  ชาวบ้านลักลอบขุดค้นพบลูกปัดแก้วและหินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพบเหรียญที่มีตราพระอาทิตย์และศรีวัตสะ ตุ้มหู ชิ้นส่วนโลหะรูปหน้าลิง และเครื่องมือเครื่องใช้ แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยในสมัยโบราณกับชุมชนภายนอกคืออินเดีย     ซึ่งการติดต่อสัมพันธ์กันนั้นคงจะไม่ได้จำกัดเฉพาะการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว   คงจะรวมถึงการนำเอาอิทธิพลทางด้านศาสนา และศิลปวัฒนธรรมซึ่งเจริญกว่าเข้ามาเผยแพร่ยังดินแดนแถบนี้ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ตรงกับช่วงสมัยที่วัฒนธรรมทวารวดีเจริญอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทยในราวพุทธศตวรรษที่  ๑๒ – ๑๖

ปรากฏการณ์ชุมชนถลุงเหล็กบ้านวังหาด

           สุจิตต์  วงษ์เทศ  ได้กล่าวถึงบ้านวังหาดไว้ว่า (กรุงสุโขทัยมาจากไหน ?. พิมพ์ดีจำกัด, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘.) บริเวณตะวันตกทางลุ่มแม่น้ำปิงกับลุ่มแม่น้ำยม (เขตต่อเนื่องจังหวัดตากกับจังหวัดสุโขทัย) มีชุมชนถลุงโลหะตั้งหลักแหล่งเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว  เช่นที่บ้านโป่งแดง  อำเภอเมือง จังหวัดตาก ฯลฯ แต่ที่สำคัญมากอยู่ที่บ้านวังหาด  ตำบลตลิ่งชัน  อำเภอบ้านด่านลานหอย  จังหวัดสุโขทัย  อันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่ลำพันที่ไหลผ่านบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยไปลงแม่น้ำยม  ถือเป็นชุมชนถลุงเหล็กยุคแรกเริ่มและเป็นต้นประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยอย่างแท้จริง

          ชุมชนถลุงเหล็กบ้านวังหาด  เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่บ้านวังหาดไปถึงดอยผาขัดห้าง เขตจังหวัดลำปาง  สุจิตต์  วงษ์เทศอ้างถึง ดร.ธิดา  สาระยา (อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อธิบายว่าเป็นชุมชนอุตสาหกรรมที่มีความถนัดด้านเทคโนโลยีถลุงเหล็กเพราะปริมาณของวัตถุโลหะอันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบมากมายตลอดทั้งก้อนตะกรันเหล็กจำนวนหนึ่ง  ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า  แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้เป็นทั้งแหล่งขุด (mining area) และแหล่งถลุง (smelting area) ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจร 

           สภาพการเป็นแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ของแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด  เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชนบริเวณสุโขทัย  ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานในเบื้องต้นว่า  ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติจำพวกแร่ธาตุได้ดึงดูดมนุษย์กลุ่มหนึ่งให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบนี้และอาจกล่าวได้ว่าชุมชนในลุ่มน้ำยมมีพัฒนาการทางด้านโลหะกรรมเช่นเดียวกับชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชุมชนเขตลุ่มน้ำลพบุรี ลุ่มน้ำป่าสักในภาคกลาง เงื่อนไขดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสุโขทัยสมัยเริ่มแรก  เชื่อได้ว่ากระแสวัฒนธรรมทางเทคโนโลยีและการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่น  ส่งผลเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  วัฒนธรรมให้แก่ชุมชน  เช่น  มีความรู้พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีเฉพาะด้านชำนาญขึ้น

           ผลได้ทางเศรษฐกิจย่อมดึงดูดประชากรให้มาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น และน่าจะได้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในขอบข่ายกว้างขวาง  เห็นได้จากปริมาณของลูกปัดที่คงใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนจำนวนมาก  วัตถุบางชิ้น เหรียญตรา  คล้ายกับที่อื่น

           มนุษย์ในชุมชนนี้รู้จักเอาเหล็กมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้  เครื่องมือเหล็กที่พบจำนวนมากอาจถูกนำไปใช้สกัดแร่ก็ได้หรืออาจนำไปใช้สลักหิน ชาวบ้านเรียกเครื่องมือดังกล่าวนี้ว่า “เหล็กสกัด” แล้วกับพบก้อนโลหะ (ingot) จำนวนหนึ่ง  ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสื่อในการแลกเปลี่ยนแทนเงินตราหรือเป็นตุ้มหูประดับ  ในบรรดาวัตถุโลหะที่พบนั้น  มีเครื่องประดับเงินกับทองจำนวนหนึ่งและดาบโบราณ  ลักษณะคล้ายที่พบในเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้  เครื่องประดับสัมฤทธิ์คล้ายกำไลตกแต่งด้วยกระพรวนรูปตัว S  ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเป็นวัตถุในกระแสวัฒนธรรมดองซอนจากเวียดนามเหนือ  กำไลสัมฤทธิ์จำนวนหนึ่งเนื้อบางเฉียบแสดงถึงฝีมือการหล่อที่ชำนาญหรือไม่ก็มนุษย์ในชุมชนแห่งนี้ได้รับรู้และสัมผัสกับความรู้และเทคโนโลยีทางการผลิตหล่อสัมฤทธิ์ขั้นสูง อันแสดงถึงการมิได้เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นและอยู่อย่างโดดเดี่ยว  ทว่าอยู่ในวงจรของการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมของกลุ่มคนในยุคเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ความเป็นมาของบ้านวังหาดในปัจจุบัน (ประวัติศาสตร์บอกเล่า)

           คุณสิงห์  วุฒิชมภู (สายหล้า) หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบปลายๆ ได้เล่าให้ผู้เขียนฟัง ประกอบกับเอกสารที่สิงห์  วุฒิชมภูได้นิพนธ์ขึ้นท่ามกลางความหวาดหวั่น  ไม่มั่นใจ  ความห่วงใยต่อวัตถุพยานและดินแดนโบราณคดีที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ พอสรุปได้ว่า บรรพบุรุษของคนบ้านวังหาดนั้น แต่เดิมเป็นคนบ้านสันป่าหนาด  ต.นาโปร่ง  อ.เถิน  จ.ลำปาง  ประสบปัญหาความแห้งแล้งเป็นเวลาเนิ่นนาน  จึงได้อพยพแสวงหาที่ดินทำกินแห่งใหม่  ได้เดินทางเรื่อยมาจนมาพบแหล่งที่อุดมสมบูรณ์กว่าคือที่ห้วยแม่กองค่าย  จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้านวังกวาว (อยู่ติดลำห้วยแม่กองค่ายและอยู่ห่างจากหมู่บ้านวังหาดในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร)  ประกอบอาชีพทำการเกษตร ได้แก่ การปลูกยาสูบ (ยาตั้ง) ทำไร่ ทำ นา ทำสวน โดยมีพ่อแก้ว ปูทิ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

          เนื่องจากที่ราบบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านวังกราวบริเวณห้วยแม่กองค่ายส่วนใหญ่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ  หรือเก็บน้ำได้ไม่นาน  ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม  จนกระทั่งพ่อแก้ว ปูทิ และพ่อจันทร์ วุฒิชมภู ก็ได้พากันออกมาล่าสัตว์ป่าทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านวังกวาว  ได้พบที่ราบลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์บริเวณลำแม่ลำพันในปัจจุบัน  มีฝูงปลา สัตว์ป่าจำนวนมาก  จึงได้ชักชวนคนในหมู่บ้านมาอาศัยอยู่ในที่แห่งใหม่   ชาวบ้านวังกวาวก็ได้อพยพโดยแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มที่หนึ่ง  อพยพมายังทิศใต้ตามสายน้ำแม่ลำพัน ตั้งเป็นหมู่บ้านตลิ่งชัน กลุ่มที่สอง   อพยพมายังบริเวณลำห้วยที่ปกคลุมไปด้วยต้นมะหาดเรียกว่าบ้านวังหาด  นับตั้งแต่นั้นมาหมู่บ้านวังกวาวก็เป็นหมู่บ้านร้างจนถึงปัจจุบัน

           ได้มีการอธิบายถึงที่มาของซื่อหมู่บ้าน “วังหาด” ว่า “วัง” คือ ห้วยน้ำลึก และมีน้ำไหลตลอดปี   คำว่า “หาด” มาจากคำ ว่า ต้นมะหาด เป็นไม้ยืนต้น ที่มีเป็นจำนวนมากบริเวณใกล้ลำห้วยที่ตั้งหมู่บ้าน จึงเอาคำทั้งสองคำมารวมกันเป็น เรียกว่า “บ้านต้นมะหาด”  ต่อมาได้กร่อนเสียงเหลือเป็น “บ้านวังหาด” ตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันบ้านวังหาด หมู่ที่ ๒  ต.ตลิ่งชัน  อ.บ้านด่านลานหอย

การค้นพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านวังหาด      

          แหล่งอารยธรรมโบราณคดีบ้านวังหาด ได้ถูกค้นพบโดยบังเอิญจากการเดินทาง การประกอบอาชีพตามธรรมชาติของชุมชน และเกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติ  เพราะการเดินทางโดยล้อเกวียนในการคมนาคมติดต่อสื่อสาร  การไปทำไร่ ทำนา ทำสวน  ในเส้นทางประจำทำให้เกิดล่องลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน  ประกอบกับการชะล้าง  การกัดเซาะของน้ำป่า  น้ำฝน  การพังทลายของดิน  การกัดเซาะเข้าไปในล่องลึกของรอยล้อเกวียน  ทำให้ได้พบวัตถุโบราณที่โผล่มาจากดินที่ทับถมอยู่

          ในช่วงแรก  วัตถุโบราณที่พบเป็นพวกสำริด และเครื่องปั้นดินเผา เช่น กลองมโหระทึก หม้อดินเผาขนาดต่างๆ ที่เป็นเครื่องใช้ ลูกปัดหลากสี แต่ชาวบ้านไม่มีใครให้ความสนใจ  จึงมีกลุ่มนักแสวงหาวัตถุโบราณนักซื้อของเก่ามาหาซื้อจากชาวบ้านในราคาถูก เช่น  ลูกปัดสีต่างๆ รวมกันทะนานละ ๒๐๐ บาท ส่วนพวกเหล็กจะขายเป็นกิโลกรัมๆ ละ ๕๐ สตางค์   ในขณะเดียวกันได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่  คือ การใช้เรดาร์หาพิกัดประกอบการขุดค้น  เล่าขานกันว่ามีการขนโลหะที่ขุดได้จำพวก หอก มีด อาวุธต่างๆ ฯลฯ จำนวนมากออกจากหมู่บ้านวังหาด  เป็นเวลานานกว่า  ๒๐ ปี

          อ้ายสิงห์  หรืออ้ายสายหล้า วุฒิชมพู ตระหนักและเห็นคุณค่าของวัตถุโบราณเหล่านี้  จึงได้เป็นแกนนำรวบรวมสมัครพรรคพวกเริ่มดำเนินการอนุรักษ์  หวงแหน  ได้พยายามหยุดการขุดค้น  ปลูกจิตสำนึกชุมชนให้เห็นคุณค่า ความสำคัญของสิ่งที่มี  ตลอดจนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ มาตามลำดับ

         อ้ายสิงห์  ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังเพิ่มเติมว่า  ในการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีความหวงแหนมรดกแห่งนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก  พบปัญหาอุปสรรคมากมาย   ด้วยเหตุที่ว่า บ้านวังหาด เป็นชุมชนที่เป็นชาวล้านนาร้อยละ ๙๐ ซึ่งมีความเชื่อในเรื่อง ผี สาง เทวดา และวิญญาณ ซึ่งเป็นทัศนคติที่เป็นไปในทางลบกับการอนุรักษ์  โดยมีความเชื่อว่า ห้ามผู้ใดนำวัตถุของผี สาง เทวดาและวิญญาณเข้ามาในหมู่บ้าน  ผู้ใดนำเข้ามาในหมู่บ้านจะเกิดอาถรรพ์  อาเภท ภัยพินาศ  ความฉิบหาย  ฯลฯ  ดังนั้นในระยะแรกๆ จึงไม่ค่อยมีใครให้ความร่วมมือ  ทำให้ต้องอดทนเกินเท้าออกค้นหาวัตถุโบราณ  เก็บไว้ทีละชิ้น สองชิ้น นำ มาเก็บไว้ที่วัดบ้านวังหาด  ขณะเดียวกันก็ได้จัดสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์โบราณวัตถุของชุมชนแห่งนี้เพื่อให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

          ต่อมาพระปลัดสมบัติ สมาจาโร (อดีตเจ้าอาวาสวัดวังหาด) เห็นด้วยในเจตนารมณ์ของอ้ายสิงห์  จึงให้การช่วยเหลือ ได้พาลูกศิษย์และชาวบ้านออกเก็บวัตถุโบราณที่เหลือจากนักล่าสมบัติ และขอบิณฑบาตให้หยุดการขุดค้นสมบัติ  จนทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้น  

          ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยได้จัดสรรงบประมาณปี ๒๕๕๐ สร้างพิพิธภัณฑ์บ้านวังหาด เพื่อเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุอันสูงค่า  ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการที่มาจากชุมชน พร้อมทั้งเปิดให้ผู้สนใจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษา ค้นคว้า เห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์สืบไป

บ้านพี่ เมืองน้อง  ความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณเมืองบางขลัง –วังหาด

          ไม่ปรากฏหลักฐานชิ้นใดชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณทั้งสองแห่ง (ในขณะนี้) แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน  เพราะ บ้านวังหาดเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ (ตามหลักฐานโบราณคดี) ก่อนที่จะมีการจดบันทึกในยุคประวัติศาสตร์จึงย่อมจะไม่ปรากฎหลักฐานจารึกไว้  โดยธรรมชาติของชุมชน  บรรพชนคนบ้านวังหาดย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่นๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ  เช่น  ภัยธรรมชาติ  โรคระบาย  ค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า  มีการเคลื่อนย้าย  การเดินทาง  การสงคราม  เป็นต้น  ดังนั้นเป็นไปได้ว่าลูก หลาน เหลน  โหลน ลื้อ ของบรรพชนคนบ้านวังหาด (ดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการอพยพเข้ามาจาก อ.เถิน) จะมาร่วมสร้างประติมากรรมแห่งชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  และคนเมืองบางขลังอาจจะสืบเชื้อสายมาจากบรรพชนเดียวกันกับบรรพชนคนวังหาด

         อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันก็เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณทั้งสองแห่งนี้ได้อุบัติขึ้นแล้ว  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบ้านพี่ คือบ้านวังหาดที่ถือกำเนิดมาก่อน  กับเมืองน้องคือเมืองบางขลังที่ปรากฏหลักฐานในยุคหลัง

         ผู้เขียนได้รับรู้ถึงการเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านวังหาดและบุรุษหนุ่มผู้ทรนงนามอ้ายสิงห์ วุฒิชมภู  จากคุณสมชาย  เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย  เกิดความสนใจใคร่รู้  จึงเดินทางพร้อมคณะไปขอความรู้จากอ้ายสิงห์   ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐  ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จฯ เยี่ยมชมร่อยรอยประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  อ้ายสิงห์ก็ได้นำหนังสือประวัติความเป็นมาของการอนุรักษ์วัตถุโบราณและแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดที่ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มมาร่วมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วย

         หลังจากนั้นผู้เขียนได้นำเรียนท่านสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลัง ทราบถึงความเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์บ้านวังหาด และการต่อสู้ของนักอนุรักษ์นามสิงห์  วุฒิชมภู  ซึ่งท่านก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง  นำมาสู่การเดินทางไปศึกษาหาความรู้ตลอดจนมอบเงินเพื่อเป็นทุนเบื้องต้นในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์บ้านวังหาด

         ในการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยและงานวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครั้งที่ ๓  นายกฯ สุวิทย์  ทองสงค์  ได้มอบหมายให้ผู้เขียนประสานงานให้มีการเสวนาประวัติศาสตร์บ้านวังหาดขึ้น  เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์  ชุมชนที่มีความสำคัญที่ถูกมองข้าม  ชุมชนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติไทยได้ว่า  ไม่ได้อพยพมาจากไหน  แต่อยู่ที่นี่นานแล้ว  โดยมีชุมชนบ้านวัดหาดเป็นประจักษ์พยาน  อีกทั้งปลุกจิตสำนึกให้คนทั่วไปรู้สึกรัก และห่วงแหนแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดอันทรงคุณค่า  ตลอดจนช่วยกันประกาศนามรอยอารยธรรมบ้านวังหาด แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ให้ก้องกังวานสืบไป.

อ้างอิง

สุจิตต์    วงษ์เทศ,  กรุงสุโขทัยมาจากไหน ?. พิมพ์ดีจำกัด, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘.

สิงห์  วุฒิชมพู, ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการอนุรักษ์วัตถุโบราณและแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด.

สำเนาเอกสารถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒.

กระทรวงวัฒนธรรม  http://www.thaiwhic.go.th/article3_2.aspx

ทรูปลูกปัญญา  http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_

นวลจันทร์  ตุลารักษ์, ประวัติศาสตร์ : การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาชาติไทย, โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗.

มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์, ประวัติศาสตร์ชาติไทย, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗. 

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ (ภาคเหนือ), โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๒.

ถนอม  อานามวัฒน์ และคณะ, ประวัติศาสตร์ไทย : ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา. แสงรุ้งการพิมพ์,กรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๒๒.

หมายเลขบันทึก: 450791เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท