สาเหตุการเกิดการเมืองในองค์การ


สาเหตุการเกิดการเมืองในองค์การ

สาเหตุการเกิดการเมืองในองค์การ

โดยนักวิชาการแต่ละคนต่างมีความเห็นที่ค่อนข้างหลากหลาย Tsui and Milkovich (as cited in Ferris et al., 2001,p. 102) กล่าวว่า ลักษณะขององค์การ เช่น ขนาดขององค์การ การเจริญเติบโตขององค์การและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขององค์การ รวมถึงปัจจัยภายในอื่น ๆ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการเมืองในองค์การ

 Kreitner and Kinicki (2004, p. 575) กล่าวว่าการเมืองในองค์การเกิดจากสาเหตุหลัก 5 ประการด้วยกันคือ

  1. เป้าหมายขององค์การที่ไม่ชัดเจน
  2. การประเมินผลการปฏิบัติงานที่คลุมเครือ
  3. กระบวนการตัดสินใจที่บกพร่อง
  4. การแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างบุคคลหรือระหว่างกลุ่มภายในองค์การ
  5. และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์การ

 McShane and Von Glinow (2000, p. 376) ได้เสริมว่านอกเหนือจากที่กล่าวมาในตอนต้นแล้ว บุคลิกลักษณะส่วนบุคคลก็เป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในองค์การ เงิน อำนาจ ความสำเร็จ ชื่อเสียง เกียรติยศและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเร่งให้เกิดการเมืองในองค์การ (Sciacca, 2004, p. 32) ในขณะเดียวกัน การเมืองในองค์การ ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและเกิดความขัดแย้งมากขึ้น เป็นวาระซ่อนเร้น และเมื่อไม่มีการลงโทษคนที่มีพฤติกรรมการเมือง ก็จะก่อให้เกิดประเด็นที่สร้างความคลุมเครือให้กับหลาย ๆ คนและลักษณะของการเมืองที่มีผู้แพ้และผู้ชนะก็มีแนวโน้มที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นด้วย (Gilmore et al., 1996, p. 482) ส่วนการเกิดการเมืองในองค์การและความเข้มข้นของการเมืองในองค์การจะขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์การและสถานการณ์เฉพาะอย่าง นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติของกระบวนการภายในองค์การและธรรมชาติของการตัดสินใจในองค์การด้วย (Tushman as cited in Prasad, 1993, p. 36) และจะยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อมีความไม่แน่นอนและมีการพึ่งพาระหว่างบุคคลสูงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร (Drory, 1993, p. 60) และเนื่องจากองค์การเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายสลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยความคลุมเครือ อีกทั้งยังมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากที่มีความต้องการ ทัศนคติและค่านิยมที่แตกต่างกัน (Ferris & King, 1991, p. 59) อำนาจและการเมืองเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอน ความสงสัย ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันความอิจฉาริษยาและความแตกแยกภายในองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอิจฉาริษยาที่มักถูกมองว่า เป็นธรรมชาติโดยทั่ว ๆ ไปของอารมณ์คน แต่ก็สามารถทำลายทั้งคนอิจฉาและคนที่ถูกอิจฉา ตลอดจนอาจมีผลร้ายมหาศาลต่อองค์การในระยะยาวได้ (Bedeian,1995, p. 49)   

         นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมภายในองค์การที่มีความคลุมเครือ องค์การที่มีลักษณะลำดับชั้น ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการเมืองในองค์การ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ต่าง ๆ ก็มักจะดำเนินไปในสภาพที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ทำให้สมาชิกขององค์การมีการตีความในลักษณะที่เข้าข้างตนเอง (Robbins, 2003, p. 376) ในขณะที่ Wagner and Hollenbeck (2005, p. 354) ได้เสริมอีกว่า นอกเหนือจากความไม่แน่นอนและสภาพแวดล้อมที่มีส่วนทำให้เกิดการเมืองในองค์การแล้ว ขนาดขององค์การ ลำดับชั้นการบังคับบัญชา ความหลากหลายของสมาชิกในองค์การและความสำคัญของการตัดสินใจก็มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการเมืองในองค์การด้วย

Pfeffer (1981,pp. 68-69) ระบุว่าเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการเมืองในองค์การประกอบด้วย

 (1) ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทรัพยากรหายากหรือขาดแคลน และความหลากหลายหรือความแตกต่างในเรื่องของเป้าหมายที่ไม่มีความสอดคล้องกัน ตลอดจนความเชื่อในเทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยความขัดแย้ง ถือเป็นตัวขับเคลื่อนพื้นฐานในการก่อให้เกิดการเมืองในองค์การเพราะในสภาวะการณ์ที่เป้าหมายขององค์การไม่ชัดเจน ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงขององค์การ จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอน อันเป็นต้นเหตุของการเมืองในองค์การได้ (Wickenberg & Kylen, 1999, p. 2)

 (2) ความสำคัญของประเด็นการตัดสินใจ หากประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวไม่มีความสำคัญมากนัก ย่อมไม่มีคนต้องการใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหา แต่หากความขัดแย้งนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญย่อมมีการใช้อำนาจในองค์การมากอันส่งผลต่อการเกิดการเมืองในองค์การนั่นเอง และ

(3) การกระจายอำนาจขององค์การหากองค์การมีการรวมอำนาจสูง ผู้บริหารมักจะใช้อำนาจโดยอิงตามกฎเกณฑ์หรือค่านิยมของตนเองเป็นหลัก

หมายเลขบันทึก: 450542เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท