การเมืองในองค์การ


ความหมายของการเมืองในองค์การ

การเมืองในองค์การ

ความหมายของการเมืองในองค์การ

Kim (2004) กล่าวว่า การเมืองในองค์การ คือ การใช้อำนาจเพื่อต่อรองผลประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกขององค์การ ในขณะที่พยายามรักษาผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งในประเด็นปัญหาบางอย่างขององค์การ หากเปรียบเทียบอำนาจเป็นเข่นทรัพยากรการเมือง ก็คือ การกระทำเพื่อพัฒนาอำนาจนั้น ดังนั้น อำนาจและการเมืองมักเป็นคำที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก (Lewis, 2002, p. 28)

ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์(2546, หน้า 229) กล่าวว่า  การเมืองในองค์การหมายถึงพฤติกรรมที่กระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มคนเพื่อเพิ่มอำนาจหรือใช้อำนาจในองค์การ การเมืองในองค์การจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งอำนาจ การพัฒนาอำนาจ การใช้อำนาจและการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของบุคคลหรือกลุ่ม

Pfeffer (1981, p. 7) ให้คำจำกัดความของการเมืองในองค์การว่า การเมืองในองค์การเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์การที่มีขึ้นเพื่อพัฒนา การได้มาและการใช้อำนาจรวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ปรารถนาในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ที่มีความไม่แน่นอนหรือยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัดเกี่ยวกับทางเลือก ดังนั้น การเมืองในองค์การมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์หรือประเด็นเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องอาทิเช่น

(1)         มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การ (structural change) เพราะการเปลี่ยนโครงสร้าง คือการจัดสรรอำนาจหน้าที่ใหม่

(2)         มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในลักษณะพึ่งพากัน (interdependental coordination) ทำให้เกิดการพึ่งพาระหว่างหน่วยงานเพราะแต่ละหน่วยงานเพราะแต่ละหน่วยงานมีอำนาจไม่เท่าเทียมกัน

(3)         มีการแต่งตั้งโยกย้าย (management succession) โดยเฉพาะในตำแหน่งงานระดับสูงหรือตำแหน่งงานที่มีบาทบาทสำคัญในองค์การ

(4)         มีการจัดสรรทรัพยากร (resources allocation)

(5)         มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม (technological and environmental change) เช่น การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทำงาน อาจทำให้เกิดการต่อต้านได้ (วันชัย มีชาติ, 2544, หน้า 159-160)

Ratzburg (2006a) ให้คำจำกัดความ การเมืองในองค์การ ว่า หมายถึง วิธีการในการประนีประนอมเรื่องการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ภายในองค์การ และบรรยากาศการเมืองในองค์การเป็นตัวสะท้อนถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมภายในองค์การเนื่องจากการเมืองในองค์การมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางคน หรือบางกลุ่มโดยปราศจากความเป็นธรรม (Drory, 1993, p. 60) ส่วนนักวิชาการบางท่านเห็นว่าการเมือง หมายถึง การใช้อำนาจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มา การพัฒนาและการใช้อำนาจ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของใครคนใดคนหนึ่ง (Clement, 1994, p. 37)

Valle (2006, p.9) อธิบายว่า การเมืองในองค์การ เป็นศิลปะในการมีอิทธิพลหรือการใช้อำนาจอย่างคล่องแคล่วในองค์การเพื่อทำให้บุคคลอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการดังนั้น การใช้อำนาจที่ดีก็คือ การสะสมและใช้อำนาจนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลดีต่อองค์การ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่มองการเมืองในองค์การในเชิงบวก

Vigoda and Kapun (2005, p. 252) ที่มองเรื่องของการเมืองในองค์การในเชิงลบ โดยอธิบายว่า การเมืองในองค์การ หมายถึง พฤติกรรมที่ถูกออกแบบเชิงกลยุทธ์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง และเป็นพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับเป้าหมายโดยรวมขององค์การและผลประโยชน์ของคนอื่น ๆ
ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองในองค์การ  สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

(1) ทัศนะแบบดั้งเดิม (traditional view) เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาของ Machiavelliที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Prince (Schermerhorn, Hunt, & Osborn, 2000, p. 321) เป็นแนวคิดที่มองว่า การเมืองเป็นเรื่องที่สนองต่อผลประโยชน์ส่วนตัว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์การเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อองค์การ ดังนั้น จึงต้องกำจัดการเมืองออกไปจากองค์การตามแนวคิดนี้ การเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องของการหลอกลวงและความไม่ซื่อสัตย์

(2) ทัศนะแบบพหุนิยม (pluralistic view) เป็นทัศนะที่มองการเมืองว่า เป็นศิลปะการประนีประนอมที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่แข่งขันกัน(Schermerhorn et al., 2000, p. 322) เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นในองค์การ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ภายในองค์การ โดยที่ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (Daft,2001,p.459)
           โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า การตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรภายในหน่วยงานที่ดีกว่าเดิม (Bader, 1991, p. 25) ความขัดแย้งในองค์การจึงเป็นเรื่องปกติ (Lewis, 2002, pp. 25-34) และการเมืองในทัศนะนี้ จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไปเหมือนกับแนวคิดแรก ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการการเมืองจะเกี่ยวพันธ์กับทั้ง ผู้แพ้และผู้ชนะ การเมืองในองค์การอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโทษหรือเป็นอันตรายต่อคนบางกลุ่ม (Drory,1993, p. 65)  

Provan (as cited in Prasad, 1993, p. 36)ที่กล่าวว่า อำนาจและการเมืองไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะในระยะยาวแล้ว การเมืองในองค์การช่วยให้องค์การสามารถจัดวางตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การได้  

Karp (1988, p. 10) ได้กล่าวไว้ว่า ผลิตผลขององค์การเกิดจากการสนับสนุนวัตถุประสงค์ขององค์การ เช่น การผลิตที่มีคุณภาพ การมีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานเสร็จตรงตามเวลาและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และหากหัวหน้างานไม่มีทักษะทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลได้เช่นกัน อันแสดงให้เห็นถึงผลดีของการเมืองในองค์การนั่นเอง แต่การพิจารณาว่าการเมืองในองค์การเป็นประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อองค์กามากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า มีการรับรู้ถึงพฤติกรรมนั้นอย่างไร อาทิเช่น พนักงานคนหนึ่งรับรู้ว่ากระบวนการขององค์การ เช่น การจ่ายค่าจ้างและระบบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นการเมืองหรือมีลักษณะทางการเมือง สิ่งที่รับรู้นั้นอาจทำลายความคาดหวังลึก ๆ ของพนักงานผู้นั้นที่คิดว่า การให้รางวัลและการยอมรับ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลการปฏิบัติงาน การรับรู้ในลักษณะดังกล่าว สามารถนำไปสู่การมีพฤติกรรมการเป็นพลเมืองขององค์การน้อยลง ทุ่มเทให้กับงานน้อยลง เป็นต้น (Parker et al., 1995, p. 891)

 การเมืองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือเป็นสิ่งที่สัมผัสได้แต่การเมืองเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในองค์การที่สังเกตเห็นได้ยากด้วยวิธีการที่เป็นระบบ (Daft, 2001, p. 458) ตลอดจนเป็นสถานการณ์ซับซ้อนที่ดูเหมือนว่าไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักวิชาการจึงมีแนวคิดในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างหลากหลาย (Vigoda, 2000a, p. 187) จากการศึกษาของ Gandz and Murray (as cited in Parker et al., 1995, p. 891) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง ร้อยละ 60 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า

บทสนทนาโดยปกติเกือบ  ทั้งหมดดูเหมือนจะมีสิ่งที่เราเรียกได้ว่าเป็นการเมืองในที่ทำงานด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ให้คำจำกัดความคำว่า การเมืองในองค์การ ไว้แตกต่างกันออกไปบางคนมองว่า การเมือง คือ ส่วนหนึ่งของทุก ๆ องค์การ และยังเป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของวัฒนธรรมองค์การด้วย มีหลายครั้งที่คนเราเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือใช้ กลยุทธ์ทางการเมืองโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองในองค์การที่มีศักยภาพ มักจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังแสดงบทบาททางการเมืองในองค์การอยู่ (Buhler, 1994, p.24)

หมายเลขบันทึก: 450539เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อความนี้คัดลอกมาจากงานดุษฎีนิพนธ์ของผม กรุณาให้เครดิตด้วยครับ ไม่ควรทึกทักเป็นของตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท