แท็บเล็ต ๑ เครื่องต่อเด็ก ๑ คน ต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ


หากว่าที่รัฐบาล จัดทำเชิงนโยบายแจกแท็บเล็ตให้เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ไตร่ตรองและจัดทำมาตรการให้ครบถ้วนและรอบด้าน เราจะต้องตามแก้ปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์ ติดอินเทอร์เน็ต การละเมิด การล่อลวงเด็กผ่านอินเทอร์เน็ต ท้ายที่สุด นโยบายประชานิยมดังกล่าว จะสร้างทุกข์ให้สังคมไทย มากกว่าการสร้างสุขให้กับสังคม

นโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่มีมาตรการกำหนดให้เด็กนักเรียน ๑ คนมีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ เรียกว่า แท็บเล็ต ๑ เครื่อง นั่นเท่ากับว่าจำนวนเด็กเล็กในช่วงอายุ ๖ ถึง ๑๗ ปี กว่า ๑๑ ล้านคน จะมีคอมพิวเตอร์แบบพกพาส่วนตัวใช้ ต้องนับเป็นการแนวคิดเชิงก้าวหน้าที่มุ่งพัฒนาและกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้อุปกรณ์ไปยังประชากรเด็ก อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำมาตรการต่างๆเพื่อรองรับนโยบายนี้จำเป็นที่จะต้องคิดให้รอบคอบใน ๓ ประเด็นใหญ่ๆ กล่าวคือ (๑) เรามีระบบหรือมาตรการในการป้องกัน คุ้มครองเด็กในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพียงพอแล้วหรือยัง ? (๒) การส่งเสริมหรือสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่มีมากน้อยเพียงใด ? (๓) มีระบบ หรือ กลไกของเจ้าภาพในการทำงานเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือยัง ?

ระบบหรือมาตรการในการระบบหรือมาตรการในการป้องกัน คุ้มครองเด็ก ที่เป็นอยู่ยังไม่ดีพอ ต้องพัฒนาระบบให้รอบด้าน 

          ระบบหรือมาตรการในการคุ้มครองเด็กในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ครบวงจรสามารถจัดแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ กล่าวคือ (๑) ระยะก่อนที่เด็ก เยาวชน จะเข้าถึงและใช้สื่อ ต้องมีมาตรการรองรับอย่างน้อย ๔ เรื่อง คือ ความรู้ในการจัดทำกติกาพื้นฐานในครอบครัว การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาของเกมคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง ความรู้ในการติดตั้งโปรแกรมการกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทั้งในบ้านและระดับส่วนกลาง ไม่เพียงเท่านั้น จำเป็นที่จะต้องมีการจัดระบบฐานข้อมูลด้านสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ (๒) ระยะที่เด็กเข้าใช้สื่อ ต้องมีมาตรการอย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ มาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในระบบอินเทอร์เน็ต และประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ และ การเสริมสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ เพื่อเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมในการใช้งานสื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม มากกว่าการใช้งานเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว (๓) ระยะสุดท้าย การเตรียมแก้ไขปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์และการติดอินเทอร์เน็ต

          หากตรวจสอบดูให้ดี จะพบว่ามาตรการที่บ้านเรามีนั้นยังไม่ครบวงจร โดยเฉพาะเรื่อง การเสริมสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ซึ่งถูกพูดถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ มาตรการที่มีอยู่ ทั้งการเสริมสร้างความรู้ให้กับพ่อแม่ในการเลือกรับสื่อ หรือ มาตรการสนับสนุนการสร้างกติกาพื้นฐานภายในครอบครัว ก็เป็นเพียงวาทกรรมมากกว่าที่จะขยายผลในทางปฎิบัติ

การส่งเสริมหรือสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่เป็นเรื่องสำคัญแต่ถูกให้ความสำคัญน้อย

ในอดีตที่ผ่านมา แนวทางในการแก้ไขปัญหาเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เน้นหนักไปที่มาตรการในการปราบปราม แต่ปรากฏความจริงว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันให้กับเด็กในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในขณะนี้แนวคิดดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปสู่ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่”

วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ จะประกอบด้วย ๓ทักษะ กล่าวคือ ทักษะแรก ผู้ใช้ต้องมีทักษะรู้เท่าทันสื่อใหม่ ทั้งการรู้เท่าทันสารสนเทศ เท่าทันการสื่อสาร เท่าทันเทคโนโลยี และ ทักษะที่สอง ผู้ใช้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม อีกทั้ง ต้องมีทักษะด้านกติกาพื้นฐาน รวมทั้ง มารยาทพื้นฐานในการใช้งานสื่อใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติกามารยาทในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

เพื่อรองรับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ จำเป็นที่จะต้อง “ขยายผล” หลักสูตรวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อ หลักสูตรการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม หลักสูตรผู้บริหารโรงเรียน ในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ หลักสูตรครูในฐานะผู้สนับสนุนเด็กในการใช้สื่อใหม่เพื่อการพัฒนา หลักสูตรวัฒนธรรมสร้างสรรค์ดังกล่าวมีการพัฒนาและทดลองใช้ในโรงเรียนบางละมุง จังหวัดชลบุรี ผลจากการอบรมทำให้ครูและนักเรียนสามารถออกแบบกิจกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ในโรงเรียนและเด็กนักเรียนสามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนได้

เจ้าภาพหลักในการทำงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ เน้นบทบาทในการประสานเครือข่ายเชิงนโยบายแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนเครือข่ายภาคปฎิบัติให้เกิดการขยายผลผลลัพธืและเครือข่าย

          อันที่จริงดูเหมือนว่า ภารกิจในเรื่องนี้จะเป็นบทบาทหลักของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กนักเรียน ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แต่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่ เนคเทค ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีด้านสังคม หรือ ด้านเด็กโดยเฉพาะ ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดการประสานงานเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ จึงควรใช้กลไกของ คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ในการพัฒนาระบบการทำงานเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ อีกทั้ง เร่งพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยเน้นการส่งเสริมให้เด็ก ร่วมกับ ครูในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ มากกว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนฝ่ายเดียว และ พัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นและใช้ประโยชน์

          ในข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมไทย พบว่าเรามีตัวอย่างหรือต้นทุนสังคมในการทำงาน ทั้งเครือข่ายเด็กที่สามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ๕ มิติ คือ พัฒนาสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ นักข่าวน้อยโลกไซเบอร์ นักขับเคลื่อนสังคมในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ และ นักพัฒนาซอฟท์แวร์

อีกทั้ง ยังมีระบบการสนับสนุนที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทั้ง โครงการประกวดนักพัฒนาซอฟท์แวร์รุ่นเยาว์ ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค มีกลุ่มเครือข่ายครู เช่น เครือข่ายของ thinkquest.or.th หรือ thaigoodview.com มีโรงเรียนต้นแบบที่มีเครือข่ายเด็กและระบบการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนเด็กในการทำงาน เช่น โรงเรียนบางละมุง โรงเรียนสตรีเฉลิมขวัญ โรงเรียนระยองวิทย์ โรงเรียนนวมินทร์ราชูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เป็นต้น ยังมีเครือข่ายสนับสนุนการทำงานทั้งการสนับสนุนความรู้ การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายชุมชนนักปฎิบัติ เช่น กลุ่มฟิ้ว จากไบโอสโคป มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยเฉพาะ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ในฐานะศูนย์จัดการความรู้เรื่องเด็กกับไอซีที

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนในการทำงานที่เข้มแข็งที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น บทบาทของรัฐบาลในฐานะเจ้าภาพหลัก จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อทำให้เกิดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ วาระเร่งด่วนคือ การเร่งคลอดกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เร่งดำเนินมาตรการเพื่อทำให้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสามารถทำงานได้

ในขณะเดียวกัน ต้องมอบหมายให้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ทำงานเชิงนโยบายโดยมีบทบาทของการทำงานเพื่อทำให้เกิดการประสานเชิงนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ จัดระบบเพื่อการสนับสนุนเครือข่ายในการทำงานภาคปฎิบัติให้เกิดการขยายผลทั้ง ผลลัพธ์ และ เครือข่ายในการทำงานให้มีมากขึ้น

ทั้งหมด เพื่อที่จะบอกว่า หากว่าที่รัฐบาล จัดทำเชิงนโยบายแจกแท็บเล็ตให้เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ไตร่ตรองและจัดทำมาตรการให้ครบถ้วนและรอบด้าน เราจะต้องตามแก้ปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์ ติดอินเทอร์เน็ต การละเมิด การล่อลวงเด็กผ่านอินเทอร์เน็ต ท้ายที่สุด นโยบายประชานิยมดังกล่าว จะสร้างทุกข์ให้สังคมไทย มากกว่าการสร้างสุขให้กับสังคม

 

หมายเลขบันทึก: 450435เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณคะอาจารย์..เป็นไปได้ไหมคะ ที่น่าจะสั่ง spec พิเศษ ที่ตัด function ซึ่งเสี่ยงต่อการใช้ไม่เหมาะสมออกไป (เช่น chat, sound card, game card etc) เหลือแต่ที่จำเป็นเพื่อการศึกษาจริง..ราคาก็จะได้ถูกลง และไม่โดนพ่อแม่หรือโจรมาแย่งด้วย

เป็นไปได้ครับ แต่ในทีสุด ก็จะมีโปรแกรมออกมาเพื่อแก้ระบบตรงนั้น เท่ากับว่า แมวไล่จับหนู ไล่กันไปไม่มีวันจบครับ ต้องปรับแนวคิด และให้เครืื่องมือครูและพ่อแม่น่าจะดีที่สุดครับ

ผมเชื่อว่ามีคนไทยบางส่วนโดยเฉพาะชาว G2K หลายท่านรู้ดีว่าโครงการนี้เราเคยทำ Pilot Run ไปแล้วและผลงานวิจัยก็ออกมาแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว

น่าเสียดาย จากการรัฐประหารและการตีความรายงานที่ออกมาด้วยอคติของรัฐบาลที่กำลังจะไป มันได้ถูกปิดประตูตายเพียงเพราะคนที่สนับสนุนผลักดันให้เป็นนโยบายเป็นศัตรูทางการเมือง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการกระชากโอกาสจากเด็กด้อยโอกาสหรือไม่ แม้แต่ชาวต่างชาติที่ติดตามเรื่องนี้ยังบอกเลยว่าเป็น "sad news"

ลองหา และวิเคราะห์รายงานตัวนี้เต็มๆดูนะครับ (รายงานโดยอานันท์ ศรีพิทักษ์เกียรติ) ที่บอกว่าเวลาสองปีของการทดลองเด็กไม่ได้มีผลการเรียนดีขึ้นหรือแย่ลงนั่นคือส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เหลือผมว่าน่าสนใจมากกว่า และนั่นคงพอบอกได้ว่าทำไมผมจึงอยากให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อไปครับ

ต้องคิดหลายๆมิติครับ โดยเฉพาะต้องใช้จินตนาการด้วย ถ้าฝรั่งคิดแค่ว่าเครื่องยนต์เป็นเรื่องในนิยาย วันนี้ยานพาหนะที่ทันสมัยที่สุดของเราคงเป็นเกวียนกระมังครับ

http://wiki.nectec.or.th/nectecpedia/index.php?title=OLPC-TH&redirect=no

http://archive.voicetv.co.th/content/24937

http://www.olpcnews.com/use_cases/education/elaine_negroponte_on_computer.html

http://www.olpcnews.com/countries/thailand/olpc_thailand_update_xo_studen.html

ขอบคุณครับ อ.บัณฑิต ได้ข้อมูลมาศึกษาต่อเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท