ปราสาทเมืองต่ำ


ปราสาทเมืองต่ำ 

ภูมิหลัง

          ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากประสาทหินพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร คำว่า เมืองต่ำ นี้ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง

          จากการดำเนินงานของกรมศิลปากรแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ก่อนจะมีการสร้างปราสาทเมืองต่ำปรากฏหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 2,000 มาแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่รู้จักการถลุงเหล็ก และมีการเข้ามาอาศัยอยู่เรื่อย ๆ

          ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัดเพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบคลัง ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาทเมืองต่ำลดความสำคัญลงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกทิ้งร้างในที่สุด จนเมื่อราวปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีการอพยพเข้ามาของชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง 

การบูรณะ การขึ้นทะเบียน 

           ปราสาทแห่งนี้รู้จักกันครั้งแรกตามที่มีเอกสารที่มีการกล่าวถึงปราสาทเมืงต่ำเป็นครั้งแรกคือ บันทึก ของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ. 2444

          ปี พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทเมืงต่ำ คราวเสด็จมณฑลอีสาน

          กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเมืองต่ำเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478  พร้อมกับปราสาทพนมรุ้ง

          และปี พ.ศ. 2503-2539 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทเมืองต่ำจนแล้วเสร็จ

          เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 10 พฤษจิกายน พ.ศ. 2540 เนื่องในมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษกฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

ศาสนา

           จากภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย  ก็คือสร้างถวายพระอิศวรหรือพระศิวะ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู   

คติภูมิจักรวาล 

 

(ภาพคติภูมิจักรวาล เขาพระสุเมร)

          ปราสาทเมืองต่ำมีความโดดเด่นในเรื่องคติภูมิจักรวาลเนื่องจากมีสระน้ำ 4 สระ ล้อมรอบ ปราสาท  5 ยอด จากคำภีร์ศิวะปุราณะกล่าวว่า พระอิศวรทรงน้ำด้วยพระเสโท สร้างแผ่นดินด้วยเมโท ใช้จุฑามณีปักลงที่ใจกลางของพื้นภพเป็นเขาพระสุเมรุให้เป็นแกนหลักของโลก และจักรวาล นำพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอบเขาพระสุเมรุอีก 7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรีเป็นที่สถิตของเทวดา

          ปราสาท 5 ยอดเปรียบได้กับ ยอดเขา 5 ยอด คือ สุทัศนกูฏ จิตรกูฏ กาลกูฏ ไกรลาส (ที่สถิตของพระอิศวร) และ คันธมาทกูฏ มีมหาทวีปทั้ง 4 ล้อมรอบคือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และ อุตรกุระ

          สระน้ำทั้ง 4 เปรียบได้กับ มหาสมุทรทั้ง 4 ทิศล้อมรอบ คือปิตสาคร ผลิกสาคร ขีรสาคร น้ำสีขาว (ทะเลน้ำนมเกษียรสมุทรที่สถิตย์ของพระนารายณ์) และนิลสาคร               

          อีกทั้งมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์น้อยใหญ่ หมุนเวียนล้อมรอบ

          ปราสาทเมืองต่ำจึงแสดงสัญลักษณ์ตามคติเขาพระสุเมรุได่อย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาปราสาทหินแบบเขมร

          ปราสาทเมืองต่ำอาจเป็นปราสาทประจำชุมชนหรือปราสาทประจำราชกาลก็ได้เพราะมีขนาดใหญ่และสวยงามไม่แพ้ปราสาทพนมรุ้งหรือปราสาทพิมาย ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกับปราสาทพนมรุ้ง สร้างบนที่ราบ มีการยกฐานสูง แผนผังปราสาทสมดุลทุกทิศทาง

(ภาพถ่ายอางอากาศแสดงผังปราสาทเมืองต่ำ)

(ผังปราสาทเมืองต่ำ)

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

          ระเบียงคดและซุ้มประตู


(ซุ้มประตู) 

            ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทราย ระเบียงคดนี้ลักษณะเป็นห้องแบบระเบียงคดทั่วไป หลังคาเป็นหินทรายทำเป็นรูปประทุนเรือ มีประตู 3 ด้านพื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลัก ด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง ด้านนอกติดลูกกรงลูกมะหวด

             ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านนอกจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่า อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เหนือขึ้นไปเป็นนาค 5 เศียรครอบ 2 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง ทับหลังหินทรายจำหลักภาพเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง

(ทับหลังศิลปะบาปวน)

            เสากรอบประตูกลางจำหลักภาพสิงห์ยืนเท้าสะเอวจับพุ่มกนกและโคนเสาเป็นภาพฤาษีนั่งยอง ๆ ประนมมือเป็นศิลปะแบบบาปวน 

           ปรางค์ประธาน 5 องค์


(ปรางค์ประธาน)

            ปราสาทเมืองต่ำมีปรางค์ประธานห้าองค์บนฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับปราสาทศีขรภูมิ โดยแต่ละองค์ เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียว แผนผังของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ

           ปรางค์ประธาน ปัจจุบันได้ถล่มลงมาแล้ว พบเพียงฐานเป็นศิลาแลง และหน้าบันซึ่งสลักจากหินทราย เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะปาปวน สันนิษฐานว่าตัวปราสาทเป็นปราสาทหินทราย และคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์

            ปราสาทประกอบอีก 4 หลังเป็นปราสาทอิฐ ปัจจุบันได้รับการบูรณะในสภาพสมบูรณ์ และมีหน้าบันด้านหน้าอยู่ครบ โดยปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้ มีหน้าบันเป็นภาพพระวรุณเทพประทับเหนือหงษ์ ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศใต้เป็นภาพพระอินทร์ ปางมหาราชลีลาสนะประทับเหนือหน้ากาล ส่วนปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ เป็นภาพพระศิวะคู่พระอุมา ประทับบนโคนนทิในปาง อุมามเหศวร


(ทับหลังอุมามเหศวร)

          บรรณาลัย

(บรรณาลัย)

            บรรณาลัยของปราสาทเมืองต่ำมี 2 หลัง สร้างด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางทิศตะวันออกของกลุ่มปราสาท 5 หลัง  โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทับหลังของบรรณาลัยของทั้ง 2 หลังนี้ จำหลักเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่า ในมือถือดอกบัวประทับเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยไม่มีอุบะแบ่งเสี้ยวตามแบบศิลปะบาปวน

           สระน้ำ 4 สระ


(สระน้ำที่ล้อมรอบปราสาทประธาน)

            สระน้ำที่ล้อมรอบปราสาทประธานได้แสดงถึงมหาสมุทรทั้ง 4 ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติพราหมณ์ดังได้กล่าวมาแล้ว ลักษณะเป็นสระน้ำหักมุมฉากอยู่ทั้ง 4 ทิศ สันนิษฐานว่าใช้กักเก็บน้ำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความโดดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือ นาคที่ขอบสระทั้ง 4 เป็นนาคแบบเศียรโลน ไม่มีแผงรัศมี ซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวนอย่างแท้จริง นาคนั้นไม่มีหาง ซึ่งปรายสุดของนาคจะมีเศียรจลดหัวท้าย 


(นาคศิลปะบาปวน)

(ลายเส้นนาค 5 เศียร ศิลปะบาปวนอย่างแท้จริง)

 สิ่งที่น่าสนใจ

            ทะเลเมืองต่ำหรือบารายเมืองต่ำ

(ภาพถ่ายทางอากาศบารายเมืองต่ำ)

(บารายเมืองต่ำ)

            ใกล้กับปราสาทมีอ่างเก็บน้ำโคกเมือง เป็นบารายขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าทะเลเมืองต่ำ เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาท อยู่ห่างจากตัวปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภค การชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้น ท่าน้ำทั้ง 2 ฟากนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ

          บางรายแห่งนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากเขาปลายนัด (ไปรนัด) และเขาพนมรุ้ง ตรงบริเวณที่เรียกว่า สะพานขอม และระบายน้ำออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังคงความสำคัญต่อชุมชนในทุกวันนี้

           จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แถบปราสาทเมืองต่ำอันเป็นที่ราบผืนดินมี ความอุดมสมบูรณ์จากเถ้าลาวาของภูเขาไฟซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงมีการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรในภายหลัง สิ่งเหล่านี้แสดงว่าชุมชนบนที่ราบเชิงเขาพนมรุ้งคงเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญแห่งหนึ่ง

          ดังนั้นปราสาทเมืองต่ำและทะเลเมืองต่ำจึงมีความสำคัญทางด้านการจัดการน้ำ

เส้นทางการเดินทาง

           ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง อำเภอ ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาทำการ 8.30 น. – 16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท

            การเดินทาง


(แผนที่เส้นทางการเดินทางไปปราสาทเมืองต่ำ)

 

            จากจังหวัดบุรีรัมย์ มาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 219 มาประโคนชัย แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 2075 ตรงเรื่อยมาจนพบทางแยกไปซ้าย ให้ใช้ทางตรงหรือเส้นขวา ไปอีกประมาณ 1 6 กิโลเมตร จนมาถึงเชิงเขาพนมรุ้ง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายที่บอก ประมาณ 5 กิโลเมตร 

          จากจังหวัดสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 มาถึงแยกที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 24 เลี้ยวขวาประโคนชัย จนมาถึงทางที่แยกซ้ายแล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 2075 จากนั้นก็ไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

คู่มือมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2551. ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์, วิไรรัตน์ ยังรอด. คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ : ปราสาทหิน พิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ ตาเมือง เขาพระวิหาร. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส. 2550. พิริยะ ไกรฤกษ์, รศ.ดร. ราคเหง้าแห่งศิลปะไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุคส์ จำกัด. 2553. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มติชน. 2548. ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. บุรีรัมย์ : โรงพิมพ์วินัย. 2551. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว. ทับหลังในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. 2531. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. 2531. อุดม เชยกีวงศ์. วัฒนธรรมขอมกับความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา. 2552.

หมายเลขบันทึก: 449531เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบว่า มีข้อมูลประวัติปราสาทหินเมืองต่ำเป็นภาษาอังกฤษไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท