ความเป็นมาและพัฒนาการของการเจรจาหกฝ่าย


 

 

ความเป็นมาและพัฒนาการของการเจรจาหกฝ่าย

ในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐  เกาหลีเหนือ (Democratic People’s Republic of Korea, DPRK) พัฒนาอาวุธทันสมัยอย่างเร่งรีบ อันเป็นการตอบสนองการคุกคามทางทหารของสหรัฐฯ  ทำให้สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หวาดระแวงเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้น  ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๙๒-๑๙๙๓ ภายหลังสงครามสหรัฐฯ-อิรักรอบแรก  สหรัฐฯ เพิ่มแรงบีบคั้นต่อเกาหลีเหนือในด้านการทหารมากขึ้น จีนได้แสดงบทบาทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเจรจาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองประเทศหลายครั้ง จนนำมาซึ่งข้อตกลงเจนีวาปี ค.ศ.๑๙๙๔  ไม่นานต่อมา คู่สัญญาไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง โดยต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าละเมิดข้อตกลงก่อน  จีนก็เข้าไปไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองประเทศ เจรจาตกลงแก้ไขปัญหากันโดยสันติวิธี  ที่ผ่านมาจีนได้เป็นจัดภาพเจ้าประชุม ๓ ฝ่าย (สหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และจีน) ขึ้นที่ปักกิ่ง (๒๓-๒๕ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๓) จัดประชุม ๖ ฝ่ายรอบแรก และรอบที่สองขึ้นที่กรุงปักกิ่งอีก เมื่อวันที่ ๒๗-๒๙ สิงหาคม ค.ศ.๒๐๐๓ และ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๔ ตามลำดับ

การเจรจา ๖ ฝ่ายที่จีนเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๔ นั้น ประกอบด้วย สหรัฐฯ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และจีน  ภารกิจที่สำคัญของการประชุมคือ การระงับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรฝ่ายหนึ่ง กับ เกาหลีเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีโดยสันติวิธี แม้การเจรจาคราวนี้จะจบลงโดยไม่มีข้อตกลงระงับข้อพิพาท แต่ก็มีบางประเด็นที่คืบหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต

การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลีเคยเป็นประเด็นที่ตกลงกันได้ยาก  โดยแต่เดิมนั้น เกาหลีเหนือยืนกรานจะเจรจากับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว  ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ในเจรจานั้นมีเพียงประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเท่านั้น  ในชั้นแรกช่วงปี ๑๙๙๓-๑๙๙๔  รัฐบาลประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ยอมเจรจาด้วย และได้ผลออกมาเป็นข้อตกลงเจนีวา ซึ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๙๔ (Agreed Framework between the United States of America and the Democratic People’s Republic of Korea) ซึ่งสาระสำคัญในข้อตกลงดังกล่าวได้แก่

. เกาหลีเหนือสัญญาว่าจะปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานปรมาณูและอุปกรณ์ทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งนี้เพราะโรงงานชนิดนั้นสามารถสะสมสารพลูโตเนียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์

. เกาหลีเหนือจะยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA) เข้าไปตรวจสอบการปิดโรงงานและอุปกรณ์ เพื่อ
ไม่ให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

. เกาหลีเหนือจะทำลายโรงงานพลังงานปรมาณูและอุปกรณ์ทั้งหมด เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ สร้าง
โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาทดแทนเสร็จแล้ว

. สหรัฐฯ ตกลงจะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบน้ำธรรมดา (Light-Water Reactor, LWR) ให้ ๒ โรง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวมกันประมาณ ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๐๐๓

. ในระหว่างที่โรงงานเดิมถูกปิด และโรงงานใหม่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ สหรัฐฯตกลงจะจัดหาวัสดุพลังงานคือน้ำมันให้แก่เกาหลีเหนือจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี เป็นการชดเชยให้กับพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียไป

. สหรัฐฯ จะให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ใช้หรือข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ

. สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจะร่วมมือกันปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้เข้าสู่ระดับปกติ รวมทั้งลดอุปสรรคหรือการกีดกันทางด้านการค้าและการลงทุน ฯลฯ

.สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจะเปิดสำนักงานตัวแทน (Liaison Office) ในเมืองหลวงของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่จะยกฐานะให้เป็นสถานเอกอัครราชทูตในที่สุด

ในช่วง ๗ ปีเศษนับแต่มีข้อตกลงปี ค.ศ.๑๙๙๔ จนถึงการสิ้นสุดของรัฐบาลประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน  เกาหลีเหนือได้ทำตามข้อตกลงทุกข้อ (ข้อ ๑, , )  ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ ทำตามข้อตกลงในบางส่วน การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบน้ำธรรมดา ๒ โรง ดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๔ นั้น ทำท่าจะล้มเหลว เพราะสหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ สำหรับประเทศพันธมิตรอื่นก็ให้ความสนใจน้อย การที่จะระดมทุน ๔,๐๐๐ - ,๐๐๐ ล้านเหรียญ เพื่อสร้างโรงงานทั้งสองนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  โรงงานแรกที่ Kumho ได้ถูกเริ่มก่อสร้างไว้เพียงเล็กน้อย ทิ้งร่องรอยให้เห็นว่าได้เริมดำเนินการแล้ว แต่งานก็ถูกทิ้งไว้เพียงเท่านั้น  ส่วนข้อตกลงข้อ ๕ นั้น สหรัฐฯ และพันธมิตร ปฏิบัติตามค่อนข้างดี แต่ก็ยังปรากฏมีบางงวดที่ส่งน้ำมันให้ไม่ครบ  และตลอดเวลาช่วงดังกล่าวสหรัฐฯ บิดพลิ้วไม่ยอมทำตามสัญญาในข้อ ๗ และ ๘

ภายหลังหมดวาระของประธานาธิบดีคลินตัน รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าวแต่ต้น โดยมองว่าพันธะที่ตนต้องปฏิบัตินั้นเท่ากับเป็นการให้รางวัล (Rewards) แก่รัฐอันธพาล (Rogue State)  แต่รัฐบาลประธานาธิบดีบุชก็ไม่ประกาศยกเลิกสัญญา เพียงแต่ไม่ปฏิบัติตาม ก่อนที่จะระงับการส่งน้ำมันไปเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นพันธะข้อเดียวที่ยังคงดำเนินการอยู่ในขณะนั้น  รัฐบาลประธานาธิบดีบุชเลือกที่จะโยนความผิดไปให้เกาหลีเหนือ

ในเดือนตุลาคม ค.ศ.๒๐๐๒  รัฐบาลประธานาธิบดีบุช ส่งนายเจมส์ เคลลี (James A. Kelly) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยังเกาหลีเหนือ นายเคลลีกับผู้แทนเกาหลีเหนือเจรจาถกเถียงเรื่องอะไรกันนั้น บุคคลภายนอกหาได้ล่วงรู้ไม่  แต่สื่อมวลชนทั่วโลกได้กระพือข่าวว่านายเจมส์ เคลลี ได้เปิดเผยว่า ผู้แทนเกาหลีเหนือได้สารภาพกับเขาว่า เกาหลีเหนือได้รื้อพื้นโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่แล้ว  ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๒  สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางของเกาหลีเหนือออกอากาศว่า เคลลี กุเรื่อง (Fabricate)” ขึ้นเอง ความจริงฝ่ายเกาหลีเหนือพูดเพียงว่า ตนมีสิทธิที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ถ้าสหรัฐฯ ยังคงละเมิดข้อตกลงที่ทำกันไว้  อย่างไรก็ตาม ผลก็คือความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีสูงขึ้นอีกครั้ง ชาวโลกพากันตกใจและต่างประณามเกาหลีเหนือ  สหรัฐฯ ระงับการส่งน้ำมันตามสัญญา ส่วนเกาหลีเหนือก็ขับผู้เชี่ยวชาญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ออกในเดือนธันวาคม และประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาห้ามแพร่อาวุธนิวเคลียร์ทันที  ทั้งนี้ตามสนธิสัญญาข้อที่ ๑๐  จะมีผลต่อเมื่อครบ ๓ เดือนหลังประกาศ นั่นคือวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๓  ในที่สุดเกาหลีเหนือก็ประกาศรื้อฟื้นการสร้างโรงงานหรือการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูของตนต่อไป นั่นเป็นปัญหาวิกฤตถึงจุดที่จะใช้กำลังหรือการทูตเข้าแก้ แต่การเลือกใช้วิธีใดนั้น สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเลือก ไม่ใช่เกาหลีเหนือ ซึ่งในที่สุดสหรัฐฯ เลือกใช้การทูต

สำหรับรูปแบบและคู่ภาคีในการเจรจานั้น เกาหลีเหนือยอมผ่อนปรนให้อย่างเป็นขั้นตอน จากการเจรจาโดยลำพังกับสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๙๓-๑๙๙๔ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เปลี่ยนเป็นการเจรจา ๓ ฝ่าย ในเดือนเมษายน ๒๐๐๓  โดยมีจีนร่วมด้วยในฐานะเป็นเจ้าภาพ และได้เปลี่ยนเป็นการเจรจา ๖ ฝ่ายครั้งที่ ๑  ในวันที่ ๒๖-๒๘ สิงหาคม ค.ศ.๒๐๐๓  และ ครั้งที่ ๒  ในวันที่ ๒๕-๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๔  จีนมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยให้เกาหลีเหนือยอมรับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นคู่ภาคีด้วยตามความต้องการของสหรัฐฯ ส่วนรัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจเช่นเดียวกับจีน ที่มีพรมแดนติดต่อกับเกาหลีเหนือ

ในการประชุม ๖ ฝ่าย ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันในประเด็นที่สำคัญได้ ข้อถกเถียงยังคงวกวนอยู่ที่ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ให้เกาหลีเหนือกำจัดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ อย่างสมบูรณ์ตรวจสอบได้และฟื้นคืนไม่ได้กล่าวคือ ให้มีการทำลายอะไรก็ตาม ที่สงสัยว่าอาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แล้วจึงพูดกันถึงประเด็นอื่น ส่วนเกาหลีเหนือนั้นก็ยังยืนกรานที่จะต้องเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ เมื่อปิดโรงงานพลังงานไฟฟ้าปรมาณู ก็ต้องชดเชยพลังงานหรือเชื้อเพลิงอื่นให้ เมื่อจะทำลายวัสดุ-อุปกรณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไป  สหรัฐฯ ก็จะต้องให้หลักประกันความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือด้วย  เกาหลีเหนือเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (Non-aggression Pact)

อย่างไรก็ดี การเจรจา ๖ ฝ่ายครั้งล่าสุดถือได้ว่ามีความคืบหน้าอยู่บ้าง ดังนี้  ) คู่เจรจาต่างรู้จุดยืนของแต่ละฝ่ายชัดเจนขึ้น,  ) คู่เจรจาทั้ง ๖ ประเทศตกลงกันว่าจะแก้ปัญหาโดยการเจรจาอย่างสันติวิธีในฐานะเท่าเทียมกัน,  ) คู่เจรจาทั้ง ๖ ตกลงกันว่าจะเจรจาทำความตกลงกัน ในเรื่องทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง,  ) เกาหลีเหนือยอมอ่อนข้อลงเล็กน้อย โดยแนะว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่ยอมทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกับตน ก็อาจจะให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรแทนก็ได้ ส่วนสหรัฐฯ นั้นล่าสุดก็แถลงว่า ไม่มีเจตนาจะโจมตีหรือรุกรานเกาหลีเหนือ หรือเปลี่ยนระบบการปกครองของเกาหลีเหนือ,  ) คู่เจรจาทั้ง ๖ ตกลงกันจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อเตรียมงานการประชุมครั้งต่อไป,  และ  ) กำหนดการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๔

เมื่อวันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๔  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมการเจรจา ๖ ฝ่าย รอบที่ ๓ ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เกาหลี ทำให้ชาวโลกได้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า จีนมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี  เป้าหมายของการจัดประชุมก็คือ ให้ประเทศคู่พิพาทหลัก (สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ)  และประเทศที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และจีน) มาร่วมกันเจรจาแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์  ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ หวาดระแวงว่า เกาหลีเหนือมีนโยบายพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงที่มหาอำนาจทั้ง ๕ และประเทศที่ไม่เป็นภัยต่อสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีได้ ความจริงก็คือสหรัฐฯ ต้องการปลดอาวุธร้ายแรงของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับที่ใช้โค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักนั่นเอง รัฐบาลเกาหลีเหนือถูกจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประณามว่าเป็น ปีศาจเฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลอิรักและอิหร่าน  ถ้าหากไม่มีจีนและรัสเซียขัดขวาง สหรัฐฯ อาจจัดการกับเกาหลีเหนือด้วยกำลังทำนองเดียวกับอิรักไปแล้ว ถึงแม้จะไม่ค่อยถนัดถนี่นักที่จะใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ แต่ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในอันที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ (ไม่ว่าจะมีอยู่หรือกำลังจะมีก็ตาม) ก็ได้รับการขานรับจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มาร่วมประชุมกันแล้วสามครั้ง

การประชุม ๖ ฝ่ายครั้งนี้ต่างจากครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒  กล่าวคือมีการเตรียมงานของคณะทำงาน (Working Group)  ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของรัฐบาลทั้ง ๖ ประเทศ คณะทำงานนี้ตั้งขึ้นโดยมติของการประชุม ๖ ฝ่ายรอบที่ ๓ ณ กรุงปักกิ่ง  คณะทำงานได้ประชุมร่วมกัน ๒ ครั้ง  ในช่วง ๑๒-๑๕ พฤษภาคม และ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๔ ตามลำดับ  ซึ่งเป็นการกรุยทางและวางรากฐานให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเจรจากันได้

การประชุมเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๓ นี้ มีผลงานคืบหน้าไปพอสมควร อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี  เป็นการคานอำนาจของลัทธิอำนาจนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ โดยพลังสันติภาพซึ่งนำโดยจีน ถ้าในที่สุดสามารถแก้ไขปัญหาเกาหลีได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง ย่อมจะมีผลกระทบทางจิตวิทยาไม่น้อย ต่อทางเลือกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในอนาคต 

การประชุมเจรจา ๖ ฝ่ายที่จีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่เขตรับรองบุคคลสำคัญ เตียวหยูไถในกรุงปักกิ่ง ต่อเนื่องกันมาแล้ว ๓ ครั้งนั้น แม้จะยังไม่ได้บทสรุปข้อตกลงที่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้ประเด็นต่าง ๆ ที่จะต้องเจรจาตกลงกันต่อไปกระจ่างชัดเจนมากขึ้น  ทั้งนี้ประเด็นที่ที่ประชุม ๖ ฝ่ายตกลงกันได้ มีดังนี้

๑. ทุกฝ่ายรวมทั้งเกาหลีเหนือเห็นชอบด้วยแล้ว ที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์

๒. เกาหลีเหนือตกลงยินยอมจะระงับ (Freeze) การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (ไม่ว่าจะมีอยู่หรือกำลังจะมีก็ตาม)  กล่าวคือไม่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนโอน และไม่มีการทดลอง ตลอดจนให้มีการตรวจสอบการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจะยินยอมให้ทำลาย (Dismantle) อาวุธนิวเคลียร์และอุปกรณ์ โดยมีเงื่อนไขว่า สหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอน ซึ่งจะได้ตกลงกันในลักษณะต่างตอบแทน

๓. เกาหลีเหนือมิได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำสัญญาไม่รุกรานกัน (Non-aggression Pact) หรือสนธิสัญญาสันติภาพอีกต่อไป คงถือได้ว่าข้อนี้ไม่จำเป็นถ้าหากสหรัฐฯ ยินยอมให้หลักประกันความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือในรูปแบบอื่น

๔. สหรัฐฯ มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น (ความยาว ๗ หน้ากระดาษ) อันมีสาระสำคัญ คือ สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายจะคุกคามความมั่นคงของเกาหลีเหนือ และจะให้ความช่วยเหลือในด้านพลังงานแก่เกาหลีเหนือโดยมีเงื่อนไข

๕. ให้จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจา ๖ ฝ่าย ขึ้นอีกในปลายเดือนกันยายน ค.ศ.๒๐๐๔  ก่อนหน้านั้นให้คณะทำงานจัดประชุมเตรียมงานเพื่อการประชุมครั้งต่อไปให้เรียบร้อย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจา ๖ ฝ่าย บรรลุความสำเร็จได้ถึงขั้นนี้ก็คือ จีนได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก คณะทำงานได้พยายามทำประเด็นในการเจรจาให้ชัดเจน ส่วนเกาหลีเหนือก็ยอมรับอิทธิพลของจีนในระดับหนึ่ง สำหรับสหรัฐฯ ก็กำลังติดหล่มสงครามอยู่ในอิรัก ไม่สะดวกที่จะเปิดศึกอีกด้านหนึ่งกับเกาหลีเหนือ ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็คล้อยตามสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ๖ ฝ่าย ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่ยังมิอาจหาข้อยุติได้ ดังนี้

๑. แม้จะตกลงกันได้แล้วว่าจะทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่า คู่สัญญาจะละเมิดข้อตกลงเหมือนดังข้อตกลงปี ค.ศ.๑๙๙๔ หรือไม่

๒. ถึงแม้สหรัฐฯ จะอะลุ้มอล่วยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของตนแต่ต้น ในเรื่องที่จะให้เกาหลีเหนือทำลายอาวุธนิวเคลียร์และอุปกรณ์โดยสิ้นเชิง และให้มีการตรวจสอบได้ ก่อนที่จะเจรจากันในเรื่องอื่น ๆ  แต่ก็มีข้อเสนอใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของเกาหลีเหนือคือ ให้เวลาเกาหลีเหนือระงับ (Freeze) การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอุปกรณ์เป็นเวลา ๓ เดือน แล้วให้ทำลาย (Dismantle) โดยมิได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการตอบแทน

๓. สหรัฐฯ จะยอมเจรจาเรื่องการให้ความช่วยเหลือพลังงานแก่เกาหลีเหนือตามข้อเสนอ “Freeze for Compensation” (ชดเชยการขาดพลังงานและโอกาสทางพลังงาน) ของเกาหลีเหนือ  แต่สหรัฐฯ ยังมิได้ระบุว่าเป็นพลังงานชนิดใด จำนวนเท่าไร  รวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะให้คำมั่นถึงความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวนี้อย่างไร

๔. เกาหลีเหนือเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิกถอนรายชื่อเกาหลีเหนือออกจากรายชื่อบัญชีดำ ในข้อหาว่าส่งเสริมการก่อการร้าย และให้สหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายคว่ำบาตร และปิดล้อมเกาหลีเหนือในทางเศรษฐกิจ แต่สหรัฐฯ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังตกลงกันไม่ได้คือ ทั้งสองประเทศนี้ต่างไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน เบื้องหลังที่ทำให้ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันที่สำคัญคือ เกาหลีเหนือเคยถูกสหรัฐฯ เบี้ยวโดยการละเมิดข้อตกลงปี ค.ศ.๑๙๙๔  กล่าวคือไม่สนใจสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ ปรมาณูแบบน้ำธรรมดา (Light-Water Reactor)  จำนวน ๒ โรง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี ค.ศ.๒๐๐๓  ซึ่งในขณะนี้มีแต่รากฐานของโรงงาน  รวมทั้งได้ระงับการส่งน้ำมันให้เกาหลีเหนือตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๒  ในขณะที่สหรัฐฯ ก็กล่าวหาเกาหลีเหนือว่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อประชาคมโลก เฉกเช่นเดียวกันกับข้อกล่าวหาของเกาหลีเหนือที่มีต่อสหรัฐฯ  

จากความไม่ไว้วางใจกันและการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ผลักดันให้เกาหลีเหนือดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งต่อมาเกาหลีเหนือก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองแล้ว เมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๕ 

การเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๔ ระยะที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม - ๗ สิงหาคม ค.ศ.๒๐๐๕  มีพัฒนาการที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายสามารถบรรลุความเห็นชอบในหลักการร่วมกันในการจัดทำคำแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement)  ซึ่งจะเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์  ประกอบกับการเจรจาครั้งนี้เปิดให้สมาชิก ๖ ฝ่ายพบหารือทวิภาคีเพื่อปรับท่าทีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือได้พบ หารือทวิภาคีกันมากกว่า ๑๐ ครั้ง  อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งนี้ต้องหยุดพักชั่วคราว (Recess)  เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังมีท่าทีที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ ย้ำว่าเกาหลีเหนือต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด ขณะที่เกาหลีเหนือ เห็นว่าโครงการนิวเคลียร์เพื่อกิจการพลเรือนและการใช้นิวเคลียร์อย่างสันติเป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐอธิปไตย

การเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๔ ระยะที่ ๒  เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๙ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๕ โดยทั้ง ๖ ฝ่ายได้ออกคำแถลงร่วม (Joint Statement)  ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ 

๑. สมาชิกทั้ง ๖ ฝ่ายยืนยันอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงเป้าหมายของการเจรจา ๖ ฝ่ายคือ การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสันติวิธี และสามารถตรวจสอบได้

๒. สมาชิก ๖ ฝ่ายเคารพเป้าหมายและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ และยอมรับบรรทัดฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน

๓. สมาชิก ๖ ฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาพลังงาน การค้า และการลงทุน ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

๔. สมาชิก ๖ ฝ่ายเห็นชอบที่จะจัดการเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๕ ที่กรุงปักกิ่ง ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๕ โดยจะหารือเกี่ยวกับกำหนดวันต่อไป

การประชุมเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๕  เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๕  โดยมีกำหนดระยะเวลา ๓ วัน ก่อนที่จะมีการหยุดพักชั่วคราว (Recess)  เพื่อให้คณะผู้แทนไปเข้าร่วมประชุม APEC ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้  ประเด็นหลักในการเจรจาครั้งนี้คือ การหารือในรายละเอียดของคำแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement)  ที่สมาชิกทั้ง ๖ ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ในการเจรจารอบที่แล้ว (รอบที่ ๔)  เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๕ ได้แก่

๑. การยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

๒. การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ

๓. ความช่วยเหลือด้านพลังงานแก่เกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม การประชุมเจรจา ๖ ฝ่ายรอบที่ ๕ เมื่อวันที่ ๙-๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๕  ดังกล่าว ยังคงประสบกับความล้มเหลว โดยเกาหลีเหนือได้ดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก ในวันที่ ๙ ตุลาคม

กระบวนการของการเจรจา ๖ ฝ่าย ที่มีเป้าหมายที่จะให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ยังไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ แม้ในการเจรจา ๖ ฝ่าย เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๘

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 449298เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

งง ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องกลัวเกาหลีเหนือ ทั้งๆที่เป็นประเทศมหาอำนาจหรือว่าสหรัฐฯต้องการอะไรจากปรเทศนี้แล้วก็ทำให้คิดได้อีกว่าถ้าประเทศไทยทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วเราวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯจะยอมหรือไม่เพราะว่าสหรัฐฯก็มีอาวุธนิวเคลียร์หรือประเทศมหาอำนาจทั้งหลายล้วนก็มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง แล้วจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าถ้าประเทศมหาอำนาจเกิดหน้ามืดขึ้นว่าอยากจะยึดประเทศเราแล้วเราจะเอาอะไรต่อสู้

สงสัยงานนี้สหรัฐกับจีนเอาจริง

“ความร่วมมือสหรัฐกับจีนต้านภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ”

http://www.chanchaivision.com/2013/03/unandnorthkorea130308.html


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท