ผลกระทบที่เกิดจากการยิงจรวดและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์สองครั้งของเกาหลีเหนือ


 

 

ผลกระทบที่เกิดจากการยิงจรวดและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์สองครั้งของเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือได้ทำการยิงจรวด (Long-range Rocket, the Unha)  อันเป็นความพยายามที่ล้มเหลวในการทดลองปล่อยดาวเทียมสื่อสารเข้าสู่วงโคจร เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๙ ท่ามกลางแรงกดดันของนานาชาติและเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ ๑๗๑๘  เกาหลีเหนืออ้างว่า การยิงจรวดดังกล่าวสามารถปล่อยดาวเทียมสื่อสารเข้าสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ  แต่สหรัฐฯ  ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ยืนยันว่า การยิงจรวดดังกล่าวนั้น เกาหลีเหนือจัดฉากเพื่อทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป และชุมชนระหว่างประเทศมีปฏิกิริยาทางลบกับการยิงจรวดของเกาหลีเหนือ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเกาหลีเหนือที่ละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ ๑๗๑๘  โดยระบุว่า การยิงจรวดของเกาหลีเหนือเป็นการฝ่าฝืนมติขององค์การสหประชาชาติ ที่ห้ามเกาหลีเหนือพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธ พร้อมกับเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการทดลองยิงขีปนาวุธ และเตือนว่าจะขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ  ส่งผลให้เกาหลีเหนือแสดงความไม่พอใจ และออกแถลงการณ์ตอบโต้ซึ่งระบุว่าเกาหลีเหนือไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเสริมสร้างอำนาจกำลังรบด้านอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากกองกำลังของศัตรู พร้อมทั้งประกาศถอนตัวออกจากการเจรจา ๖ ฝ่าย เพื่อเป็นการตอบโต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์ประณามเกาหลีเหนือ ที่ทำการปล่อยจรวด เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๙  โดยในแถลงการณ์ที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือระบุว่า เกาหลีเหนือจะไม่เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าวอีกต่อไป และประกาศว่าจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องโรงงานผลิตพลูโตเนียมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ยองเบียนอีกครั้ง หลังจากที่ได้ระงับโครงการตามข้อตกลงในการเจรจา ๖ ฝ่าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๐๗

เกาหลีเหนือได้ดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๙  กดดันให้เกาหลีใต้ เข้าร่วมซ้อมรบกับกลุ่มกองทัพนานาชาติในโครงการจำกัดการแพร่กระจายอาวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรง (Proliferation Security Initiative, PSI)  ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้จะพยายามลดการเผชิญหน้ามาโดยตลอด

เพียง ๒ วัน หลังจากที่กองทัพเกาหลีใต้เข้าร่วมฝึกซ้อมทางทะเลในเขตเมืองปูซาน ร่วมกับกลุ่มประเทศในโครงการจำกัดการแพร่กระจายอาวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรง (Proliferation Security Initiative, PSI)  ทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีขึ้นมาทันที เกาหลีเหนือประกาศยกเลิกข้อตกลงหยุดยิง (Armistice Agreement) ที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๕๓  พร้อมทั้งเตือนว่า เกาหลีเหนือจะตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ หากเรือของเกาหลีเหนือถูกปิดล้อมโดยกองกำลังนานาชาติ แม้เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ จะออกมาระบุว่าการซ้อมรบในครั้งนี้ไม่มีเป้าหมายเป็นพิเศษต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่นายคาร์ล เบคเค่อร์ (Carl Baker)  ผู้อำนวยการกลุ่มศึกษาภาคพื้นแปซิฟิค จากสถาบันวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ บอกว่า มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่เกาหลีใต้คิดไว้อยู่ในใจ  นักวิชาการด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ประเทศในภาคพื้นแปซิฟิคบอกว่า เป็นที่รู้กันว่าในกรณีนี้ เกาหลีใต้พุ่งเป้าและส่งข้อความไปถึงเกาหลีเหนือ และเห็นได้ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือคือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายอาวุธร้ายแรง  เกาหลีเหนือออกมากล่าวหาเกาหลีใต้ว่า เป็นฝ่ายละเมิดการข้อตกลงเจรจาหยุดยิงเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) เพราะการเข้าร่วมกับโครงการจำกัดการแพร่กระจายอาวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรง (PSI) ของเกาหลีใต้เท่ากับเป็นการปิดกั้นเส้นทางเดินเรือทางทะเล  นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังประกาศกร้าวว่า นี่เท่ากับเป็นการประกาศสงคราม  กองทัพเกาหลีใต้ส่งเรือกวาดทุ่นระเบิด ๒ ลำ เรือยกพลขึ้นบกและเรือดำน้ำ ๔ ลำ เข้าร่วมฝึกซ้อมเป็นครั้งแรก ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในโครงการ PSI ในน่านน้ำเกาหลีใต้ ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดจรวดนำวิถี เช่นเดียวกับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และกองทัพเรือออสเตรเลีย ก็ส่งเรือรบและเครื่องบินเข้ามามีร่วมปฏิบัติการซ้อมรบผสม อีกทั้งยังมีหลายประเทศที่เข้าไปร่วมสังเกตการการฝึกซ้อม

ในแรกเริ่มนั้น เกาหลีใต้ไม่เต็มใจนักที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการ PSI  ที่ก่อตั้งเมื่อ ๗ ปีก่อน เพราะนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการมีบทบาทใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือมากขึ้นตามแผนการรวมชาติ  อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในเกือบ ๑๐๐ ประเทศที่เข้าร่วมอย่างเต็มตัว หลังจากเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๙  ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในอดีตนั้น เกาหลีเหนือมีบทบาททั้งซื้อและขายอาวุธมาตลอด 

เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ.๒๐๑๐  เกาหลีเหนือยิงตอร์ปิโดจมเรือคอร์เวต, ชอนอาน ระวางขับน้ำ ๑,๒๐๐ ตัน ทำให้ทหารเรือเกาหลีใต้เสียชีวิต ๔๖ นาย นำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมซ้อมรบกับพันธมิตรสหรัฐฯ  ซึ่งทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่พอใจ และเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๐  เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่ประมาณ ๕๐ นับ ถล่มเกาะยอนเปียงของเกาหลีใต้ เพลิงลุกไหม้อาคารบ้านเรือนหลายแห่ง เกิดการปะทะและยิงโต้ตอบกัน ทหารนาวิกโยธินซึ่งประจำการอยู่บนเกาะดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ ๔ นาย และพลเรือนได้รับบาดเจ็บ ๒ คน  รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งการให้กองทัพเตรียมพร้อมเต็มกำลัง

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ 

 

หมายเลขบันทึก: 449297เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การที่เกาหลีเหนือ..ทำการยิงจรวด (Long-range Rocket, the Unha)นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือได้ทำการละเมิดมติคณะความมั่นคงของสหประชาชาติ..ทั้งนี้เกาหลีเหนือได้ชี้ถึงเจตนาและวัตถุประสงค์เพื่อกดดันเกาหลีใต้อย่างเห็นได้ชัด..แสดงถึงการคุกคาม..เกาหลีใต้อย่างชัดเจนทั้งยังมีการยิงตอร์ปิโดจมเรือคอร์เวต, ชอนอาน ระวางขับน้ำ ๑,๒๐๐ ตัน ทำให้ทหารเรือเกาหลีใต้เสียชีวิต ๔๖ นาย ดังนั้นกระผมเห้นด้วยอย่างยิ่ง..ที่เกาหลีใต้ตัดสินใจในการซ้อมรบกับสหประชาชาติ..เพื่อแสดงให้เห็นถึงสักยภาพของเกาหลีใต้..และความพร้อมรบ..เพราะการยิงจรดคราวนี้ของเกาหลีใต้ผมคิดว่าน่าจะมีอะไรแอบแฝงอย่างแน่นอน...

การที่เกาหลีเหนือได้ทำการซ้อมยิงขีปนาวุธนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่การที่ผิดคือเกาหลีเหนือได้มีการละเมิดสนธิสัญญาที่มีต่อเกาหลีใต้ข้อตกลงเจรจาหยุดยิงเมื่อในปี ค.ศ 1953 หรือ พ.ศ.2496 โดยอ้างเหตุผลเพียงแค่ว่าเกาหลีใต้ละเมิดข้อสัญญา เพียงเพราะเกลาหลีใต้นั้นได้ร่วมการซ้อมรบกับประเทศพันธมิตรแค่นั้นเอง ทำให้เกาหลีเหนือกลัวว่าเกาหลีใต้จะอาศัยในช่วงซ้อมรบนี้ยิงประเทศตนเกากลีเหนือจึงได้ทำการเปิดฉากยิงก่อนทำให้เกาหลีใต้ได้รับความเสียหายและประเทศพันธมิตรได้รับความเสียตามไปด้วย ดังนั้นไม่ผิดหรอกที่เกาหลีใต้จะเตรียมตัวเต็มอัตราศึกที่จะรับมือเกาหลีเหนือ จากข้อความที่ ดร.จักษวัชร ศิริวรรณ ได้โพสตไว้ในข้างต้นนั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมเห็นด้วยกับที่ท่านพูด

ผมคิดว่าการที่เกหลีเหนือ..ทำก่รยิงจรวจนั้ีนเป็นการขัดคำสั่งของมติสหประชาชาติอย่างจงใจ..เพื่อที่จะกดดันเกาหลีใต้..ซึ่งอาจเกี่ยวกับเขตแดนระหว่างสองประเทศ..แล้วเกาหลีเหนือยังยิงเรือรบเกาหลีใต้อีก..เพื่อแสดงศักยภาพด้านทหารเป็นการข่มขวัญเกาหลีใต้..อย่างเห็นได้ชัด..การที่เกาหลีใต้ร่วมซ้อมรบกับสหประชาชาตินั้นถือเปงการแสดงถึงสักยภาพทางการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเปงการกดดันเกาหลีเหนือไม่ให้ทำการอันเกินเลยลุกล้ำทำสงครามกับเกาหลีใต้อีกด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท