ระวังการผูกขาดองค์กร!


"ช่วยกันรู้ ช่วยกันชี้ ช่วยกันทำ"

    ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีของการรับราชการ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะได้พบทั้งความสุข ความเศร้า ความเซ็ง ความตื่นเต้น ความหดหู่ และอีกหลากหลายๆอารมณ์  อาจจะพูดแบบชาวบ้านได้ว่า ได้พบทั้งสิ่งที่ดีสุดๆ ดีปานกลาง และ เลวสุดๆ  แต่ทั้งหมดนั้นสอนให้เราได้เกิดการเรียนรู้ กล่าวคือ เมื่อเจอ "สิ่งดีๆ"  ก็จะทำให้เราเรียนรู้ถึงความสุข ได้เรียนรู้ถึงแนวทางดีๆของสิ่งที่เราเจอ ได้รู้จักจดจำสิ่งดีๆแล้วนำเอามาเป็นแบบอย่าง เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  เมื่อเจอสิ่งที่ขอเรียกแบบสามัญชนว่า "งี่เง่า" ซึ่งมีมากกว่า "สิ่งดี" และผ่านมาในชีวิตของเราบ่อยเสียด้วย ก็จะทำให้เราเรียนรู้ สิ่ง"งี่เง่า" นั้นๆ ว่ามันทำลายความรู้สึก ทำลายคนรอบข้าง ทำลายความก้าวหน้า ทำลายมิตรภาพ ได้อย่างไร และเราก็ได้บทเรีบนจาก "งี่เง่า"นี้เอง โดยนำมาช่วยในการคิดพิจารณาตามแนวพระพุทธองค์ที่ว่า "ศีล สมาธิ ปัญญา" เมื่อนำมาคิดพิจารณา เราก็จะพบว่า "งี่เง่า" ก็มีประโยชน์ในแง่ที่ว่า เป็นเครื่องเตือนใจให้เราหลีกหนีมัน เป็นเครื่องเตือใจเราว่า อย่าทำสิ่ง "งี่เง่า" ที่ว่านั้น เห็นไหมครับว่า หากเรายึดแนวทาง"ศีล สมาธิ ปัญญา" ททุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิต ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ได้ทั้งสิ้น เมื่อเห็นว่ามันมีประโยชน์ มันมีคุณค่า ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดต่อไปนี้เพื่อเป็นรัตนประดับปัญญาแก่ทุกท่านสักหน่อยนะครับ

     แนวคิดที่ขอนำเสนอเป็นบารมีแห่งปัญญาในครั้งนี้ขอใช้ข้อความว่า"โปรดระวังการผูกขาดองค์กร" ทีต้องนำมาเสนอกันก็เพราะได้พบเจอในชีวิตจริงมาไงครับ และเป็นแนวคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพกันเลยทีเดียว เหตุเพราะ "ความอยาก" หรือเรียกแบบที่ผมเข้าใจเอาเอง ว่า "ภวตัณหา และ วิภวตัณหา" อธิบายง่าย ก็คือ อยากมี อยากได้ อยากเป็น อยากเอา นั่นเอง

     เจ้าความอยากนี้เองที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หากเป็นช่วงวัยแรกๆของชีวิตก็คงไม่เสียหายอะไรมากนัก แต่หากเป็นวัยที่สูงๆขึ้น โอ๊ยๆๆๆๆๆๆๆๆๆปัญหาต่างๆ มันตามมามิได้ขาดเลยครับ และที่แย่ที่สุดคือ มันดันไปสร้างความลำบาก รำคาญ และเสียหายให้ผู้อื่น หรือเรียกง่ายๆ ว่า สังคมนันเอง

     หากเจ้าความอยากนี้ระบาดเข้าสู่องค์กรด้วยแล้ว รับรองได้เลยว่า "ความวุ่นวาย" คือสิ่งที่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เลย เหตุเพราะ........

     องค์กร เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลจนเกิดกลุ่มก้อนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินภาระกิจร่วมกันให้ก้าวไปสู่เป้าหมาย ไปสู่ความสำเร็จ ไปสู่การพัฒนาสถาวร โดยเหตุนี้เององค์กรจึงมีแนวทาง มีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมาย มีภาระกิจ  ที่กำหนดไว้อย่างกว้างๆ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร  และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมี "กลุ่มบุคคล" ที่จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปได้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น

     "กลุ่มบุคคล" ที่ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะภาระกิจของค์องกรนั้นมีมากมายและต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันออกไป และเป็นความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับภาระกิจนั้นๆ หรือที่เรียกว่า ตรงกับภาระกิจนั้นๆ

     "กลุ่มบุคคล" ที่มาร่วมกันขับคลื่อนองค์กรจำต้องมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมาย จำต้องแสดงบทบาทและหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนอย่าไดขาดอย่าได้เกิน ทั้งหน้าที่และบทบาทแต่เพียงอย่างเดียวมิอาจขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างสมบูรณ์เหตุเพราะ "กลุ่มบุคคล" มีลักษณะพิเศษตรงที่กลุ่มบุคคลล้วน "มีชีวิต มีความคิด มีอารมณ์ มีความอยาก" การที่จะอำนวยให้ "กลุ่มบุคคล" ทำหน้าที่ แสดงบทบาทได้อย่างครบถ้วนมิได้ขาดมิได้เกิน จำต้องมีสิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นตัวควบคุม ก็คือ "สำนึก"

     "สำนึก" มีทั้ง ดีและไม่ดี "กลุ่มบุคคล" จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญาของตนเองที่มีอยู่เหมือนๆกัน มาเป็นตัวพิจารณาให้รู้ว่า อย่างใด ดีและไม่ดี อย่างใดดีก็เอามาเป็นแบบอย่างเพื่อใช้งาน อย่างใดไม่ดีก็เอามาเป็นแบบอย่างเพื่อไม่นำไปใช้งาน เพียงแค่นี้องค์กรก็จะเดินไปอย่างสงบสุข ไม่เกิดการแก่งแย่งชิงดีกัน ไม่เกิดการบาดหมางกัน เพระต่าง "รู้สำนึก" ว่าอะไร ดี ไม่ได้ อะไรชอบ ไม่ชอบ อะไรควร ไม่ควร

     แต่ที่ผมเจอะเจอมาและมีปริมาณมากกว่า คือ "การขาดสำนึก" มักเข้าใจไปว่า ฉันเก่งกว่า ฉันรู้กว่า ฉันถูกกว่า จนเกิด "การผูกขาด" ในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ "กลุ่มบุคคล" คือ ผูกขาดที่จะแสดงความคิดเห็น ผูกขาดที่จะคิด ผูกขาดที่จะนำเสนอแนวทาง(ตามที่ตนเองเชื่อ) ผูกขาดที่จะคิดว่าของตนเองดีที่สุด ผูกขาดที่จะเลือกเฉพาะสิ่งที่ตนเองพอใจโดยปราศจากเหตุผล นับว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างมาก และยังตรงกับคำกล่าวว่า "ผูกขาดองค์กร" ผมเคยได้ยินคำพูดที่น่าจดจำอย่างมาก คือ "อย่าผูกขาดความรักองค์กรไว้เพียงคนเดียว"

     ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ไม่มีใครเหนือคนอื่นทุกคน ไม่มีใครทำอะไรได้เพียงลำพัง ไม่มีใครขับเคลื่อนองค์กรได้เพียงลำพัง หากทุกคนในองค์กรหันหน้าเข้าหากัน ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน มีความจริงใจและพร้อมนำความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นมาสร้างนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ผมเชื่อเหลือเกินว่าองค์กรนั้นจะก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด ความสุขและรอยยิ้มก็จะแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าในองค์กร

     แต่ปัญหาขององค์กรจำนวนมากในขณะนี้ยังคงเนื่องมาจาก การไม่รู้จักหน้าที่ ไม่แสดงบทบาทของตนเองให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่มี"สำนึก"  จึงเกิด "การผูกขาดองค์กร" เกิดช่องว่างใน "กลุ่มบุคคล"

     เจ้านายก็หลงบ้าคลั่งอำนาจ หลงเชื่อว่าตนเองเก่งที่สุด(จนหลงลืมไปว่าก้าวขึ้นมาอย่างสง่างามหรือปราศจากศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์) หลงลืมไปว่าตนเองก็มีค่าแห่งความเป็นคนเท่ากับคนอื่น

     ลูกน้องก็หลงบทบาท หลงระเริงกับหน้าที่ความรับผิดชอบมากเกิน จนเล่นไม่ถูกบท และเล่นเกินบทบาทที่ควรจะเป็น หลงระเริงกับการแสวงหาลาภยศสรรเสริญด้วยการสร้างนิสัยลืมตัวตนให้กับเจ้านาย

     สิ่งที่ตามมาและพบมากพบบ่อยในองค์กร(โดยเฉพาะหน่วยราชการ) คือ ความวุ่นวาย การแก่งแย่งชิงดี การล้างแค้น การแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งล้วนเป็นเสมือนมะเร็งร้ายกัดกิน บ่อนทำลายองค์กรอย่างไม่มีวันเยียวยารักษาได้เลย หากแต่ทำได้เพียงแอบปกปิดเอาไว้ไม่ให้ใครทราบ ด้วยการ "สร้างภาพ" ในที่สุด

     ขอเรียกร้อง "กลุ่มบุคคล" ทัง กลุ่มเจ้านาย และ กลุ่มลูกน้อง ขอจงหยุด "การ ผูกขาดองค์กร" และจงหันหน้าเขาหากันอย่างกัลยาณมิตร อย่างเห็นอกเห็นใจกัน มาร่วมกันสานฝันภาระกิจใหองค์กรให้ก้าวสู่ควาสำเร็จ โดยปราศจากการเอาเปรียบกันเสียที มาร่วมกันกำจัด"ไม่ร้ ไม่ชี้/ ไม่รู้ แล้วชี้/ รู้ แต่ไม่ชี้/ รู้ แล้วชี้ ออกไปจากองค์กร แล้วนำสิ่งดีที่ว่า "ร่วมกันรู้ ร่วมกันชี้ ช่วยกันทำ" มาใช้งานและขอน้อมนำคำสอนพระบรมศาสดามาสู่ทุกท่าน กล่าวคือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" อันจะเป็นพื้นฐานนำความสำเร็จมาสู่องค์กรที่ทุกคนรักเหมือนๆกันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 449178เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท