"แบ่งยากันใช้" ก็อันตรายได้นะคะ


          สวัสดีค่ะ งานเข้ามากมายอีกแล้วหนึ่งเลยไม่ค่อยได้มาเขียนบันทึกเท่าไหร่ สำหรับวันนี้โอกาสวันหยุดยาว หนึ่งเลยขอนำเรื่องราวที่พบและหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และทุกๆท่านไม่มากก็น้อยนะคะ
          เรื่องมีอยู่ว่าช่วงนี้คนไข้ที่มาฉายแสงแบบไปกลับที่ศูนย์มะเร็งอุดรธานีของเรานั้น ส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด (๙จังหวัดอีสานเหนือ ในเขตรับผิดชอบของเราค่ะ) ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงหาที่พักใกล้ๆกับศูนย์มะเร็งฯ และโดยมากแล้วก็จะไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เหตุเกิดจากจุดนี้ค่ะ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมะเรงเต้านมระหว่างฉายแสงแบบไป-กลับรายนึงเดินมาหาที่เคาท์เตอร์ ยกมือให้ดู และบอกว่าคันมาก สังเกตดูแล้วพบว่ามือทั้งสองข้างของผู้ป่วยมีลักษณะบวม แดง และที่หน้า ที่ปากก็มีลักษณะเช่นเดียวกันด้วยค่ะ จากการซักถามได้ข้อมูลมาว่าผู้ป่วยรายนี้มีแผลในบริเวณฉายแสงเป็นแผลถลอก และแฉะๆ คล้ายน้ำร้อนลวก แผลขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพิ่งมีแผลเมื่อคืนวันศุกร์ จึงไม่ได้แจ้งพยาบาลหรือแพทย์ทราบ กะว่าจะมาแจ้งวันจันทร์ ระหว่างช่วงวันหยุด ในบ้านที่ผู้ป่วยรายนี้เช่าอยู่นั้นก็มีผู้ป่วยอีกรายที่เป็นมะเร็งเต้านมและมาฉายแสงเช่นกัน ผู้ป่วยรายนี้เคยมีแผลแฉะลักษณะแบบเดียวกันนี้มาก่อน และรังสีแพทย์ได้สั่งยาแก้อักเสบให้ ตอนนี้ดีขึ้น แผลแห้งแล้ว (แต่ยายังมีเหลืออยู่) ผู้ป่วยรายที่เคยเป็นแผลมาก่อนเห็นว่าเป็นแผลลักษณะเดียวกันคิดว่ายาที่เคยทานน่าจะช่วยได้ ด้วยความหวังดีกับเพื่อน จึงแบ่งยาที่ตัวเองเคยทานแล้วแผลหายเร็วให้ไป ๒ เม็ด ผู้ป่วยรายนี้จึงทานยาที่เพื่อนแบ่งให้ ผลปรากฏว่าหลังทานยาเข้าไปก็มีอาการผิดปกติแบบที่มาแจ้งพยาบาลนี่ล่ะค่ะ
          อาการดังกล่าวคืออาการแพ้ยานั่นเองค่ะ หลังจากสืบสาวราวเรื่องเรียบร้อยพบว่าผู้ป่วยรายนี้แพ้ยา bactrim เมื่อได้รับการรักษาอาการแพ้ยาเรียบร้อย จึงส่งผู้ป่วยไปทำบัตรแพ้ยากับเภสัชกร 
สำหรับเรื่องราวของผู้ป่วยรายนี้
  • โชคดีมากที่อาการแพ้ยาไม่รุนแรงมาก และผู้ป่วยรายนี้หยุดทานยามื้อต่อไปทันที
  • บุคคลทุกคนย่อมมีความแตกต่างกัน การแบ่งยากันทานเองโดยไม่ได้ตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด อาจส่งผลเสียขึ้นได้โดยไม่เจตนา
  • การแบ่งยากันใช้ มีอยู่ในสังคมไทยแทบทุกหนแห่ง (แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็เช่นกัน)
  • เรื่องของการแพ้ยา ทุกคนควรเรียนรู้อาการเบื้องต้น และวิธีปฏิบัติหากเกิดอาการที่น่าสงสัย
  • ควรนำมาทบทวนและหาแนวทางป้องกันต่อไป
ขอขอบคุณ
  • ผู้ป่วยทั้งสองท่านที่อนุญาตให้นำเรื่องราวมาแบ่งปัน เป็นอุทาหรณ์
  • ทุกท่านที่เข้ามาอ่านเรื่องราว ทักทาย และร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะ และทุกๆความคิดเห็นค่ะ
หมายเลขบันทึก: 449108เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณหนึ่งไม่ลองเสนอไปทางห้องจ่ายยาละครับว่าให้พิมพ์หลังซองยาดังนี้

คำเตือน

ห้ามใช้ยานี้กับผู้อื่น นอกจากแพทย์สั่ง

อาจเกิดอันตรายจากการแพ้ยาได้

และเวลาจ่ายยาให้คนไข้ให้เภสัชพลิกให้ดูคำเตือนและพูดให้ฟังด้วย เพราะคนไข้บางรายอาจจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

สวัสดีค่ะคุณทนายเบิ้ม

น่าจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยเตือนผู้ป่วยได้นะคะ ขอบคุณค่ะ ^^

สวัสดีครับคุณหนึ่ง คนข้างบนเขาแสดงความคิดเห็นไปแล้ว แต่ผมจะรบกวนสอบถามว่า คุณพ่อผมไปตรวจที่ รพ. แพทย์ว่ามีความดัน ได้จ่ายยาลดความดันให้ ให้ทานวันละ 2 เม็ดเช้าเย็น ปรากฏว่าหลังทานยาทุกครั้งจะมีอาการเวียนหัวจนยืนไม่ได้ ต้องนอนพักอยู่ 2-3 ชม.จึงหาย ผมให้ทานยาอยู่ 3 วันเป็นแบบนี้ทุกวัน จนวันที่ 4 ผมจึงโทรถามเภสัชที่จ่ายยา ว่าคุณพ่อผมมีอาการแบบนี้จะหยุดยาได้ไหม เภสัชว่าให้ลองหยุดยาดู ผมก็หยุดให้ทานยา ปรากฏว่าปกติดีไม่เวียนหัว แบบนี้เขาเรียกว่าแพ้ยาหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นอาการแพ้ยาแต่จำต้องทานยาลดความดัน ก็ต้องเปลี่ยนยาตัวใหม่หรือเปล่าครับ และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอาการที่น่าสงสัยต้องทำอย่างไรครับ (ผมใช้วิธีโทรถามเภสัช) ขอบคุณครับคุณหนึ่ง อันนี้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแต่เป็นการถาม ไม่ทราบได้ป่าวคับ

สวัสดีค่ะคุณทนายเบิ้ม

สำหรับคำถามนี้เนื่องจากยาความดันมีหลายกลุ่มหลายชนิดมาก ไม่แน่ใจว่าคุณพ่อของคุณทนายเบิ้มทานยาตัวไหนอยู่ค่ะ

  • เบื้องต้นหนึ่งสอบถามข้อมูลจากเภสัช(น้องสาม)ได้ความว่า อาการเวียนหัวที่เกิดทุกครั้งหลังทานยานั้นไม่น่าจะเป็นอาการแพ้ยา แต่น่าจะเป็นผลข้างเคียงทางยามากกว่าค่ะ
  • โดยมากยาลดความดันจะทำให้เกิดภาวะ hypotention ความดันต่ำ ซึ่งจะมีอาการเวียนหัว หน้ามืด อะไรประมาณนี้ค่ะ หากมีอาการแบบนี้หลังกินยาความดัน
  • วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือ เวลาจะเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง หรือยืน เดิน ต้องระวังค่อยเป็นค่อยไป
  • หากไม่ไหว รู้สึกไม่สบาย อาการเหล่านี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนยาต่อไปค่ะ
  • หากหยุดยาไปเลย ก็อาจไม่สามารถควบคุมความดันได้ค่ะ  

ปล.หากมีอาการผิดปกติจากการใช้ยา เบื้องต้นคือหยุดทานยาตัวนั้นแล้วโทรปรึกษาบุคลากรสุขภาพ บอกอาการที่เกิดขึ้นและชื่อยาที่ทาน(เพื่อพิจารณาว่าควรรีบมาพบแพทย์ทันทีหรืออาจให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเบื้องต้นและมาพบแพทย์ในเช้าวันถัดมา)

สวัสดีครับคุณหนึ่ง

1. ยาที่คุณพ่อผมทานคือ enaril ( 5 mg. ) คับ

2. เคยปรึกษาแพทย์ แพทย์บอกงั้นไม่ต้องทานก็ได้และไม่จ่ายยาให้ทานอีก แต่คุณพ่อผมเมื่อไม่ได้ทานยาก็ปกดี ถ้าความดัน

ต่ำจะเวียนหัว หน้ามืด ถ้าไม่ได้ทานยาเกิดความดันสูงขึ้นมาจะมีอาการยังไงหรือคับ

3. น้องสามเป็นเภสัชหรือคับ อยู่ที่เดียวกับคุณหนึ่งหรือเปล่าคับ ถ้าอยู่ที่เดียวกันก็ดีนะคับ เวลามาทำงานและกลับบ้านจะได้เป็น

เพื่อนกัน ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกันรีบชวนมานะคับ สภาพสังคมเดี๋ยวนี้ผู้หญิงไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ค่อยจะปลอดภัยนะคับ

4. คุณหนึ่งนอนดึกทุกคืนหรือคับ เมื่อคืนมาตอบให้ผมเมื่อ 23.38 น. ระวังสุขภาพนะคับ ยิ่งผอมๆอยู่ด้วย พักผ่อนไม่เพียงพอ

เดี๋ยวกลางวันเวลาทำงานจะวูบเอาได้ คำถามของผมไว้ตอบตอนว่างๆก็ได้คับ ผมไม่รีบ เดี๋ยวจะกลายเป็นรบกวนเวลาพักผ่อ

นของคุณหนึ่งเปล่าๆ

ปล. อย่าลืมนะคับ ถ้าน้องสามทำอยู่ที่อื่น ให้ชวนมาอยู่ที่เดียวกันนะคับ จะได้เป็นเพื่อนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท