พระพุทธเจ้า ไม่เคยหลงทาง


พระพุทธเจ้า ไม่เคยหลงทาง

"หลงทางเสียเวลา  หลงติดยาเสียอนาคต"

เป็นความจริงตามคำคมนี้  ในความหมายทั้งสองด้าน  การเดินทางหากว่าเราหลงแล้ว ย่อมจะทำให้ระยะทางยาวไกลไปกว่าเดิม  หรือ  ถึงจุดหมายปลายทางได้ล่าช้ามากขึ้น  เช่นคนหลงทางในป่าใหญ่ บางทีอาจจะต้องนำชีวิตไปทิ้งในป่านั้นก็ได้  เพราะหลงทางนี่แหละ  ส่วนหลงติดยานั้นก็ชัดเจนในความหมายอยู่แล้ว

       กลับมาดูทางพุทธบ้างว่า  พระพุทธเจ้าของเราท่านทั้งหลายนั้น  ทรงเดินเท้าไปแสดงธรรมที่หลายที่หลายแห่ง  ทั้งที่ทรงรู้จักทางที่จะเสด็จไปบ้าง  ไม่รู้จักบ้าง  อีกทั้งเข็มทิศก็ไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้  แล้วพระองค์เสด็จไปยังที่นั้นๆ ได้อย่างไร  หรือว่ามีใครเป็นคนบอกทางให้  เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราควรศึกษาอยู่เช่นกัน  ในส่วนบาลีทางแสดงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า  "พระองค์ไม่เคยหลงทาง"  ดังปรากฎในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ หน้า ๓๙  ว่า

     "โพธิมูเล  ทสสหสฺสีโลกธาตุง  กมฺเปตฺวา  สมฺโพธึ  ปตฺตทิวเสเยว  หิ  เนสํ  ฯเปฯ  สพฺเพ  มคฺคา  อาวิภูตา"

      แปลว่า  "หนทางทั้งหมด  ปรากฎแจ้งแล้ว  แก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์  ในวันที่พระองค์ ยังหมื่นแห่งโลกธาตุให้หวั่นไหวแล้ว บรรลุสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้โพธิ์แล้วนั่นเอง"

     เป็นที่น่าสังเกตว่า  ท่านใช้คำว่า  เนสํ  ซึ่งจะต้องเอานามที่เป็นพหุพจน์ (จำนวนมาก) ขึ้นมากล่าว  ฉะนั้น เนสํ  นี้ จึงได้ความหมายว่า พระพุทธเจ้าหลายพระองค์  ไม่จำเพาะแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เท่านั้น  แม้พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ  ก็เป็นลักษณะเดียวกัน

       อีกที่หนึ่งปรากฎว่า  "พุทฺธานญฺจ  มคฺคเทสเกน  กิจฺจํ  นาม นตฺถิ"  แปลว่า  ชื่อว่า  กิจด้วยผู้แสดงหนทาง  สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องมี

       คำว่า "ผู้แสดงหนทาง  (มคฺคเทสเกน)"  หมายถึง ผู้นำทาง  ทางก็คือ ทางเดิน เส้นทางทั่วไป  ที่ไม่มีนัยลึกซึ้งลงไป  เป็นคำแปลตรงตัว

        คำว่า  "หนทาง"  ท่านให้ขยายเพิ่มเติมนอกจากทางธรรมดาแล้ว  ยังหมายถึงทางไปนรก  ทางไปสวรรค์  ทางไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทางมาเกิดเป็นมนุษย์  ทางไปเกิดเป็นเปรต  ทางไปนิพพาน  (อยํ  มคฺโค  นิรยํ   คจฺฉติ,  อยํ  ติรจฺฉานโยนึ,  อยํ  เปตฺติวิสยํ,  อยํ  มนุสฺสโลกํ,  อยํ  เทวโลกํ,  อยํ  อมตมหานิพฺพานํ)

   ดังนั้น  ทุกเส้นทางทั้งหมด  ปรากฎแก่พระองค์  ในวันที่ตรัสรู้แล้วนั่นเอง

       ในเรื่องนี้ มีเรื่องเล่าประกอบตัวอย่างโดยย่อดังนี้  มีอุบาสิกานางหนึ่ง ได้อุปถัมภ์อาชีวกท่านหนึ่ง  ปานประหนึ่งว่าลูกชายตัวเอง ต่อมาได้ยินข่าวจากเพื่อนบ้านว่า  พระพุทธองค์แสดงธรรมได้อัศจรรย์ยิ่ง  จึงอยากจะฟังธรรมจากพระองค์ แต่ถูกอาชีวกห้าม  ก็ไม่ขัดขืนคำห้าม  และได้ขออนุญาตอีก ๒ ครั้ง แต่ยังถูกห้ามเหมือนเดิม  จึงตัดสินใจนิมนต์พระพุทธองค์มาฉันที่บ้านเลย โดยไม่ได้บอกแก่อาชีวกแต่ประการใดทั้งสิ้น  รู้กันสองคนกับลูกชาย 

        ฝ่ายลูกชาย  เมื่อจะไปนิมนต์พระ  ก็ผ่านมาเจอกับอาชีวก ถูกซักไซร้ไล่เลียงจนยอมบอกทุกอย่างให้ และวางแผนจะกินของที่เตรียมถวายพระเสียเอง  โดยวางแผนว่า  ถ้าไปนิมนต์แล้ว ไม่ต้องบอกรายละเอียดถึงแผนที่มาที่บ้าน  รีบออกจากกุฏีทันที  พอตกรุ่งเช้า  ปรากฎว่า  พระพุทธองค์เสด็จตรงมายังบ้านของโยมอุบาสิกาได้โดยไม่ต้องมีใครมานำทาง  เพราะเหตุผลเดียวก็คือ "เส้นทางทุกเส้นปรากฎชัดแล้ว  ตั้งแต่วันที่ตรัสรู้แล้ว"

        นี่แหละจึงเป็นที่มา  ของคำว่า  "พระพุทธเจ้า ไม่หลงทาง"

หมายเลขบันทึก: 449077เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 04:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท