จปฐ.สำรวจทำไม ไม่มีประโยชน์ เสียเงินเปล่า


จปฐ.คือ ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย จัดเก็บข้อมูลทุกปี

                   ยามเย็นตะวันลับฟ้า  วงเสวนายังไม่เลิก  คำถามที่สะดุดความรู้สึกในฐานะคนพัฒนาชุมชน กระตุ้นต่อมประสาทให้หาคำตอบที่ดีที่สุด ที่คอการเมืองพึงเข้าใจได้ จากคำถาม “จปฐ.สำรวจไปทำไม  ไม่เห็นมีประโยชน์ เสียเงินเปล่า”  ผมตอบว่า “จปฐ.เป็นหนึ่งเดียวในโลก”  ที่สามารถสำรวจเรื่องคุณภาพชีวิตของคนครอบคลุมคนทั่วประเทศทุกปี  ไม่มีประเทศใดในโลกทำได้  และทำสำเร็จ เหมือนกับประเทศไทย  และเป็นการสำรวจที่ผู้สำรวจเป็นผู้นำชุมชน  เสียสละเวลาสำรวจข้อมูล  โดยมีค่าตอบแทนการทำงานน้อยที่สุดในโลก  จปฐ.จึงเป็นที่สุดของโลก  เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2533

                   ส่วนประเด็น จปฐ.ไม่มีประโยชน์นั้นไม่จริง  ถ้าเข้าใจประโยชน์จะยิ่งใหญ่  บ่งชี้สภาพชีวิตของครัวเรือน  หมู่บ้าน  และตำบลได้อย่างดียิ่งทั่วประเทศ  สุข ทุกข์ มีปัญหา ในปัจจุบัน  และบ่งชี้ทิศทางในอนาคตได้  เอาเรื่องแรกก่อน  จำนวนครัวเรือน  จปฐ.ให้สำรวจครัวเรือนที่มีอยู่จริง  ทั้งมีเลขที่บ้าน  และไม่มีเลขที่บ้าน  ดังนั้น จปฐ.จึงไม่จำเป็นต้องตรงกับข้อมูลของกรมการปกครอง  ความต่างคือประโยชน์  เพราะจะทราบว่าครัวเรือนที่สร้างบ้านแล้วยังไม่ขอเลขบ้านมีมากน้อยเพียงใด คนในครัวเรือนกี่คนที่ยังไม่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่  คนเหล่านี้มาใช้ทรัพยากรในพื้นที่  ใช้ถนนในพื้นที่  สร้างมลภาวะในพื้นที่  แต่ไม่มีส่วนทำให้งบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ของ อปท.เพิ่มขึ้น  เพราะไม่มีชื่อตามทะเบียนของกรมการปกครอง  การจัดสรรงบประมาณจัดสรรตามจำนวนบุคคลที่อยู่จริงตามทะเบียน  เรื่องจำนวนครัวเรือนอย่างเดียวก็บ่งชี้สภาพปัญหาของหมู่บ้าน/ตำบลได้ เช่น หมู่บ้านหนึ่ง จปฐ. มี 40  ครัวเรือน  ทะเบียนราษฎร์  มี 20  ครัวเรือน  ความต่าง 20  ครัวเรือนคือสิ่งที่ต้องดำเนินการศึกษาข้อมูล และแก้ไข  เป็นใคร  เข้ามาอยู่อย่างไร  หรืออีกกรณีหนึ่ง  จปฐ. มี 60  ครัวเรือน  ทะเบียนราษฎร์  120  ครัวเรือน  แสดงว่า  60  ครัวเรือนคนไม่อยู่ในหมู่บ้าน  อพยพย้ายถิ่นหรือไม่  เพราะอะไร

                   เรื่องที่สอง  ข้อมูลประชากร  ซึ่งแบ่งตามช่วงอายุ  ข้อมูลประชากรเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนา  จำนวนคนตามช่วงอายุใน จปฐ. ใช้ประโยชน์ในการพัฒนา จึงเอาเฉพาะคนที่อยู่จริง  เพราะคนที่มีชื่อแต่ไปอยู่ที่อื่น ๆ เชิญมาเข้าร่วมการพัฒนาไม่ได้  ถึงได้ก็ยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง  จปฐ.จึงสำรวจเฉพาะคนที่อยู่จริงไม่น้อยกว่า 6  เดือน  ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับข้อมูลของกรมการปกครอง ยกตัวอย่างเช่น ในข้อมูลประชากรของ จปฐ.  มีเยาวชน  215  คน  ดูข้อมูลแล้วทำโครงการเกี่ยวกับเยาวชนได้ทันที  เพราะมีเยาวชนสำหรับการพัฒนาจำนวน  215  คน  แต่ปรากฎว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ เยาวชนที่อยู่จริงมีเพียง  12  คน ทีเหลือไปเรียนอยู่ต่างจังหวัดแต่ไม่ได้ย้ายไป  โครงการที่จะดำเนินการจึงต้องทำกับเยาวชนเพียง 12  คน  ซึ่งท่านจะเห็นความต่างระหว่างข้อมูล จปฐ.กับข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์  เพราะ จปฐ. คือข้อมูลเพื่อการพัฒนา

                   เรื่องที่สาม  ข้อมูลประชากรในภาพรวมบ่งชี้ทิศทางในการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน / ตำบล  อำเภอ  และจังหวัดได้   โดยนำข้อมูลมาเปรียบเทียบในแต่ละปี จะเห็นแนวโน้มของโครงสร้างประชากรในอนาคตของหมู่บ้าน/ตำบล เช่น  หมู่บ้าน/ตำบลหนึ่ง  มีประชากรที่อาศัยอยู่จริงตาม จปฐ.  มีประชากรวัย  60  ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นทุกปีโดยเปรียบเทียบ 3 ปีย้อนหลัง  และปัจจุบันมีมากกว่าคนวัยทำงาน  ทิศทางการวางแผนการพัฒนาก็ต้องเน้นเรื่องการพัฒนาคนวัยสูงอายุ  หรือเทียบกับข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ปรากฎว่า  ในข้อมูลทะเบียนราษฎร์คนวัยทำงานมีมากกว่าผู้สูงอายุ  จากการเทียบข้อมูลจะเห็นความต่างของข้อมูลที่บ่งชี้ว่า  คนวัยทำงานอพยพไปทำงานที่อื่น  ในหมู่บ้าน/ตำบลเหลือแต่ผู้สูงอายุ  กิจกรรมโครงการนอกจากเน้นที่ผู้สูงอายุแล้ว  ก็ต้องจัดทำโครงการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อป้องกันการอพยพไปทำงานที่อื่นอีกด้วย  ซึ่งข้อมูลทุกช่วงอายุนำมามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาได้  จปฐ.จึงแบ่งช่วงอายุตามช่วงวัยของการพัฒนา  เช่น ก่อนวัยเรียน   วัยเด็ก  วัยรุ่น  วัยทำงาน และวัยสูงอายุ  ซึงกิจกรรมการพัฒนาจะมีความแตกต่างกัน  และนำมาใช้ในการวางแผนการพัฒนาได้ทุกวัย  บนพื้นฐานความถูกต้องของข้อมูล  และความเข้าใจของผู้ใช้

                   เรื่องที่สี่  ข้อมูลตามเกณฑ์ จปฐ.  ปัจจุบัน  6  ด้าน  42  เรื่อง  คือ สิ่งที่คนไทยทุกคนต้องผ่าน  จึงจะมีความสุขกับการดำรงชีวิตขั้นต้น  ถ้าครัวเรือนใดยังไม่ผ่านแสดงว่า  การดำรงชีวิตของคนในครัวเรือนนั้นยังเดือดร้อน  ยังเป็นทุกข์  หรือ  คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของคนไทยยังไม่ผ่าน  กิจกรรมโครงการการพัฒนาจึงทำได้อีก  42  เรื่อง  เพื่อให้บรรลุขั้นพื้นฐาน  หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าขั้นพื้นฐานที่ จปฐ.กำหนดก็ได้  เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม  ข้อมูลที่ดีแล้วผลสำรวจว่าไม่ดี  สามารถพัฒนาให้ดีได้  แต่ข้อมูลที่ไม่ดีผลสำรวจบอกว่าดีแล้ว  จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข  ข้อมูล จปฐ.จึงต้องเป็นข้อมูลที่จริง  จึงจะพัฒนาได้ถูกต้อง  และใช้ชื่อว่า ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

                   เวทีเสวนาใกล้จะจบ  มีคำถามฟันธงคำถามหนึ่ง  ทีอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ยาก คือข้อมูลเรื่องรายได้ คือ “ จปฐ.คิดผิด  คนไม่มีรายได้ก็หาร  หากินเองได้ก็คิด”  และ เสนอแนะว่ารายได้ต้องหักค่าใช้จ่ายก่อน  และค่อยลงที่เหลือ  คนตอบก็งง  เพราะไม่ค่อยจะเข้าใจ  จึงตอบไปว่า  จปฐ.เรื่องรายได้มีสมมุติฐานที่ว่า  คนไทยต้องมีอาหารกินครบสามมื้อในหนึ่งวัน  คนไทยคนนั้นก็จะไม่เดือนร้อน  ไม่เป็นทุกข์  ถ้าไม่มีอาหารกินครบสามมื้อในหนึ่งวันจะไม่ผ่านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของคนไทย  โดยคิดจากราคาข้าวราดแกงมื้อละจานบวกกับขนมหวานอีกหนึ่งถ้วย  ในสมัยที่คิด จปฐ.ที่ใช้ในปัจจุบัน   ปี พ.ศ. 2549  และใช้สำรวจข้อมูลปี  2550-2554  ข้าวราดแกงจานละ  15-20  บาท ขนมหวานถ้วยละ  7-10  บาท  เอาขั้นต้นมาคิด  ข้าวราดแกง  1  จาน  15  บาท  ขนมหวาน  1  ถ้วย  7  บาท  รวมกันในหนึ่งมื้อเท่ากับ  22  บาท  หนึ่งวัน  3  มื้อเท่ากับ 66  บาท  คูณด้วย  365  วัน  ในหนึ่งปีคนหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารขั้นต้น  24,090  บาท  ลดให้นิดหนึ่งจึงกำหนดรายได้ที่  23,000 บาทต่อคนต่อปี  เมื่อคิดอย่างนี้จึงต้องคิดสิ่งที่หากินเองได้เป็นรายได้ด้วย  เด็กเกิดมาถึงก็ต้องหารเพราะเกิดเมื่อไหร่กินเมื่อนั้น    และอาจจะกินแพงกว่าคนวัยอื่น ๆ ด้วย  ถ้าจะคิดรายได้ใหม่ในปัจจุบันข้าวราดแกงจานละ  25-30  บาท  หนึ่งวันก็  75 บาท คูณด้วย  365 วัน  เท่ากับ  27,375  บาทต่อคนต่อปี  ไม่น้อยเหมือนกัน

                   ตอบเสร็จก็งง ๆ   ไม่รู้ว่าคนฟังจะเข้าใจหรือเปล่า  เพราะคนตอบคือคนพัฒนาชุมชน  คนฟังคือคนอื่นที่ทำ จปฐ.  เมื่อคนตอบไม่เข้าใจแล้ว  คนฟังจะเข้าใจได้อย่างไร  เมื่อคนทำไม่วิเคราะห์แล้ว  คนอื่นจะมาวิเคราะห์ทำไม  เมื่อคนทำไม่ใช้แล้ว  จะบอกให้คนอื่นใช้ได้อย่างไร  แต่ที่เล่ามาก็ยืนยันว่า  จปฐ.มีประโยชน์  สำรวจแล้ว  เสียเงินแล้ว  ใช้ได้หลากหลายเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต  การกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนา  รวมถึงประโยชน์ทางการเมืองก็ใช้ได้....ถ้าใช้เป็น

หมายเลขบันทึก: 448810เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2011 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ คุณธวัช

บันทึกเรื่องเล่าน่าสนใจมากนะค่ะ

และพอดีปรางเห็นคำสำคัญในบันทึกนี้ใส่เป็นประโยคยาวๆ ก็เลยอยากจะขออนุญาตแนะนำการใส่คำสำคัญนิดนึงค่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานระบบด้วยค่ะ

การใส่สำคัญนั้น ควรเลือกใส่คำที่เป็น keyword ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบันทึก เพื่อให้คำสำคัญดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นหาข้อมูลมาพบในบันทึกนี้ และยังช่วยเชื่อมโยงบันทึกที่มีคำสำคัญเดียวกันได้ด้วยค่ะ

โดยคำสำคัญที่น่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาน่าจะเป็นคำว่า จปฐ คุณภาพชีวิต การพัฒนา การสำรวจ เป็นต้นค่ะ

ซึ่งคุณธวัชสามารถแก้ไขคำสำคัญในบันทึกนี้ได้ โดยคลิกเลิกเมนูแก้ไขบันทึกที่แสดงอยู่บนแถบเมนูสีเทาในหน้าบันทึกนี้ได้เลย นะค่ะ จากนั้นลบคำสำคัญที่เป็นประโยคยาวๆ และใส่คำสำคัญใหม่ โดยใช้ตัว comma เป็นตัวคั้นระหว่างคำ ระบบก็จะตัดคัดให้ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท