ประชุมประจำปี 2554 “แผนฯ 11...สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”(ตอนที่ 1)


      วันที่ 7 กรกฎาคม 2554  ผมได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช) อีกปีหนึ่ง ให้เข้าร่วมประชุมประจำปี2554 “แผนฯ 11...สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้องแกรนด์ไดมอลด์บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี   ซึ่งทาง สศช.จะจัดเป็นประจำทุกปี 
     ครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนา  ซึ่งร่างแผนฯฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางถึง 3 ปี  โดย พ.ศ. 2552 ได้ทำวิสัยทัศน์ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”  พ.ศ. 2553 ได้กำหนดทิศทางสู่วิสัยทัศน์ จนเกิดเป็นร่างแผนฯ 11 สู่การประชุมครั้งนี้
       นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ได้นำเสนอเชิงสรุปสาระสำคัญของแผนฯ 11  ความตอนหนึ่งว่า
      การจัดทำแผนพัฒนาประเทศของไทยนับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกเมื่อปี ๒๕๐๔ จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไข รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ การพัฒนาประเทศอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ จึงเป็นจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการวางแผนที่ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” มี “การพัฒนาแบบองค์รวม” และเริ่มให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา ต่อมาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ และฉบับที่ ๑๐ ได้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ

     ผลการพัฒนาประเทศก่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ได้ข้อสรุปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้า แต่การพัฒนาสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ต่อเนื่องถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประเทศทุกขั้นตอน ต่อเนื่องแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ยังคงอัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางการพัฒนาประเทศ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับภาคส่วนต่างๆ และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ ยังคงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาพื้นฐาน มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศภายใต้ทุนสำคัญ ๓ ทุน ได้แก่ ทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผลการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ พบว่าสังคมไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน ขณะที่ความอยู่เย็นเป็นสุขในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ อยู่ระหว่างร้อยละ ๖๖ – ๖๗ ใกล้เคียงกับร้อยละ ๖๕ ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ โดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การมีงานทำ ความเข้มแข็งของชุมชน และความอบอุ่นของครอบครัว ส่งผลต่อความอยู่เย็นเป็นสุข  ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ ความสมานฉันท์ในสังคม สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศขาดความสมดุล รวมถึงสุขภาวะของคนไทยในด้านคุณภาพการศึกษา
      การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙) ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งระดับโลกและในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งโอกาสที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ต้องคำนึงถึงภัยคุกคามและจุดแข็งที่ใช้ผลักดันการพัฒนาให้ก้าวหน้า รวมทั้งแก้จุดอ่อนที่มีอยู่ไม่ให้เป็นอุปสรรคการดำเนินงาน จึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งประเมินศักยภาพของประเทศและผลการพัฒนาที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่คน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   
       แผนฯฉบับนี้ได้กำหนด ยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ทั้งสิ้น 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

        1. การสร้างความเป็นธรรมในสังคม

       2. การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน

       3.ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน

       4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

       5.การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจและสังคม

       6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 448135เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท