สภามหาวิทยาลัย กับการกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา



          ในสภาพการณ์ปัจจุบันของอุดมศึกษาไทย   มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่มีความเสี่ยงต่อการ จัดการศึกษาอย่างไม่มีคุณภาพ พูดแรงๆ คือคุณภาพต่ำนั่นเอง

         ถามว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นเช่นนั้น ใครควรถูกตำหนิ หรือถูกกล่าวโทษเป็นบุคคลกลุ่มแรก   ผมตอบว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกสภาฯ   หรือควรโดนตำหนิเป็น องค์คณะ   ว่าเพราะสภามหาวิทยาลัยไม่ทำหน้าที่ ไม่รับผิดชอบ จึงเกิดการจัดการศึกษาที่ไม่ปฏิบัติ ตามเกณฑ์คุณภาพ

          ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยอีสาน ที่เป็นข่าวความทุจริตในการจัดการศึกษา จน สกอ. ต้องเข้าไป ควบคุมกิจการ   หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน บอร์ด ของบริษัทจะถูกฟ้องด้วย ไม่ใช่แค่ฟ้องเอาผิดต่อฝ่ายบริหารเท่านั้น   สำหรับมหาวิทยาลัย ผมคิดว่าสภามหาวิทยาลัยอีสาน ควรถูกสังคมตำหนิ และคนที่ควรอับอายที่สุดในการทำหน้าที่บกพร่องคือนายกสภา   และ สกอ./กกอ. ไม่ควรยอมให้ท่านผู้นี้เป็นนายกสภาหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยใดๆ อีก

        กลับมาที่หน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยในการกำกับดูแลรับผิดชอบคุณภาพของการศึกษา   ผมขอเสนอว่า มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ว่าสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพ การศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ   ไม่ใช่ยกให้ สมศ., สกอ., หรือองค์กรภายนอกอื่นๆ   แล้วสภามหาวิทยาลัยลอยตัวเหนือความรับผิดชอบ


๒. ให้ถือว่า ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของสถาบันอุดมศึกษา คือคุณภาพ   สถาบัน อุดมศึกษาไทยจำนวนมาก (ไม่อยากใช้คำว่า ส่วนใหญ่) มีความเสี่ยงนี้  คือคุณภาพต่ำ   สภามหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบในการวางระบบต่างๆ เพื่อขจัดความเสี่ยงนี้


๓. สภามหาวิทยาลัยมีการทบทวนว่า คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร   ทบทวนเพื่อปรับปรุง ในลักษณะที่ทำกันจริงๆ ไม่ใช่ทำเป็นพิธีกรรมพอให้ได้ชื่อว่า ทำแล้ว   โดยสภาฯ เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารนำเสนอภาพสรุปของหลักการใหญ่ๆ ปีละครั้ง   หากยังไม่เป็นที่พอใจ สภาฯ อาจว่าจ้างบุคคลหรือทีมงานภายนอกมาสำรวจ ประเมิน และรายงานต่อสภาฯ    นี่คือการประเมินภายใน


๔. เมื่อมีการประเมินภายนอกทุกครั้ง ไม่ว่าโดย สมศ. หรือ สกอ. หรือหน่วยงานอื่น   สภา มหาวิทยาลัยขอให้ทีมประเมินส่งรายงานให้แก่สภาฯ และมารายงานด้วยวาจาต่อสภาฯ และตอบข้อซักถามด้วย  เพื่อนำไปสู่การทบทวนนโยบาย เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ ของการกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย


๕. ความเสี่ยงสำคัญของความด้อยคุณภาพได้แก่ (๑) การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง  (๒) หลักสูตรพิเศษ สอนนอกเวลา  (๓) มีคณะบุคคลภายนอกมารับจัดหลักสูตร  (๔) อื่นๆ (โปรดช่วยกันเติม)   สภาฯ ต้องจี้ซักถามฝ่ายบริหารว่ามีหลักฐานใดบ้าง ที่ยืนยันคุณภาพ   หากหลักฐานไม่ชัดเจนสภาฯ ควรพิจารณายุติหลักสูตรหรือการ จัดการศึกษานั้นๆ     ส่วนข้อ ๓ นั้น กกอ./สกอ. ห้ามทำ  หากมหาวิทยาลัยใดทำ ถือว่าผิดกฎหมาย

 
๖. รากเหง้าที่แท้จริงของการจัดการศึกษาคุณภาพต่ำในบริบทของไทย คือความโลภ ต้องการรายได้เพิ่ม ทั้งระดับสถาบัน ผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่   ที่จริงการช่วย ให้บุคลากรมีรายได้เพิ่มให้ดำรงชีวิตโดยไม่ฝืดเคือง และการหารายได้ให้แก่สถาบัน เป็นเรื่องดี และควรทำ   แต่ต้องไม่แลกกับคุณภาพ   และต้องไม่มากเกินไปจนกลาย เป็นสนองความโลภ ไม่ใช่ลดความฝืดเคือง   ดังนั้น สภาฯ ต้องเข้าไปดูแลระบบ การตอบแทนบุคลากร   ว่ากำหนดอย่างไรจึงจะเหมาะสม   ให้เป็นแรงจูงใจที่จะทำดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม   ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของบุคคลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายต่อสังคม


     เนื่องจากผมได้รับทราบข้อมูลจากบางมหาวิทยาลัยว่า ค่าตอบแทนอาจารย์ จากการจัด การศึกษานอกที่ตั้งสูงถึง ๒ - ๓ เท่าของเงินเดือน (ซึ่งไม่ทราบว่าจริง หรือไม่)   ทำให้คิดว่า สภาฯ ต้องเข้าไปกำหนดข้อบังคับว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากร ที่เอื้อให้บุคลากรทำงานอย่างมีคุณภาพ วัดคุณภาพที่ผลลัพธ์


๗. สภามหาวิทยาลัยกำหนดให้มีระบบข้อมูลที่สะท้อนภาพของคุณภาพการศึกษา   โดยฝ่ายบริหารต้องออกแบบระบบนำมาเสนอสภาฯ และนำไปดำเนินการ   เพื่อใช้ ข้อมูลนั้นในการติดตามตรวจสอบ และป้อนเข้าสู่ระบบการบริหารความเสี่ยง


๘. ในระบบบริหารความเสี่ยง ให้กำหนดความเสี่ยงด้านคุณภาพเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง   ที่จะต้องติดตามตรวจสอบเป็นประจำ และรายงานต่อสภาฯ อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลา ที่เหมาะสม เช่นทุกปี   หรือถ้ามีสัญญาณอันตรายอาจต้องรายงานทุกครึ่งปีหรือทุกๆ ๓ เดือน


๙. ควรมีมาตรการเชิงบวก ให้รางวัล และยกย่องบุคคล และ/หรือ กลุ่มคณะ/ทีมงาน ที่จัดดำเนินการการศึกษา ได้ผลลัพธ์คุณภาพสูงอย่างน่าชื่นชม มีหลักฐานเป็นที่ ประจักษ์   สภาควรกำหนดนโยบายเรื่องนี้ และมอบให้ฝ่ายบริหารไปคิดระบบของ มาตรการนี้ในทางปฏิบัติ   ให้สภาฯ เห็นชอบ และมีการทบทวนเป็นระยะๆ เช่นทุกๆ ๒ - ๓ ปี   โดยวิธียกย่องอย่างหนึ่งคือจัดเวที ลปรร. ให้ทีมที่มีผลงานเด่นนำเสนอ  

 

 

          ขอย้ำว่า สภามหาวิทยาลัยไม่พ้นความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมาย และทางสังคม ต่อคุณภาพของการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ   นี่คือส่วนหนึ่งของ effective board   บุคคลที่เป็นกรรมการสภาฯ ในสภาฯ ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น ineffective board หรือ irresponsible board ต้องถูก blacklist จากการได้รับเกียรตินี้อีกต่อไป

 

 

วิจารณ์ พานิช
๗ ก.ค. ๕๔
 
         
          

หมายเลขบันทึก: 448104เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"...๙. ควรมีมาตรการเชิงบวก ให้รางวัล และยกย่องบุคคล และ/หรือ กลุ่มคณะ/ทีมงาน ที่จัดดำเนินการการศึกษา ได้ผลลัพธ์คุณภาพสูงอย่างน่าชื่นชม มีหลักฐานเป็นที่ ประจักษ์ สภาควรกำหนดนโยบายเรื่องนี้ และมอบให้ฝ่ายบริหารไปคิดระบบของ มาตรการนี้ในทางปฏิบัติ ให้สภาฯ เห็นชอบ และมีการทบทวนเป็นระยะๆ เช่นทุกๆ ๒ - ๓ ปี โดยวิธียกย่องอย่างหนึ่งคือจัดเวที ลปรร. ให้ทีมที่มีผลงานเด่นนำเสนอ ..."

น่านำไปใช้ ในองค์การทั่่่วไป โดยเฉพาะ หน่วยงานราชการ ทุกๆ "สำนักงาน"

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    สภาพปัจจุบันที่กระผมรู้สึกคือ  กระผมเห็นว่ามนุษย์ได้เบียดเบียนธรรมชาติ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กันอย่างสุดโต่ง จนกลายเป็น “นักบริโภคนิยม บันเทิงนิยม เสพติดนิยม” กล่าวโดยรวมคือ “เห็นแก่ตัวนิยม” อยู่ตามภพภูมิของใครของมันแบบ "ไม่แคร์สื่อ" เกิดการเบียดเบียนกันในทุกระดับชั้นในสังคม แบบสุดเหวี่ยงจริงๆ  สิ่งเหล่านี้ได้ถักทอสายใยอย่างซับซ้อนในสังคมเรา จนยากที่จะแกะออกได้ง่าย เราต่างสะสมอัตตากันมาก ซึ่งก็ล้อไปตามลาภ ยศ สรรเสริญ เกียรติและอำนาจ แล้วท้ายที่สุดแล้ว เราก็ถูก "กฏไตรลักษณ์" กัดเอาแล้วนอนเลียแผลทุกข์ระทมทั้งสังคม เราต้องการแนวคิด มุมมองจาก ปราชญ์ ผู้รู้ หรือผู้ที่มีคุณลักษณะเป็น “ปูชนียบุคคล” นำทาง ซึ่งไม่เกี่ยวว่าคนเหล่านั้นเป็นคนอายุน้อย หรืออายุมาก แต่ควรเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มีความหมายและคุณค่าต่อสังคม เป็นคนที่สังคมเคารพ เชื่อมั่น ศรัทธา หรือกราบไหว้ได้ด้วย ซึ่งเสมอพร้อมด้วย “สติปัญญา ความสามารถและความดี”  ในการวางรากฐาน ของประเทศแทบทุกเรื่อง ตอนนี้ภาวะตัณหาและความบ้า กองสุ่มอยู่ในระบบความคิด ก็ยากที่จะมองเห็น "อาภา" เพราะ "แสงสว่างแห่งปัญญา" นำศานติสุขมาให้ ตอนนี้เราเอา "ตัณหาและความบ้า" ว่าคือ "สัมมา" มันจึงนำทุกข์มาให้สังคมอย่างที่เห็น

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท