ห้องเรียนคุณภาพกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่สากล


ห้องเรียนคุณภาพกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่สากล

ห้องเรียนคุณภาพกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่สากล

.......................................................

1.  กรอบแนวคิด

            พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “เข้าใจ  เข้าถึง และพัฒนา”  ถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานเพื่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะข้าราชการ  หากพิจารณาแล้วมีความหมายที่ลึกซึ้งนัก กล่าวคือ 

            เข้าใจ หมายถึง ความเข้าใจแจ่มชัดในประเด็น จุดมุ่งหมาย ทิศทางของงานที่ทำ

            เข้าถึง  หมายถึง การเข้าถึงปัจจัย เช่น องค์ความรู้ หลักคิดทฤษฎี แนวทาง ทรัพยากรการบริหารต่าง ๆ ของงานที่กำลังทำ

            พัฒนา หมายถึง การลงมือกระทำ และหาทางต่อยอดองค์ความรู้เดิมให้ดีขึ้น  สิ่งที่ต่อยอดนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation) เกิดวิธีคิดใหม่ (Paradigm) ที่เป็นของตน ส่วนนี้ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่จะเปิดทางให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และต่อยอด

            ถือว่าเป็นทฤษฎีการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่มีคุณค่ายิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริการจัดการศึกษาในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี  ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติคือครู

            กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  มีดังนี้

        การยกระดับคุณภาพการศึกษา  เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตามแนวทางการส่งเสริมคุณภาพห้องเรียน (Quality Classroom) ถือว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ตรงเป้าที่สุด  เพราะสามารถบอกความสำเร็จและความล้มเหลวของการจัดการเรียนรู้ได้จริง  ผู้เรียนจะมีคุรภาพหรือไม่ต้องดูจากจุดนี้  

2.  ห้องเรียนคุณภาพ คืออะไร

        ห้องเรียนคุณภาพ ที่ สพฐ.กำหนด เป็นแนวทางสำหรับครูโดยตรง  ที่จะเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่เน้นคุณภาพให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างแท้จริง  ภายใต้แนวทาง  มี  5 ประการ คือ

                            1) นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ

                            2) ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน

                            3) การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research- CAR)

                            4) การใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน

                            5) การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

                ห้องเรียนคุณภาพ  จึงไม่ใช่รู้และเข้าใจ จำแนวทางทั้ง 5 ข้อได้อย่างขึ้นใจเท่านั้น  หากเมื่อครูสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม  ย่อมจะเป็นคุณูปการแก่ผู้เรียน ตนเอง  และโรงเรียนเป็นอย่างมาก  การใช้แนวพระราชดำรัสของในหลวง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาทบทวนในแต่ละข้อ  ก็จะส่งผลให้งานสอนของครูมีคุณค่าที่สุด  จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก  

3.  แนวทางสู่ห้องเรียนคุณภาพในระดับโรงเรียน

                โรงเรียน  มีบทบาทโดยตรงในการจัดการศึกษา และพัฒนาสู่ห้องเรียนคุณภาพ  โรงเรียนมีองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ  บุคลากรครู นักเรียน หลักสูตร และสถานที่เรียน  ในด้านบุคลากรประกอบด้วยบุคลากรหลัก 2 ส่วน คือผู้บริหารและครู 

                การทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ผู้บริหารและครู ควรมีจังหวะเดินที่มั่งคง  ดังนี้

                3.1  ผู้อำนวยการโรงเรียน 

                อยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการหลักสูตร (Curriculum Manager)  มี 3 บทบาทที่ต้องพิจารณาในการเดิน คือ  1) การสร้างหลักสูตร  2) การใช้หลักสูตร  และ 3) การประเมินหลักสูตร

 

                        1)  การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา

                        ผู้บริหาร  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษาและนำหลักสูตรมาใช้จริง  ต้องการศึกษาวิเคราะห์สภาพข้อมูล  การมีส่วนร่วม  การกำหนดวิสัยทัศน์  เป้าหมาย  คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน  การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา  การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้กลุ่มสาระ  การวัดและประเมินผลหลักสูตร  ตลอดจนการอนุมัติใช้หลักสูตรและประชาสัมพันธ์หลักสูตรสถานศึกษาแก่สาธารณชนผู้มีส่วนได้เสีย

                        2)  การใช้หลักสูตรสถานศึกษา

                        เป็นการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้  ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องพิจารณาและตัดสินใจมอบหมายให้ครูได้รับผิดชอบในรายวิชาหรือชั้นเรียนตามหลักสูตรอย่างครบถ้วน  เพื่อครูจะได้มีสถานภาพสมบูรณ์ในฐานะเจ้าภาพรับผิดชอบสาระรายวิชาหรือชั้นเรียนที่จะต้องทำการบริหารจัดการต่อไป

                        เงื่อนไขความสำเร็จ (แนวทาง)  มีดังนี้

                                (1)  วางแนวทางการบริหารจัดการ  ได้แก่  การกำหนดเงื่อนไข  นโยบาย ปฏิทินการทำงาน (School Agenda) การส่งงาน กำหนดระเบียบและข้อตกลงร่วมกัน (House Rules) ที่จะทำให้ครูและบุคลากรต้องทำแนวทางเดียวกัน  ที่สำคัญคือ ผู้บริหารได้รับทราบและส่งเสริมความเคลื่อนไหวในการเดินของครูแต่ละก้าวที่มั่นคงต่อเนื่อง

                                (2)  กำหนดโครงการพัฒนา  การทำงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ การวิจัยองค์กร (สถานศึกษา) การวิจัยหลักสูตร  โครงงาน  กิจกรรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

                                (3)  การจัดระบบนิเทศภายใน เป็นระบบการนิเทศการศึกษาที่มีคุณค่าที่สุด ด้วยการวางระบบการนิเทศภายใน  กำหนดโครงสร้าง  ภารกิจขอบข่าย  กิจกรรมการเยี่ยม การให้คำปรึกษาหารือ การกำกับ โดยผู้บริหารต้องทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ที่คอยให้กำลังใจ    ดูแล สร้างเสริม พัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการรายวิชาของครูสู่การพัฒนาห้องเรียนคุณภาพ  และการประเมิน

                จึงไม่ควรมีห้องทดลอง หรือนำร่องห้องเรียนคุณภาพ  สร้างโอกาสเกิดให้ขึ้นกับทุกห้องเรียนอย่างเท่าเทียม

                                3)  ประเมินหลักสูตรสถานศึกษา

                                การประเมินหลักสูตร  เป็นการสรุปรายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาเมื่อสิ้นปีการศึกษา  มีการวิเคราะห์ผลสำเร็จและความล้มเหลวของการใช้หลักสูตรสถานศึกษาในรอบปี  ซึ่งควรดำเนินการเมื่อสิ้นปีการศึกษาในสิ้นเดือนมีนาคม แล้วนำข้อเด่นและข้อด้อยมาปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาใหม่  และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและประกาศใช้ในปีการศึกษาต่อไปในเดือนพฤษภาคม  เป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากหลักสูตรเดิมสู่รอบปีการศึกษาใหม่ (Spiral) ต่อไป 

                ทุกสิ้นปีการศึกษา เดือนมีนาคม จึงเป็นระยะเวลาที่มีความสำคัญที่สุด  ที่จะได้รับการสรุปและรายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาประจำปีในรายวิชาหรือชั้นของครู  และผู้บริหารก็นำผลงานวิจัยรายวิชามาพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาในเดือนเมษายน  ให้ทันใช้ในปีการศึกษาต่อไป

 

                3.2  ครู 

                เมื่อครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบวิชาหรือชั้นใด  ครูก็มีบทบาททางการบริหารทันที  คือ  การเป็นผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager) เมื่อได้รับผิดชอบสาระรายวิชา หรือผู้จัดการชั้นเรียน (Class Manager)  เมือได้รับมอบหมายให้สอนทั้งชั้น 

                เป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญที่สุดต่อการจัดการเรียนรู้และสร้างคุณภาพ ควรได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารให้มีจังหวะก้าวเดินที่มีคุณค่า  และสร้างคุณภาพให้กับครู ก่อนที่จะไปสร้างห้องเรียนคุณภาพ  อย่างน้อย 4 ก้าว  ดังนี้

                ก้าวที่ 1  กำหนดหน่วยการเรียนรู้สาระรายวิชา (Course Syllabus)

                (บอกความเป็นนักวางแผนชั้นครู)

                การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) เป็นงานวางแผน  ที่ครูต้องวางแผนให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทที่มีอยู่ คือ  หลักสูตรสถานศึกษา(คำอธิบายรายวิชา)  ผู้เรียน  วิถีชีวิตท้องถิ่น  ตลอดจนทรัพยากรการบริหารอื่น ๆ  ซึ่งต้องวางแผนให้ชัดเจนก่อนปีการศึกษาใหม่จะเริ่มขึ้น  เพื่อจะได้ใช้เป็นแผนที่เดินทางประจำตัวครู (Roadmap)

                หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยกลุ่มสาระต่าง ๆ และแต่ละสาระวิชาจะมาสิ้นสุดที่ “คำอธิบายรายวิชา” (Course Description) หมายถึง  การพรรณนาขอบข่ายสาระของวิชานั้นตามมาตรฐานกำหนดไว้   คำอธิบายรายวิชา ก็คือ “หลักสูตร”  ที่ครูจะนำไปวางแผนบริหารจัดการ (Course Management)                 

                องค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้  โดยทั่วไปประกอบด้วย  ข้อมูลผู้สอน  คำอธิบายรายวิชา  จุดมุ่งหมาย (วัตถุประสงค์)  หัวข้อเรื่องที่จะสอนหรือหน่วยการเรียนรู้  วันเดือนปี จำนวนสัปดาห์หรือชั่วโมงที่ต้องใช้  กิจกรรมการเรียนรู้  สื่อ  หนังสือคู่มือต่าง ๆ การวัดและประเมินผลและอื่นๆ 

                การกำหนดวันเวลาและเนื้อหา ให้เป็นไปตามปฏิทินวันทำการปกติของทางราชการ  ของ สพท.และของโรงเรียน  ควรเว้นวันหยุดต่าง ๆ  วันสำคัญทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น  และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะมีความสำคัญเกิดขึ้นออกไป  จัดเนื้อหาและวันเวลาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของท้องถิ่นและระดับการศึกษาตลอดทั้งปีการศึกษา  ประมาณ  200-230 วัน หรือ 40 สัปดาห์ ดังนี้ 

                1) ระดับชั้นประถมศึกษา  จะพบโรงเรียนมีธรรมชาติการปฏิบัติงาน  2 แบบ ซึ่งการบริหารจัดการก็จะต่างกัน  คือ

                        (1)  การสอนประจำชั้น  โดยครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นชั้นเรียน บทบาทครูจะมีความแตกต่างจากครูที่ต้องรับผิดชอบรายวิชา  เพราะต้องรับผิดชอบสอนทั้งชั้นเรียนและสอนทุกกลุ่มสาระ  กรณีอย่างนี้  ครูมีบทบาทเป็น “ผู้บริหารจัดการชั้นเรียน” (Class Manager)   

                หน่วยการเรียนรู้ที่กำหนดต้องเป็น “แบบบูรณาการ”  คือการรวมทุกสาระมาจัดไว้เรียนร่วมกัน  ครูจะต้องนำคำอธิบายรายวิชาและมาตรฐานการเรียนรู้จากทุกสาระ  มากำหนดเป็นหน่วยแบบบูรณาการหน่วยต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตามบริบทของชั้นเรียนนั้น ๆ ทั้งสองภาคเรียน คือ 40 สัปดาห์ หรือ 200 วัน ไม่เหมาะในการจัดหน่วยการเรียนแยกรายสาระ

        การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ของครูประจำชั้นเช่นนี้จึงมีความยุ่งยากซับซ้อน  ครูต้องมีความรู้ทำความเข้าใจและมีทักษะในการบูรณาหลายสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกัน  มีการเชื่อมโยงแนวคิด (Mind Map) และกิจกรรมไปยังสาระต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน  

 

                        (2)  การสอนประจำวิชา  คือการที่ครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประจำรายวิชา เรียกว่าเป็น “ผู้บริหารจัดการรายวิชา” (Course Manager) โดยการนำคำอธิบายรายวิชา (Course Description) มาวิเคราะห์ กำหนดวัตถุประสงค์ (Objectives) จัดหน่วยการเรียนรู้  ให้เป็นไปตามมาตรฐานและธรรมชาติรายวิชา ซึ่งเป็นงานวางแผนเช่นเดียวกันแต่ไม่เหมือนกับการวางแผนแบบบูรณาการที่ซับซ้อนกว่า

                แนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาจึงเป็นไปตามความเหมาะสมของจำนวนบุคลากรและย่อมมีความหลากหลายในวิธีการปฏิบัติ เพราะจะพบการสอนประจำชั้น  ครูประจำวิชา  การสอนควบชั้น  การสอนคละชั้น  เป็นต้น  จึงเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละสถานศึกษาซึ่งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับครูแต่ละคนตามบริบทที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี

 

                2) ระดับมัธยมศึกษา  มีธรรมชาติที่เป็นรายวิชาอิสระที่มีครูรับผิดชอบ  มีคำอธิบายรายวิชาที่ชัดเจน  กำหนดวัตถุประสงค์และหน่วยการเรียนรู้เป็นรายภาคเรียน  ใช้เวลาประมาณ  20 สัปดาห์ อยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager) ที่ชัดเจน 

 

                การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) จึงเป็นก้าวแรกของครูทุกระดับการศึกษา  เป็นด่านแรกที่แสดงศักยภาพความเป็น  “นักวางแผน” ของครู  ทำให้เห็นวิธีคิด (Paradigm) เห็นองค์ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะที่มีอยู่ในตัวครูได้อย่างชัดเจน  เป็นสิ่งให้ผู้บริหารใช้เป็นพื้นฐานในการเก็บเกี่ยวและพัฒนาส่งเสริมทักษะ  บุคลิกภาพและเจตคติที่มีอยู่ในตัวครูก่อนทำการสอนได้อย่างชัดเจน  สร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี  และหน่วยการเรียนรู้ถือเป็นเสมือนเค้าโครงการวิจัยเชิงทดลอง 

                จึงถือเป็นก้าวแรกที่งดงามของครูที่ผู้บริหารโรงเรียนจะใช้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับอนุญาตจากผู้บริหารสถานศึกษาที่จะให้เข้าทำการสอนในชั้นเรียนได้

 

                ก้าวที่  2  วางแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan)

                (บอกความเป็นนักออกแบบชั้นครู)

 

                เป็นขั้นของการนำหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) มาเตรียมการสอน  เป็นการถอดหน่วยการเรียนรู้มาทำการวางแผนการจัดการเรียนรู้รายบทเรียน (Lesson Plan) ด้วยตนเอง  ด้วยการจัดทำบทเรียน  กำหนดวัตถุประสงค์  กิจกรรมการเรียนการสอน  เอกสารคู่มือ  สื่อ  แบบวัดประเมินผลการเรียนรู้ 

                แผนการจัดการเรียนรู้เป็นแผนสด  ที่ออกแบบเพื่อการจัดการเรียนรู้ล่วงหน้าและใช้แต่ละครั้งไป  โดยออกแบบไว้ในวันนี้เพื่อการสอนในสัปดาห์หน้าเสมอ เป็นการเตรียมความพร้อมของครูตามหลักที่ว่า “จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร”

                รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้  อย่างน้อยสิ่งที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนคือ สาระการเรียนรู้ตามมาตรฐาน  วัตถุประสงค์  และกิจกรรมการเรียนรู้  การจัดทำรายละเอียดมากเท่าใดยิ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานของครูมากเท่านั้น  การออกแบบการสอนที่ดีต้องตอบคำถามได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน  การใช้วิธีการออกแบบย้อนกลับ (Backward Design) ก็เป็นเทคนิคที่ดีอย่างหนึ่งที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน การสอนที่มีประสิทธิภาพย่อมมาจากการเตรียมการที่ดีเสมอ 

                ก้าวที่ 3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

                (บอกความเป็นนักบริหารจัดการห้องเรียนชั้นครู)

                เป็นขั้นของการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้  ครูได้แสดงบทบาทการเป็นนักบริหารจัดการอย่างเต็มที่  คือ  การใช้ทักษะผู้นำ (Leadership) และความรู้ความสามารถทุกอย่าง  ได้แก่  การบริหารชั้นเรียน  การบริหารเวลา  ทักษะการใช้สื่อ  การตัดสินใจ  การวัดและประเมินผลของครู เพื่อที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้คือ  การบันทึกร่องรอยผลการจัดการเรียนรู้  ให้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำงาน  สิ่งที่ครูควรมีการบันทึกผลหลังสอน ได้แก่

1)      ผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  โดยการตอบวัตถุประสงค์ของแผน  แต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร  ด้วยวิธีใด  จำนวนเท่าใด และมีค่าสถิติอย่างไร  มีข้อสังเกต  และข้อพิจารณานำไปปรับปรุงต่อและใช้ในครั้งต่อไปอย่างไร

การยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนด้วยแนวทางห้องเรียนคุณภาพ(ต่อ)

                ก้าวที่  3  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 

                (บอกความเป็นนักบริหารจัดการห้องเรียนชั้นครู)

 

                เป็นขั้นของการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้  ครูได้แสดงบทบาทการเป็นนักบริหารจัดการอย่างเต็มที่  คือ  การใช้ทักษะผู้นำ (Leadership) และความรู้ความสามารถทุกอย่าง  ได้แก่  การบริหารชั้นเรียน  การบริหารเวลา  ทักษะการใช้สื่อ  การตัดสินใจ  การวัดและประเมินผลของครู เพื่อที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้คือ  การบันทึกร่องรอยผลการจัดการเรียนรู้  ให้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำงาน  สิ่งที่ครูควรมีการบันทึกผลหลังสอน ได้แก่

                 1) ผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  โดยการตอบวัตถุประสงค์ของแผน  แต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร  ด้วยวิธีใด  จำนวนเท่าใด และมีค่าสถิติอย่างไร  มีข้อสังเกต  และข้อพิจารณานำไปปรับปรุงต่อและใช้ในครั้งต่อไปอย่างไร

                2) บันทึกบรรยากาศการเรียนรู้จริง  เช่น ความสนุกสนาน  ความสนใจร่วมมือ  เจตคติ  พฤติกรรม  สื่อ แบบวัดประเมิน  เหตุการณ์ที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ปัจจัยเสริม ข้อขัดข้องข้อสังเกตต่าง ๆ ควรเก็บบันทึกอย่างครบถ้วน 

                การบันทึกเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ครูจะเกิดทักษะและประสบการณ์ในการบันทึก ให้เป็นหมวดหมู่เป็นประเด็น  เป็นสมุดปูม (Log Book) บันทึกเหตุการณ์ประจำวันของชั้นเรียน 

                ในขั้นตอนนี้  ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าไปกำกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานะผู้นิเทศ  คือ การให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ (ละเว้นการตำหนิ การกล่าวโทษ)การสร้างแรงจูงใจ  การเสริมแรง  ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ครูได้รับความสำเร็จ  โรงเรียนควรจัดระบบนิเทศภายใน (Internal Supervisory System)  ผู้ทำหน้าที่นิเทศที่มีคุณค่าที่สุดก็คือผู้บริหารสถานศึกษา  อาจกำหนดคณะนิเทศภายในสถานศึกษาและแสวงหาความร่วมมือการนิเทศที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

                ก้าวที่ 4  การประเมินการสอนรายวิชา 

                (บอกความเป็นนักวิจัยชั้นครู)

                เป็นขั้นที่บอกความสำเร็จในการทำงานของครู  จากการจัดการเรียนรู้ตามแผนตั้งแต่แผนแรกจนถึงแผนสุดท้ายมาวิเคราะห์ประมวลผล  เพื่อตอบหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) และวัตถุประสงค์หน่วยการเรียนรู้ ว่าแต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร เท่าใด  มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะและการแก้ไขไว้อย่างไร  ทุกคำตอบหาได้จากบันทึกผลหลังแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้บันทึกไว้แล้ว

                สิ่งที่ควรดำเนินการในขั้นนี้ คือ 

                1)  การสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   โดยการจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาประจำวิชาและของสถานศึกษา

                2)  สรุปรายงานผลการใช้หลักสูตรรายวิชา/หรือชั้น  ในรูปแบบรายงานการวิจัย 5 บท ซึ่งได้ข้อมูลจากผลการแผนการจัดการเรียนรู้  เป็นผลงานสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนาเพราะเป็นงานการวิจัยสูตรสถานศึกษา  จะพบองค์ความรู้ที่มีคุณค่าของครูอยู่ที่นี่  ต่อการพัฒนาหลักสูตรและการขอรับวิทยฐานะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

4.  มิติสัมพันธ์ 4 ก้าวเดินครูกับห้องเรียนคุณภาพ

                ก้าวเดินที่มีคุณภาพครูมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ  ช่วยให้เข้าถึงกรอบที่กำหนดไว้  5  ประการ  ดังนี้ 

        4.1  การนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ 

ครูมีโอกาสได้รับการเร่งเร้า  ส่งเสริม  เพื่อกำหนดกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการทำงานใหม่ในห้องเรียน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบในการบริหารจัดการรายวิชาของครู  ที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการขจัดการเรียนรู้  เห็นศักยภาพของครูแต่ละคน  สามารถสืบค้นจากแหล่งความรู้และมองเห็นแนวทางปรับปรุงต่อยอดความคิดได้ชัดเจน    มีการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน  สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา 

      4.2  การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน 

สามารถวัดได้จากการเป็นนักวางแผน  การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) จากหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด  เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

      4.3  การวิจัยในชั้นเรียน (CAR-Classroom Action Research) 

การจัดการเรียนรู้  การบันทึกตามแผนการจัดการเรียนรู้  และนำผลมาประมวลเมื่อสิ้นปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  เป็นผลงานวิจัยชั้นเรียนที่มีคุณค่า  ครูทุกคนมีผลงานวิจัยของตน  เป็นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละปี สามารถใช้เป็นผลงานในการขอเพิ่มวิทยฐานะได้อย่างมีเกียรติ 

เป็นผลที่เกิดขึ้นในก้าวที่ 4 ครู  เป็นก้าวของการสรุปองค์ความรู้  ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่หรือนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเผยแพร่และการนำไปต่อยอดต่อไป หลักสูตรสถานศึกษาได้รับการวิจัยและการพัฒนาเป็นกระบวนการที่มีความยั่งยืน 

      4.4  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน 

อยู่ในทุกก้าวเดินของครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นก้าวของการแสวงหาความรู้และการสอน  ได้แก่การใช้สื่อสารสนเทศที่กว้างขวางเพื่อการสืบค้นและการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนสากล (Global Classroom)  หลายอย่างครูสามารถเรียนรู้แนวทางได้จากอินเตอร์เน็ต  เช่น การสอนที่ใช้พลังของเด็ก (Power Teaching) เป็นรูปแบบที่ให้นักเรียนสอนเพื่อนต่อในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้  มีความตื่นตัวสนุกสนานพัฒนาสมองและบุคลิกภาพเด็กได้ครบทุกส่วน และขณะเดียวกันเด็กก็สามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากต้นแบบในอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน เช่น การเล่นกีฬา  ดนตรีประเภทต่าง ๆ ที่ครูเลือกแนะนำให้เด็กได้แม้ไม่มีความชำนาญ   ทำให้สื่อใกล้ตัวครูและนักเรียนมากขึ้น  ชุมชนการเรียนรู้กว้างออกจากห้องเรียนไปสู่สากลด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e-mail)  การใช้สมุดปูมส่วนตัว หรือ บล็อก (Blog) ที่มีบริการแก่สมาชิก เช่น  www.gotoknow.org/ ; www.blogger.com เป็นต้น

5.  บทสรุป : 4  ก้าวคุณภาพครูชัยชนะของทุกฝ่าย (win-win solution)

                        1) เด็ก ได้รับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน  มีแบบแผน  ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง เรียนเก่ง   เป็นคนดี  มีความสุข

                        2)  ครู  ได้มีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับวิชาชีพ  ไม่ทิ้งชั้นเรียน  มีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยวิธีการของตน  สร้างผลงาน  พอกพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน  มีเกียรติได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ

                        3) ผู้บริหาร  มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจากผลงานการวิจัยของครูทุกคน และต่อยอดความสมบูรณ์ของหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีคุณค่า แต่ละสถานศึกษาได้สร้างมีองค์ความรู้ที่หลากหลายตามบริบทที่มีอยู่

                        4) โรงเรียน กล้าประกาศตนเป็นโรงเรียนคุณภาพ เป็นสถาบันที่มีคุณค่าของชุมชน ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ  

                        5)  ชุมชนและผู้ปกครอง  ได้สถานศึกษาของชุมชนที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการ  มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง  มีความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษา

                        6) สำนักงานเขตพื้นที่  สามารถกำกับดูแลการจัดการศึกษาของสังกัดได้อย่างมีทิศทาง  สามารถควบคุมระดับคุณภาพและมาตรฐานได้  ลดความเสี่ยงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  สถานศึกษามีความหลากหลายในแนวทางปฏิบัติ (Best Practices) เป็นองค์ความรู้สู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดให้ยั่งยืนต่อไป

                        ส่งท้ายบทสรุป หากโรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำห้องเรียนคุณภาพจนเกิดผลแล้วผลที่ตามมาคือจะทำให้นักเรียนเป็นบุคลที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ เป็นเด็กดี เด็กเก่ง อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และมีคุณลักษณ์อันพึงประสงค์ตามที่สังคมไทยต้องการ อีกทั้งมีศักยภาพในการแข่งขันระดับเวทีโลก นำไปสู่โรงเรียนที่มีระดับมาตรฐานสากลต่อไป

 

……………………………………..

 

 

หมายเลขบันทึก: 448009เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท