โต๊ะวิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔


โต๊ะวิชาการ

ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมโต๊ะวิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑ ก.ค. ๕๔ 

๑. วิธีการคัดกรองขององค์การอนามัยโลกสำหรับผู้ใช้สารเสพติดเพื่อการบำบัด 

โดย พญ.วิชุดา จิรพรเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

          แบบคัดกรอง Alcohol, Smoking & Substance Involvement Screening Test (ASSIST) เป็นแบบที่สามารถใช้คัดกรองการใช้สารเสพติดในหน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้ง่าย และผู้คัดกรองไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จากการทดสอบแบบใน ๑๐ ประเทศ และการติดตามผลระยะเวลา ๓ เดือนพบว่า ผู้ป่วยมีผลเชิงบวกต่อพฤติกรรมการใช้สารของตน  (ผู้ป่วยมีความประพฤติดีขึ้น) (ร้อยละ ๖๔)  ผู้ป่วยลดการใช้สารลง (ร้อยละ ๕๗)  ผู้ป่วยเพิ่มความตระหนักในการใช้สารทั้งด้านปัญหาและการใช้อย่างปลอดภัย (ร้อยละ ๓๔)

          ในชุดของแบบคัดกรองจะประกอบด้วย แบบคัดกรอง  บัตรคำตอบ (response card) บัตรรายงานผล (feedback report card) และคู่มือแนวทาง   ช่วยเหลือตนเอง  โดยตัวแบบคัดกรอง จะประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน ๘ ข้อ    ที่ถามเกี่ยวกับ ความถี่ของการ    ใช้สาร ความอยากใช้สาร ผลกระทบที่เกิดขึ้น อุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การให้ความสนใจของบุคคลรอบข้าง การพยายามเลิกใช้สาร และการมีปัญหาด้านพฤติกรรม  การตอบข้อคำถามเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจอาการและปัญหาของตนเอง  ผู้คัดกรองคาดหมายว่าผู้ป่วยจะมีการเข้าพบ  และรับคำปรึกษาในครั้งต่อๆ ไป เพื่อการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แบบคัดกรองนี้จะใช้ร่วมกับการให้การบำบัดแบบย่อ  (Brief Intervention: BI) ซึ่งเป็นการสะท้อนกลับของข้อมูลที่แปรผลจากแบบคัดกรอง ให้คนไข้ทราบระดับความรุนแรงของปัญหาตามค่าคะแนนที่ออกมา และเสนอแนวทาง วิธีการในการลดความเสี่ยง จนถึงขั้นเลิกใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นการหารือร่วมกันระหว่างผู้ให้การบำบัดและผู้ป่วย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกลับมาพบเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยพร้อม

            การนำแบบคัดกรอง ASSIST มาใช้ในประเทศไทยนั้น เครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติดได้ทดลองนำแบบคัดกรองมาปรับใช้ในแบบสอบถามในการสำรวจประมาณการผู้เกี่ยวข้องกั​บสารเสพติด ปี ๒๕๕๔ และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือนำแบบคัดกรองนี้มาใช้ในโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในกระบว​นการยุติธรรม พื้นที่นำร่องจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ และ สำนักงาน ปปส.ภาค ๖ มีแนวคิดจะนำแบบคัดกรองนี้ไปทดลองใช้ในการคัดกรองเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดในสถานศึกษา ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

 

 

๒. การใช้ยาต้านอาการอยากยาบ้า โดย นพ.กนก อุตวิชัย ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่

 

            ในการประชุมครั้งนี้นักวิจัยได้นำเสนอการสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาการอยากยา เพื่อศึกษาวิจัย หายาต้านอาการอยากยา ซึ่งเป็นข้อเสนอการวิจัยระดับดุษฎีบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย โดยมีรายละเอียดโดยสังเขปกล่าวคือ ความอยากยาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับไปเสพซ้ำ เพราะเมื่อเกิดความอยากผู้ป่วยจะพยายามหายามาเสพ สาเหตุของความอยากนั้นเกิดจากปัจจัยความรู้สึกภายในของผู้ป่วย (เกิดขึ้นเอง)  และเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อม เพื่อน เป็นต้น ซึ่งก่อนเกิดความอยากจะต้องมีตัวกระตุ้น (triggers) เช่น ความเครียด วิตกกังวล ความอยากได้อารมณ์เดิมๆ เมื่อเสพยา หรือเพื่อนชวน จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในหนูทดลองพบว่าความอยากเป็นอาการระยะยาว ๕ – ๖ เดือน ซึ่งคาดว่าในมนุษย์จะมีช่วงระยะเวลาที่นานกว่านั้น และมีการศึกษาที่พบว่า ระดับสารสื่อประสาท “กลูตาเมท” และ “ซิสเทอีน” ที่ไม่สมดุลในสมองมีผลต่ออาการอยากยา ซึ่งการพิสูจน์สมมติฐานนี้ทำได้โดยการศึกษา Glutamate Machanism ในสมองด้วยเครื่อง MRI

 

๓. การใช้ chart เม็ดยาบ้าของ ป.ป.ส. และการตรวจเส้นผมเพื่อยืนยันปริมาณการเสพยาบ้า โดย รศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

               จากการศึกษาวิจัยพบว่าเมื่อเสพยาเสพติดจะสามารถตรวจพบสารที่ตกค้างในร่างกายได้ทางปัสสาวะ เลือด และเส้นผม สำหรับเส้นผมคนเราจะยาวประมาณ ๐.๖-๑.๔ เซ็นติเมตร/เเดือน ซึ่งหากต้องการทราบระยะเวลาการเสพของผู้ใช้สาร จะสามารถตรวจได้จากระดับความยาวของเส้นผม การตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผมมีข้อพึงระวังคือการปนเปื้อนสารเสพติดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก  ปัจจัยที่มีผลต่อการตรวจหาสารเสพติด  ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์แตกต่างกัน อาทิ การทำสีผม การบำรุงผม วิธีการตรวจ ตัวสารที่ใช้สกัดสารเสพติดจากเส้นผม (กรด ด่าง หรือ buffer) และบริเวณที่ขึ้นของเส้นผม ซึ่งส่วนมากที่ตรวจพิสูจน์ได้ผลดีจะเป็นด้านหลังของศีรษะ (vertex posterior) ขั้นตอนการตรวจประกอบด้วย การเก็บตัวอย่างเส้นผม (เก็บรักษา ณ อุณหภูมิห้อง และแห้ง) ระบุโคน/ปลาย ให้ชัดเจน ล้างทำความสะอาดเส้นผม สกัดสารเสพติดจากเส้นผมและวิเคราะห์หาสารเสพติดจากน้ำสกัดเส้นผม โดยเส้นผมที่พบสารเสพติดเมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน จะพบสารปริมาณ ๐.๒ นาโนกรัม/มิลลิกรัมเส้นผมขึ้นไป จากตัวอย่างการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการตรวจปัสสาวะ และเส้นผม ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน จากตัวอย่าง ๑๐๓ ราย ตรวจในเส้นผมพบร้อยละ ๐.๙๗ แต่ตรวจปัสสาวะไม่พบ  ตัวอย่างจำนวน ๓๒๔ ราย ตรวจเส้นผมพบ ร้อยละ ๙.๒๖ ตรวจในปัสาวะพบร้อยละ ๐.๓๑ และตัวอย่างจำนวน ๔๒๗ ราย ตรวจในเส้นผมพบร้อยละ ๗.๒๖ ตรวจในปัสสาวะพบร้อยะ ๐.๒๓  

                 จากการศึกษาปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่พบในเส้นผมสัมพันธ์กับปริมาณที่ใช้หรือไม่ได้ทำการศึกษาตัวอย่าง เปรียบเทียบผลปริมาณตัวยาที่เสพที่ได้จากการสัมภาษณ์ กับผลที่ได้จากการตรวจสารเสพติดจากเส้นผม พบว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเสพจำนวนมาก พบสารเสพติดในเส้นผมปริมาณมาก ทำให้การตรวจสารเสพติดจากเส้นผมสามารถบ่งชี้สภาพความรุนแรงของการติดยาบ้าได้

 

 ๔.  การนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยเรื่องอื่นๆ 

 

*รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานวิจัยยืนยันว่าการปลูกกัญชงในพื้นที่ควบคุมจะส่งผลให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือได​้ จึงควรมีการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้วย  

*นางสาวกนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการค้าประเวณีแฝงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพบว่าโต๊ะพนันบอลมีส่วนเก​ี่ยวข้องกับการค้าประเวณี และยาเสพติด รวมทั้งพบนักศึกษาที่ค้าประเวณีแฝงเป็นเครือข่ายการค้าไอซ์ เนื่องจากไอซ์เป็นสารเสพติดที่เชื่อมโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ 

คำสำคัญ (Tags): #วิชาการ
หมายเลขบันทึก: 447944เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท