นโยบายด้านเด็ก คิดให้มากทำให้จริง


บทความชิ้นนี้เป็นบทความร่วมของ อ.อิทธิพล ปรีิติประสงค์ และ อ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เพื่อทำให้เกิดแนวทางในการจัดทำนโยบายด้านเด็กและเยาวชนที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ช่วงเวลาของการหาเสียงของพรรคการเมืองในเวลานี้ วาทกรรมที่ได้ยินกันอย่างอึกทึกครึกโครมมีหลายคำ เช่น ปรองดอง นิรโทษกรรม ปากท้องชาวบ้าน ประชานิยม ประกันรายได้ ล้วนเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ในขณะที่ นโยบายที่จะส่งผลต่อการทำงานเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนอายุไม่เกิน ๒๔ ปีซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ ๔๒ ของประชากรทั้งประเทศกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และนโยบายหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กที่พบ ก็มีความฉาบฉวย มีการวางเป้าหมายที่เน้นการสร้างความนิยมในเชิงปริมาณที่ตอบสนองต่อทุนนิยมเป็นหลัก ทั้งนโยบายเรียนฟรีที่ไม่ได้มีรายละเอียดของแนวทางในการพัฒนาผู้เรียน หรือ นโยบายประกันเงินได้หลังจากเรียนจบโดยไม่ได้มีรายละเอียดของคุณภาพชีวิตของคนหรือโอกาสในการใช้ความสามารถในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดทำนโยบายในการพัฒนาเด็ก เยาวชนในสังคมไทยที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในประเด็นต่างๆเหล่านี้

ประเด็นแรก ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน หมายถึง เราต้องปักธงเรื่องคุณสมบัติของเด็กไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าเป็นอย่างไร ? โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของเด็ก เยาวชนในสังคมไทย ควรจะประกอบด้วยคุณสมบัติหลักๆ ๕ ด้าน คือ (๑) คิดดี ทำดี เพื่อสาธารณะ (๒) รู้ลึก ประยุกต์ได้ เพื่อตนเองชุมชนและสังคม (๓) คิดสร้างสรรค์ ทำสร้างสุขเพื่อผู้สูงวัยในครอบครัว (๔) รู้เท่าทัน ใช้สร้างสรรค์เพื่อวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (๕) รู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อสร้างความสุขให้ตนเอง และ ชุมชน ที่สำคัญ เป้าหมายของการทำงานต้องมุ่งไปที่การพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมีตัวชี้วัดที่ความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านต่างๆของเด็ก และเยาวชนมีการเติบโต เปลี่ยนแปลงอย่างใด มากกว่าการกำหนดผลลัพธ์เชิงปริมาณ

ประเด็นที่สอง ต้องเท่าเทียม และ ทั่วถึง การพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและทั่วถึง ของเด็กที่อาจมีแตกต่างกันทางด้านภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเป็นอยู่ ฐานทางเศรษฐกิจ สภาพทางร่างกาย หมายรวมถึง ความทุพพลภาพ หรือ เด็กพิการ เด็กที่มีข้อจำกัดทางการเรียนรู้ และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ย่อมต้องได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเหมาะสมกับลักษณะเด็กประเภทนั้น ๆ

ซึ่งเรื่องเร่งด่วนคือ การพัฒนาพัฒนาระบบการเรียนการสอน และทักษะของคุณครูใน ๔ ด้าน คือ  (๑) ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย (๒)ทักษะการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินพัฒนาการของโดยเฉพาะพัฒนาการการด้านอารมณ์ สังคม  และกระบวนการคิด (๓) ทักษะการสร้างวินัยเชิงบวก เพื่อจัดการห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและคุณครู (๔) ทักษะการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมศักยภาพเด็ก และเยาวชน

ประเด็นที่สาม ต้องสานต่อเชิงนโยบายสร้างความต่อเนื่อง และ สร้างเหตุผลนิยมให้กับประชาชนหรือ เรียกว่าความมั่นคงทางนโยบายสู่ความมั่งคงของประชาชน การจัดทำนโยบายของการหาเสียงที่เน้นหนักไปที่การสร้างนโยบายใหม่ โดยไม่เหลียวหลังกลับมาพิจารณานโยบายเดิมที่มีอยู่แล้ว  เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ แผนแม่บทในการทำงานจากภาคส่วนต่างๆที่มีอยู่ว่าจะสานต่ออย่างไร ? มีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ? จะสร้างประสิทธิภาพ หรือ ต่อยอดผลลัพธ์เดิมที่มีอยู่อย่างไร นั้น ย่อมก่อให้เกิด การสร้างงานใหม่ บนโยบายใหม่ของรัฐบาลใหม่ ทำให้ตั้งกลับมาตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่ และถ้านโยบายที่จัดทำขึ้นไม่มีกระบวนการสร้าง “จิตวิญญาณประชาชาติ” ให้เกิดขึ้นให้เป็นวัฒนธรรมร่วมกันของคนในสังคม นั่นแสดงถึงความล้มเหลวของการจัดทำนโยบาย

ประเด็นที่สี่ ต้องทำให้เกิดระบบการจัดการรูปแบบใหม่ เน้นการลงทุนน้อย ได้ผลลัพธ์มาก โดยอาศัยการร่วมทุนทางสังคม การจัดการความรู้ และการขยายผลตัวอย่างความสำเร็จที่มีอยู่ ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า ในการทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน เรามีหลายภาคส่วน และ มีตัวอย่างความสำเร็จในการทำงานมากมาย โดยหลักคือ เน้นกระบวนการขยายผลตัวอย่างความสำเร็จ การสร้างเครือข่ายคนทำงาน เครือข่ายเด็ก เยาวชน เครือข่ายพี่เลี้ยงคนทำงาน โดยการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปถึง การต่อยอดในการทำงานโดยใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว และที่สำคัญ เราต้องทำให้ชุมชนตระหนักและอยากเข้ามามีบทบาทในการร่วมทุนทางสังคมมากขึ้น

ประเด็นที่ ๕ ยุทธศาสตร์ในการทำงาน ต้องมีองค์ประกอบ ๕ ส่วน (๑) ต้องสร้าง “จิตวิญญาณประชาชาติ” ด้วยเหตุผลนิยมผ่านสื่อสารสาธารณะ ในผลลัพธ์ของเด็กที่ควรจะเป็นเพื่อสร้างความตระหนักร่วมของคนในสังคม และใช้สื่อสาธารณะเป็นช่องทางการสื่อสารผลงาน ผลลัพธ์ ตัวอย่างของการทำงาน (๒) ต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการภายใต้แนวคิด “การร่วมทุนทางสังคม” เพื่อให้ชุมชนเข้าเป็นหุ้นส่วนหลักในการทำงาน (๓) ต้องมีการ “ต่อยอด ขยายผล” ตัวอย่างความสำเร็จในการทำงานจากเครือข่ายต่างๆ ทั้ง การต่อยอดในทางสังคม ทางเศรษฐกิจ (๔) ต้องสั่งสม สังเคราะห์ และ “การจัดการความรู้” ระหว่างคนทำงานอย่างต่อเนื่อง  และ (๕) ต้องปฏิรูป กฎหมาย หรือนโยบายที่ “เน้นการสนับสนุนการพัฒนา” และ เป็นนโยบายที่มาจากตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงาน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน

ความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการหาเสียง แต่นโยบายหาเสียงได้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคการเมืองมีความจริงใจและสนใจในการทำงานด้านการพัฒนาเด็กมากน้อยแค่ไหน คิดมากเพียงใด สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้สำหรับพรรคการเมืองก็คือ นโยบายเป็นเรื่องเป้าหมาย แต่ต้องคิดให้มาก และ ทำให้จริง

หมายเลขบันทึก: 447694เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท