วัดวรเชษฐ์ วัดที่บรรจุอัฐิพระนเรศวร


วัดวรเชษฐ์สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระนเรศวร

ประวัติและความสำคัญ

              พระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเชษฐาของพระองค์โดยกล่าวชื่อวัดไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “วัดวรเชษฐ์” บ้าง “วัดวรเชษฐาราม” บ้าง แต่มีวัดร้างในเขตพระนครศรีอยุธยาที่เรียกชื่อทำนองเดียวกันจำนวน ๒ แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในกำแพงเมืองซึ่งในแผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ.๒๔๖๙ ระบุชื่อว่า “วัดวรเชษฐาราม” ยังเป็นชื่อเรียกในปัจจุบัน แห่งที่สองตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทิศตะวันตกซึ่งในแผนที่พระนครศรีอยุธยาของ ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา พ.ศ. ๒๕๑๐ ระบุชื่อว่า “วัดประเชด” แต่หลักฐานในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า กองทัพของพม่าทัพหนึ่งที่ยกเข้ามา ล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ตั้งอยู่ที่ “วัดวรเชษฐ์”

             วัดที่ตั้งอยู่ในเมือง และใช้คำว่า “วัดวรเชษฐ์” เมื่อกล่าวถึงวัดที่ตั้งอยู่นอกเมืองพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวเนื้อวามตรงกันเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถทรงราชาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘1 “ทรงสร้างวัดวรเชษฐารามวิหารอันรจนา พระพุทธปฏิมามหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สำเร็จกุฎีสถานปราการสมด้วยอรัญวาสี แล้วก็สร้างพระไตรปิฏกธรรมจบบริบูรณ์ทั้งพระบาลีและอรรถกถาฎีกาคันถีวิวรณ์ทั้งปวงจึงแต่งหอพระสัทธรรมเสร็จก็นิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีผู้ทรงศีลาธิคุณอันวิเศษมาอยู่ครองพระวรเชษฐารามนั้นแล้ว ก็แต่งขุนหมื่นข้าหลวงไว้สำหรับอารามนั้น แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์ไว้ให้แต่งจตุปัจจัยไทยทานถวายแก่พระสงฆ์เป็นนิจกาล แล้วให้แต่งฉทานศาลา แล้วประสาทพระราชทรัพย์ ให้แต่งโภชนาหารจังหันถวายแก่ภิกษุสงฆ์เป็นนิตยภัตรมิได้ขาด”2 การก่อสร้างตามนัยแห่งพงศาวดารดังกล่าวมาเป็นการก่อสร้างก่อนที่จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ส่วนคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถได้ครองราชสมบัติแล้ว จึงให้ทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระเชษฐาธิราชแล้วทรงสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลถวายพระเชษฐาธิราชวัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า วัดวรเชษฐ์ 3 และคำให้การขุนหลวงหาวัดให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไปว่าสมเด็จพระเอกาทศรถ สร้างวัดไว้ที่ถวายพระเพลิงพระนเรศวรแล้วจึงสมมุตินามเรียกว่า วัดสบสวรรค์ พระองค์จึงสร้างวัดไว้ที่สวนฉลองพระองค์พระเชษฐา

             วัดหนึ่ง จึงสมมุตินามเรียกว่า วัดวรเชษฐาราม แต่วัดสบสวรรค์นั้นเป็นที่เชื่อกันในหมู่นักวิชาการแล้วว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสมเด็จพระสุริโยทัย ส่วนตำแหน่งที่ตั้งยังคงมีข้อโต้แย้งกันอยู่บ้าง ในชั้นนี้  จึงน่าจะสรุปได้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างวัดเพื่อถวายพระราชกุศลและเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเชษฐาของพระองค์ วัดดังกล่าวเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี จึงมีประเด็นในวงวิชาการว่าวัดใดควรจะเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งมีสาระสำคัญควรยกขึ้นมาพิจารณาดังนี้

         ๑. พระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงนิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสี มาครองวัดดังนั้นวัดนี้จึงเป็นวัดอรัญวาสีหลักฐานเกี่ยวกับการแบ่งวัดพระสงฆ์ในพุทธศาสนาออกเป็น ๒ ฝ่าย ตามวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญวาสีมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย การแบ่งดังกล่าวปรากฏต่อมาในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามลำดับ พระสงฆ์แต่ละฝ่ายมีพระสังฆราชเป็นประมุขปกครองของตนเอง พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีมักอาศัยอยู่ในเขตชุมชนใฝ่ใจศึกษาพระปริยัติธรรม คือ มีความมุ่งหมายที่จะรักษาพระสูตร พระธรรม พระวินัย หรือ พระไตรปิฎกไว้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและมีหน้าที่สั่งสอนศีลธรรมและพระศาสนาต่อชุมชนด้วย ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีมักอยู่อาศัยในเขตป่าเขาห่างจากชุมชน เป็นภิกษุที่มุ่งศึกษาทางปฏิบัติเรียกว่า วิปัสสนาธุระในสมัยสุโขทัยที่ตั้งของวัดฝ่ายอรัญวาสีมักจะอยู่นอกเมืองไปทางด้านทิศตะวันออก เช่น เขตอรัญญิกของเมืองสุโขทัย และเมืองกำแพงเพชร เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ยึดถือปฏิบัติในระยะเวลานั้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวดูเหมือนว่าไม่เป็นข้อบังคับในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเรื่องลำดับตำแหน่งยศของพระสงฆ์อยุธยา กล่าวถึงพระผู้ครองวัดอรัญวาสีหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนภายในกำแพงเมือง ได้แก่ พระธรรมโคดมวัดธรรมิกราช พระธรรมเจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์ พระโพธิวงศ์วัดสวนหลวงค้างคาว พระธรรมสารเถรวัดปราสาทพระญานสมโพธิวัดป่าตอง พระอริยวงศ์มุนีวัดวรเชษฐาราม พระนิกรมวัดธงไชย (วัดวังไชย) และพระญาณรังษีวัดสาทติชน5 ดังนั้น วัดและพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีในสมัยอยุธยาอยู่อาศัยในวัดทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองและนอกเมืองดังนั้นทั้งวัดวรเชษฐาราม และวัดวรเชษฐ์ จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถเป็นวัดรัญวาสีได้ทั้ง ๒แห่ง

๒. วัดซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างขึ้นนั้นน่าจะเป็นการสร้างวัดใหม่ไม่ใช่การปฎิสังขรณ์วัดเก่า เพื่อให้สมพระเกียรติพระเชษฐาที่พระองค์ให้ความเคารพ รักใคร่ และมีความผูกพันกันมาตั้งแต่เยาว์วัย หากพิจารณาสถาปัตยกรรมที่สร้างเป็นประธานของวัดวรเชษฐ์ ทั้ง ๒ แห่ง มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน

...อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า “วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ” จะเป็นวัดป่าแก้วในสมัยอยุธยาจริงหรือไม่ หรือจะเป็นสถานที่อันสูงค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ในการปลงพระบรมศพและเก็บพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือเปล่า แต่เรื่องเศร้าที่เกิดขึ้น คือ วัดแห่งนี้ถูกทอดทิ้งโดยมิได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจเหลียวแล ปล่อยให้วัดโบราณที่มีหมู่เจดีย์และเต็มไปด้วยซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ วิหารที่มีเสมาโบราณที่ควรได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ยืนร้างเหงาเปล่าดาย และจะค่อยๆ ตายไปจากความทรงจำและความสนใจของคนไทย ทั้งที่ประกาศของกรมศิลปากรที่จารึกไว้ในป้ายเหล็กหน้าหมู่เจดีย์ภายในวัดวรเชษฐ์ ก็เขียนเองเป็นนัยว่า “ประวัติศาสตร์และการบันทึกสถานที่ที่แน่นอนที่เป็นที่ปลงพระบรมศพและเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิยังคงคลุมเครือ และไม่สามารถระบุชัดได้ว่าเป็นที่ใดกันแน่” 

            เราก็ยังมีวัดอีกวัดหนึ่งใน..อยุธยาซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้วัดอื่น และควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นสมบัติของคนไทย และยังเป็นวัด ทุกสิ่งทุกย่างต้องเก็บเป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่าจริงแล้วเราอนุรักษ์หรือไม่แมความจริงใจขนาดไหน.......

                                                          อดิเรก เสมามอญ.....

 

คำสำคัญ (Tags): #วัดวรเชษฐ์
หมายเลขบันทึก: 447033เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2011 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นครูอยุธยามาหลายปีแต่มีความรู้เรื่องวัดในอยุธยาน้อยมาก ขอบคุณที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท