พระพุทธศาสนากับการเมืองและสันติภาพ (1)


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา การศึกษาขั้นพื้นฐาน สัมมนาพระพุทธศาสนา ม. 5

        มนุษย์ไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง จำเป็นต้องรวมกันอยู่เป็นสังคม เป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นจำเป็นต้องจัดระบบในการอยู่ร่วมกัน โดยจะต้องมีฝ่ายปกครอง
และอยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งไม่ว่าการปกครองจะเป็นลักษณะใดก็ตามถือว่าเป็น
“การเมือง” การเมืองจึงเป็นเรื่องของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองจะผูกมัดสมาชิกทั้งหมดในสังคม


หลักการปกครองของพระพุทธศาสนา
มีประเด็นสำคัญที่น่าศึกษาและควรนำมาประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ
พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นมาในช่วงที่มนุษย์ถูกกดขี่อิสรภาพ มีการถือชั้นวรรณะ
เป็นการจำกัดสิทธิ และหน้าที่ของมนุษย์ ยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง
ไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนชั้นของอินเดียในสมัยนั้น
ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติอริยกะ ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแต่เพียงเผ่าเดียว จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้อุบัติขึ้นในโลก ทรงปฏิเสธการถือชั้นวรรณะทั้ง 4 คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ด้วยการยึดถือหลัก “อาวุโส” เป็นประการสำคัญ (ประสิทธิ์ จันรัตนา, 2539 : 3)

ประเด็นที่ยกมาจะเห็นได้ว่า
การเมืองและสันติภาพเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทรงต่อสู้กับแนวทางการปกครองที่ถือชั้นวรรณะ การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มาสู่ความเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตพระพุทธศาสนาจึงมีแนวทางและหลักการที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายที่สงบสุขมีสันติอย่างแท้จริง โดยให้ฝ่ายปกครองและสมาชิกของสังคมนั้น ๆ หรือประเทศชาตินั้น ๆ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่จะช่วยพยุงความอยู่รอดปลอดภัยให้เกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันดับแรก จะเป็นสภาพเอื้อให้สมาชิกทุกคนในประเทศนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีจิตใจมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วย

           การเมืองในโลกเป็นเรื่องของการแบ่งสรรผลประโยชน์และอำนาจ จึงจำเป็นต้องสะสมผู้คน พวกพ้อง เงินทอง ข้าวของ แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
เพราะหากตกลงกันด้วยดีไม่ได้ ก็ต้องข่มขู่ด้วยวิธีการที่รุนแรงไปตามลำดับ
จนกระทั่งการสู้รบขนาดเล็กไปจนถึงสงครามขนาดใหญ่ลามไปทั่วโลก
          การเมืองทางโลกจึงเป็นการแสดงพลังอำนาจทุกๆ วิถีทางเพื่อจะได้เหนือคู่ต่อสู้อันจะทำให้สามารถแย่งชิงผลประโยชน์ในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่นเพราะหตุแห่งการมีกำลังอำนาจมากกว่าคนอื่น

พระพุทธศาสนากลับมีแนวคิดตรงข้ามกับการแสวงหาอำนาจที่มากกว่าผู้อื่น แต่มุ่งเน้นในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังท่านองค์ดาไล ลามะ ผู้นำพุทธศาสนาของทิเบต ได้กล่าวว่า

มวลมนุษยชาติที่ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ย่อมถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน คือครอบครัวโลกมนุษย์ และเช่นเดียวกับสมาชิกทั้งหลายของครอบครัวทั่วไปครอบครัวหนึ่ง เราจึงมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน พร้อมกับความแตกต่างทางด้านบุคลิกภาพนั้น เราจึงมีความแตกต่างกันทางด้านสติปัญญา ความสนใจ และวัฒนธรรมประเพณีตามมา แต่ถึงเราจะมีความแตกต่างกันอย่างไร เราก็ยังเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ กล่าวคือ เราต้องการความสุขและเกลียดความทุกข์ความเจ็บปวด และที่สำคัญคือเราต่างมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์เท่ากัน

วัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนาก็เพื่อรับใช้และเอื้อประโยชน์แก่มนุษยชาติ ตามทัศนะของชาวพุทธ การพยายามทำให้คนอื่นกลับใจหันมานับถือศาสนาพุทธไม่ใช่เป็นภารกิจอันสำคัญอะไร และไม่สามารถเทียบเท่าได้กับการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ พระพุทธองค์ทรงอุทิศพระองค์เป็นแบบอย่างให้พุทธศาสนิกชนได้เห็นถึงความเป็นผู้มีความพอพระทัย และความอดทน ในการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชาวโลกอย่างเสียสละ พระพุทธองค์ให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ ถ้าเรามีความสามารถช่วยเหลือได้ แต่ถ้าไม่สามารถช่วยได้ เราก็อย่าเบียดเบียนเขา

หัวใจของพระพุทธศาสนาคือสันติภาพภายในตัวของมนุษย์ ถ้าเรามีสันติหรือความสงบในหัวใจ เราก็สามารถต่อสู้กับปัญหาภายนอกได้
ด้วยความสุขุมรอบคอบและด้วยปัญญา เราจะเป็นคนที่ยิ้มสู้ปัญหา พระพุทธศาสนาสอนให้เรารักกัน มีความเมตตากรุณาต่อกัน มีความอดทน ไม่เบียดเบียนกัน และคำสอนที่สำคัญที่ทำให้เรามีสันติภาพภายในหคือหลักของอิทัปปจยตาที่สอนว่า “สรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง” จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแต่การจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้นสมาชิกของสังคมจะต้องร่วมกันให้เกิดการปกครองที่ดี ดังคำกล่าวของพระธรรมปิฏกที่ว่า สมาชิกของรัฐผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมประชาธิปไตย พึงรู้หลักปฏิบัติดังนี้

ก. รู้หลักอธิปไตย คือ รู้หลักความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า อธิปไตย 3 ประการ ดังนี้

1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของตนเป็นใหญ่ ฝ่ายที่เป็นกุศลในด้านนี้คือ การเว้นจากการทำความชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพตนเอง

2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวดลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทา สรรเสริญ เป็นต้น ฝ่ายที่เป็นกุศลได้แก่ เว้นจากการทำชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพเสียงของชนหมู่มาก

3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำด้วยการคำนึงถึงสิ่งที่ได้ศึกษา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การรู้จักพิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามกำลังสติปัญญา และมุ่งคิดพิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงาม ตามหลักโดยทั่วไปได้แก่ การรู้จักเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา และข้อบังคับทางสังคมหรือองค์กรนั้น ๆ ดังนั้นหากเราต้องการถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ จะต้องยึดหลักของธรรมาธิปไตย โดยมิได้ถือตนหรือถือโลกเป็นใหญ่

ข. มีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว ที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 (condition of welfare)

อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียว
สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมือง ดังนี้คือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน
หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

3. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

5. ไม่ข่มเหงสตรี เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ
ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลยพิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก
 

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 446941เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2011 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท