วิจัยการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตอาสาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


การจัดกิจกรรม พัฒนาจิตอาสา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อเรื่องงานวิจัย : การจัดกิจกรรมพัฒนาจิตอาสาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2552

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย :  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

 บทคัดย่อ

                  การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแผนการจัดการเรียนรู้พัฒนาจิตอาสาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้พัฒนาจิตอาสาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 1 (ปวส.1) สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการประมงเบื้องต้น ภาคเรียนที่  1 ปีการศึกษา  2552 จำนวน  18 คน    ใช้ระยะเวลาการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล 18  สัปดาห์   

                 การรวบรวมข้อมูลใช้วิธีเชิงประสมระหว่างเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือคือ แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อพัฒนาจิตอาสาจำนวน 18 แผน  แบบสังเกตพฤติกรรม   แบบบันทึกความดีบนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง  โครงการพัฒนาตนเอง   โครงการจิตอาสาพัฒนาสังคม แบบวัดลักษณะจิตอาสา มี 3  ด้านคือ  การช่วยเหลือผู้อื่น  การเสียสละเพื่อสังคมและการมุ่งมั่นพัฒนา  สำหรับแบบวัดการใช้ชีวิตแบบพอเพียง มี 5 ด้านคือ  การวางแผน    ความรับผิดชอบ  สังคม   จิตใจและคุณธรรม   การวิเคราะห์ข้อมูล  ใช้สถิติพื้นฐานได้แก่  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่า Paired Sample  test  รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสังเกตพฤติกรรม   การบอกเล่าบันทึกความดี  การสนทนากลุ่มจากการสรุปบทเรียน  โครงการพัฒนาตนเองและโครงการจิตอาสาพัฒนาสังคม

               ผลการวิจัยพบว่า  หลังร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาลักษณะจิตอาสาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์การพัฒนาลักษณะจิตอาสาและการใช้ชีวิตแบบพอเพียง   อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05  ดังนี้

              หลังร่วมกิจกรรมนักศึกษามีลักษณะการใช้ชีวิตแบบพอเพียงสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรมโดยมีค่าเฉลี่ยที่ 4.29 ประกอบด้วย ด้านการวางแผน (4.21) ด้านจิตใจ (4.24) ด้านความรับผิดชอบ (4.47)  ด้านสังคม (4.21)  และด้านคุณธรรม (4.33) 

              สำหรับลักษณะจิตอาสา พบว่า  มีระดับค่าเฉลี่ยรวมทั้ง  3  ด้านสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรมโดยมีค่าเฉลี่ยที่ 4.30  ประกอบด้วย  การช่วยเหลือผู้อื่น (4.32) การมุ่งมั่นพัฒนา (4.30) และการเสียสละเพื่อสังคม (4.29)

              นักศึกษาแสดงความกระตือรือร้นต่อกิจกรรมการเรียนรู้  มีการซักถาม อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการณ์ชีวิต  ความคิดความเชื่อของคนในสังคมผ่านกรณีศึกษาที่กำหนดทั้งในลักษณะของบทความและวีดีทัศน์   เกิดการสร้างมุมมองและวิธีคิดต่อความดี  ความสุข และการทำบุญที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม มีการทบทวนการปฏิบัติตนในแต่ละวัน โดยการจัดทำบันทึกและบอกเล่าการปฏิบัติความดีบนวิถีความพอเพียง  ซึ่งกระตุ้นให้นักศึกษามุ่งมั่นพัฒนาตนเอง เกิดความคิดวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างการดำรงอยู่ของตนเอง  ครอบครัว และเพื่อนมนุษย์ในสังคม จึงเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ต่อตนเอง  ผู้อื่นและสังคม เกิดความเข้าใจ  เห็นใจผู้อื่นพร้อมจะเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมมากขึ้น  และมีมุมมองเชิงสร้างสรรค์ต่อการร่วมพัฒนาแก้ไขปัญหาสังคม

             ดังปรากฏจากโครงการสร้างสรรค์จิตอาสาเพื่อสังคม ที่มีการดำเนินกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัย  ได้แก่  กิจกรรม วัน  Big  Cleaning  day เพื่อพัฒนาวิทยาลัยในกิจกรรม  5  ส กิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมโดยการร่วมทำความสะอาดแหล่งน้ำชุมชนท้องฝาย    การร่วมกลุ่มจัดกิจกรรมระดมทรัพยากรเพื่อบริจาคเสื้อผ้า เครื่องกันหนาวแก่ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล การรวมกลุ่มกับนักเรียนโรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคมทำกิจกรรมอาสาพัฒนาสังคมโดยการจัดทำฝายแม้ว กิจกรรมพี่ช่วยน้องร่วมสร้างความพอเพียง ณ โรงเรียนเทศบาล 1 ทุ่งฟ้าบด  อ.สันป่าตอง และการจัดกิจกรรมวันเด็ก  ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆเหล่านี้  นักศึกษาเป็นผู้ร่วมออกแบบวางแผน ดำเนินกิจกรรมและระดมทรัพยากรเพื่อการดำเนินงาน  จนสามารถทำกิจกรรมได้สำเร็จและขยายเครือข่ายสมาชิกจิตอาสา

            อนึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังแสดงความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาลักษณะจิตอาสาและการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทั้ง  15  กิจกรรม  จึงสรุปได้ว่าการใช้แผนการเรียนรู้แบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำให้นักศึกษาเกิดจิตพอเพียงหรือการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งแสดงออกทั้งการคิด การพูด การกระทำ ที่วัดประเมินจาก  การวางแผน  จิตใจ  ความรับผิดชอบ  สังคมและคุณธรรม  และมีผลสัมพันธ์ต่อการพัฒนาลักษณะจิตอาสา ที่วัดประเมินจากการช่วยเหลือผู้อื่น  การเสียสละเพื่อสังคมและการมุ่งมั่นพัฒนา  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 446446เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท